backup og meta

ผอม เสี่ยงเบาหวาน ได้อย่างไร และควรดูแลตัวเองอย่างไร

ผอม เสี่ยงเบาหวาน ได้อย่างไร และควรดูแลตัวเองอย่างไร

ผอม เสี่ยงเบาหวาน ได้อย่างไร อาจเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย เนื่องจากน้ำหนักตัวที่ลดลงอาจทำให้ร่างกายขาดพลังงาน ขาดน้ำ อ่อนเพลีย รวมถึงอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น พันธุกรรม การรับประทานอาหาร พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ก็อาจเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อาจทำให้คนผอมเสี่ยงเป็นเบาหวานได้ ดังนั้น การดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานได้

[embed-health-tool-bmi]

น้ำหนักเท่าไหร่ที่หมายถึงคนผอม

การคำนวณหาค่าเฉลี่ยในเรื่องของน้ำหนักที่ถูกต้องควรจะเป็นไปตามหลักการคำนวณหาค่าดัชนีมวลกายหรือ BMI โดยใช้น้ำหนักและส่วนสูงในการคำนวณเพื่อหาค่าดัชนีมวลกาย ตามสูตรดังนี้

  • BMI = น้ำหนัก (กิโลกรัม) หารด้วย ส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง

เช่น น้ำหนัก 56 กิโลกรัม ส่วนสูง 175 เซนติเมตร แปลงหน่วยเป็นเมตรจะได้ 1.75 เมตร และจะได้สูตรออกมาดังนี้ 56 ÷ (1.75 x 1.75) = 18.30 ค่า BMI จึงเท่ากับ 18.30 

ผลของค่า BMI 

  • ค่า BMI 18.5 หรือน้อยกว่า  แปลว่า น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
  • ค่า BMI 18.5 – 24.9           แปลว่า น้ำหนักตามเกณฑ์
  • ค่า BMI 25 – 29.9              แปลว่า น้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์
  • ค่า BMI 30 หรือมากกว่า     แปลว่า น้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์ในระยะ 2

คน ผอม เสี่ยงเบาหวาน เกิดจากอะไรได้บ้าง

ปัจจัยที่ทำให้คนผอมเสี่ยงเบาหวาน อาจมีดังนี้

พันธุกรรม

หากสมาชิกในครอบครัวอย่างเคยเป็นโรคเบาหวาน ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานได้เช่นกัน เพราะโรคเบาหวานอาจสามารถส่งต่อผ่านยีนหรือพันธุกรรมได้

คอเลสเตอรอลสูง

การรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงเป็นประจำ เช่น หอย ชีส ของทอด ของมัน ของหวาน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานได้

สูบบุหรี่

การสูบบุหรี่อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น นอกจากนี้ สารในบุหรี่อย่างนิโคตินยังมีฤทธิ์ขัดขวางการทำงานของอินซูลินในร่างกายด้วย

การคลอดลูกที่มีขนาดตัวใหญ่

สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ หากลูกมีขนาดตัวที่ใหญ่ หนักตั้งแต่ 4.08 กิโลกรัมขึ้นไป หลังจากคลอดแล้วอาจมีโอกาสที่จะมีภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งเกิดจากการที่ระดับน้ำตาลในเลือดมีปริมาณสูงขึ้นมากผิดปกติในช่วงระหว่างตั้งครรภ์ เป็นผลให้ทารกที่คลอดออกมามีน้ำหนักตัวมากและทารกมีขนาดตัวใหญ่ ทารกที่คลอดออกมามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนและเสี่ยงเบาหวาน

รับประทานอาหารรสจัด

การรับประทานอาหารรสจัด ไม่ว่าจะเป็นหวานจัด หรือเค็มจัด ก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงโรคเบาหวานทั้งสิ้น โดยเฉพาะหากมีการสะสมของคาร์โบไฮเดรต แป้ง และน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินไป ก็จะส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้เช่นกัน

ความเครียด

ความเครียดนั้นไม่ได้ส่งผลเพียงโรคซึมเศร้า หรือความวิตกกังวลเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลต่อการเกิดโรคเบาหวานได้ด้วย เนื่องจากร่างกายจะมีการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมาในขณะที่เครียด จากนั้น ร่างกายจะปล่อยพลังงานออกมาในรูปแบบของน้ำตาล ทำให้ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น

ไม่ออกกำลังกาย

การไม่ออกกำลังกาย อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ รวมไปถึงโรคเบาหวาน การออกกำลังกายนั้นช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรง ช่วยในการเผาผลาญ จึงสามารถที่จะเผาผลาญน้ำตาลในร่างกายออกไปได้ ดังนั้น หากออกกำลังกายอย่างพอเหมาะอยู่เสมอ ก็จะเป็นการลดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน

วิธีดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงเบาหวาน

สำหรับวิธีการดูแลตัวเองเพื่อสดความเสี่ยงเบาหวาน อาจทำได้ดังนี้

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดถูกเผาผลาญออกไป และช่วยให้ระดับน้ำตาลในร่างกายนั้นคงที่ แต่ควรระวังไม่ให้มีการหักโหมออกกำลังกายที่มากเกินไป เพราะแทนที่จะลดความเสี่ยง กลับจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงแทน เพราะร่างกายมีการหลั่งสารอะดรีนาลีนมากเกินไป และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น

  • เลิกสูบบุหรี่

จากที่กล่าวไปว่าการสูบบุหรี่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงของโรคเบาหวาน ดังนั้น ควรเลิกสูบบุหรี่ โดยอาจเริ่มจากค่อย ๆ ลดการสูบบุหรี่ลงทีละน้อยจนกระทั่งไม่สูบเลย เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ที่มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

การใส่ใจเกี่ยวกับการรับประทานอาหารให้มากขึ้น เช่น รับประทานอาหารให้หลากหลาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่รับประทานอาหารรสจัดเกินไป (เช่น หวานจัด เค็มจัด มันจัด) รวมถึงระวังในเรื่องของอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานได้

  • ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ

การไปตรวจสุขภาพนอกจากจะทำให้ทราบถึงความเสี่ยงแล้ว ก็ยังช่วยให้สามารถหาทางรับมือและแนวทางการรักษาได้อย่างทันท่วงที ดังนั้น จึงควรไปตรวจสุขภาพและตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ

  • ดูแลร่างกายและจิตใจให้แจ่มใสอยู่เสมอ

เนื่องจากความเครียดอาจทำให้เกิดโรคเบาหวานได้ ดังนั้น จึงควรหมั่นดูแลสุขภาพจิตอยู่เสมอ ควรพักและหาเวลาผ่อนคลายสมองจากความเมื่อยล้าบ้าง เพื่อให้ร่างกายและจิตใจเกิดความสมดุล และเป็นการลดความเครียดลงด้วย

ข้อสำคัญ


แม้ว่าจะผอม แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าจะไม่เป็นโรคเบาหวาน เพราะเบาหวานขึ้นอยู่กับปัจจัยทางพันธุกรรมและพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนั้น ไม่ว่าจะมีน้ำหนักตัวเท่าใด แต่การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย เพื่อสุขภาพของตนเอง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Diabetes can strike—hard—even when weight is normal. https://www.health.harvard.edu/blog/diabetes-can-strike-hard-even-when-weight-is-normal-201208085121. Accessed on November 1, 2019

Weight Loss and Body Mass Index (BMI). https://www.webmd.com/men/weight-loss-bmi. Accessed on November 1, 2019

Abbasi A, et al. (2016). Body-mass index and incidence of type 1 and type 2 diabetes in children and young adults in the UK: an observational cohort study. DOI: doi.org/10.1016/S0140-6736(16)32252-8. Accessed on November 1, 2019

Basu S, et al. (2013). The relationship of sugar to population-level diabetes prevalence: An econometric analysis of repeated cross-sectional data. DOI: 10.1371/journal.pone.0057873. Accessed on November 1, 2019

Biswas A, et al. (2015). Sedentary time and its association with risk for disease incidence, mortality, and hospitalization in adults: A systematic review and meta-analysis. DOI: 10.7326/M14-1651. Accessed on November 1, 2019

Bramante CT, et al. (2017). Treatment of obesity in patients with diabetes. DOI: doi.org/10.2337/ds17-0030. Accessed on November 1, 2019

Carter P, et al. (2010). Fruit and vegetable intake and incidence of type 2 diabetes mellitus: Systematic review and meta-analysis. ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2924474/. Accessed on November 1, 2019

เวอร์ชันปัจจุบัน

18/12/2022

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ควรกินและควรหลีกเลี่ยงประเภทใดบ้าง

เครื่องคำนวณหาค่าดัชนีมวลกาย (BMI)


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 18/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา