ผู้ป่วยเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงสะสมเป็นระยะเวลานาน อาจต้องเผชิญกับปัญหาอย่าง อาการปากแห้งจากเบาหวาน โดยมีสาเหตุมาจากการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่ไม่ดี ส่งผลให้ต่อมน้ำลายไม่สามารถผลิตน้ำลายออกมาได้เพียงพอในช่องปาก ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีอาการเจ็บปาก ริมฝีปากแตกแห้ง มีปัญหากลิ่นปาก ติดเชื้อ รวมถึงปัญหาในการเคี้ยวและการกลืนอาหาร
[embed-health-tool-bmi]
อาการปากแห้งจากเบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการปากแห้ง อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยและพบได้บ่อย ดังต่อไปนี้
- เจ็บปาก
- เหงือกอักเสบ
- มีปัญหาเกี่ยวกับการเคี้ยวอาหารและการกลืนอาหาร
- ลิ้นหยาบและแห้ง
- รู้สึกเหนียวและแห้งในปาก
- ริมฝีปากแตก หรือมีรอยแผลที่มุมปาก
นอกจากนี้อาการปากแห้งอาจทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีอาการคอแห้ง เจ็บคอ เสียงแหบ ร่วมด้วย
สาเหตุของ อาการปากแห้งจากเบาหวาน
ภาวะปากแห้ง เป็นอาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ส่งผลให้ของระดับน้ำตาลกลูโคสในน้ำลายสูงขึ้น ทำให้น้ำลายมีลักษณะเหนียว ต่อมน้ำลายจึงไม่สามารถผลิตน้ำลายออกมาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับปากได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีอาการปากแห้ง คือ การสูบบุหรี่ ภาวะขาดน้ำ ผลข้างเคียงจากการใช้ยา
วิธีรักษาอาการปากแห้ง
โดยส่วนใหญ่ คุณหมอจะแนะนำผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการปากแห้ง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดและเค็ม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการปากแห้ง
ในกรณีที่ผู้ป่วยเบาหวานมีอาการปากแห้งจากการใช้ยา คุณหมออาจใช้วิธีการรักษาทางการแพทย์โดยการใช้ยาพิโลคาร์พีน (Pilocarpine) ร่วมด้วย เพื่อเพิ่มการหลั่งน้ำลายในปาก
วิธีดูแลตนเองเบื้องต้น เพื่อบรรเทาอาการปากแห้ง
- ควรแปรงฟันหลังอาหารทุกครั้ง และตามด้วยการใช้น้ำยาบ้วนปากที่ไม่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์
- แนะนำให้ใช้ลิปบาล์มเพิ่มความชุ่มชื้นในปาก
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งระดับน้ำตาลในเลือดต้องไม่เกิน 180-200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- ดื่มน้ำเปล่าบ่อย ๆ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในปาก
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูงหรือมีสารคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำผลไม้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดและเค็ม เพราะอาจทำให้ปากแห้งได้
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่