backup og meta

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือ DM type 2 คือ อะไร

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือ DM type 2 คือ อะไร

DM type 2 คือ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นโรคเบาหวานชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากเซลล์ในร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือเรียกว่าภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin resistance) ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ การมีไขมันสะสมในร่างกายมากเกินไป เมื่ออินซูลินไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น กระหายน้ำมาก ปัสสาวะบ่อย เหนื่อยง่าย หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษา หรือควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง เช่น ภาวะเบาหวานขึ้นตา โรคหัวใจ โรคไต ภาวะเส้นประสาทเสื่อม จึงควรหมั่นสังเกตอาการและดูแลสุขภาพของตัวเองด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน

DM type 2 คือ อะไร

DM type 2 หรือ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นโรคเบาหวานชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด มีสาเหตุหลักมาจากภาวะดื้ออินซูลิน โดยปกติแล้ว ตับอ่อนจะผลิตอินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนหลักที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ออกฤทธิ์กระตุ้นให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายนำน้ำตาลไปเผาผลาญเป็นพลังงาน แต่หากร่างกายมีภาวะดื้ออินซูลิน จะทำให้การตอบสนองต่ออินซูลินของเซลล์ผิดปกติ จึงไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานได้ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ตับอ่อนจึงต้องพยายามสร้างอินซูลินเพิ่มมากขึ้นเพื่อมาชดเชย เมื่อเวลาผ่านไป ตับอ่อนจึงล้าและอ่อนแอลง ส่งผลให้ผลิตอินซูลินได้น้อยลง ระดับน้ำตาลในเลือดจึงยิ่งสูงขึ้น จนนำไปสู่โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในที่สุด ซึ่งหากปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานอาจทำให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายเสียหาย และเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง ภาวะเบาหวานขึ้นตา ภาวะเท้าดำเนื่องจากขาดเลือด

ความแตกต่างของ DM type 1 และ DM type 2

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 หรือ DM type 1 นับเป็นโรคที่เกิดจากภูมิต้านตนเอง (Autoimmune disease) เนื่องจากเซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกายเข้าโจมตีเซลล์ตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลิน จึงทำให้ร่างกายมีอินซูลินลดลงจนไม่พอใช้จัดการระดับน้ำตาลในเลือด ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและนำไปสู่โรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในที่สุด และเนื่องจากผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอ ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องรักษาด้วยการฉีดอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้กลับมาอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมที่สุด

ในขณะที่โรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือ DM type 2 คือ โรคเกิดจากการตอบสนองต่ออินซูลินของเซลล์ในร่างกายบกพร่อง หรือที่เรียกว่าภาวะดื้ออินซูลิน จึงทำให้แม้จะมีฮอร์โมนอินซูลินเพียงพอ แต่ก็มีระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากไม่สามารถนำอินซูลินไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อินซูลิน สำคัญอย่างไร

อินซูลิน (Insulin) เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากตับอ่อน ทำหน้าที่หลักในการควบคุมสมดุลระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงจนเกินไป โดยการช่วยให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายนำน้ำตาลไปใช้เปลี่ยนเป็นพลังงานได้อย่างเหมาะสม หากร่างกายผลิตซูลินได้ไม่เพียงพอ หรืออินซูลินทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จึงทำให้มีน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และส่งผลให้เกิดโรคเบาหวานตามมาได้

อาการของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือ DM type 2

อาการของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อาจมีดังนี้

  • รู้สึกหิวบ่อยและกระหายน้ำมากกว่าปกติ
  • ปัสสาวะบ่อย
  • รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง
  • แผลหายช้ากว่าปกติ
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ตาพร่า มองเห็นไม่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม หากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติไม่มากนัก หรือเพิ่งเริ่มเป็นเบาหวาน ผู้ป่วยอาจจะยังไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ให้สังเกตได้ ซึ่งอาจส่งผลให้เข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาล่าช้า บางครั้งถึงแม้จะมีอาการ แต่อาการก็อาจไม่ชัดเจน และไม่เฉพาะเจาะจงกับโรค จึงอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น อายุที่มากขึ้น ดังนั้นจึงควรหมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำหรือควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี

ปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2

ผู้ที่เสี่ยงเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อาจมีดังนี้

  • มีประวัติครอบครัวหรือญาติใกล้ชิดเป็นโรคเบาหวาน
  • มีภาวะก่อนเบาหวาน (Pre-diabetes)
  • อายุ 35 ปีขึ้นไป
  • เป็นโรคร่วมอย่างโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์สูง โรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome หรือ PCOS) 
  • เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือคลอดบุตรที่มีน้ำหนักมากกว่า 4 กิโลกรัม
  • รับประทานอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล เป็นประจำ
  • มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary lifestyle) ไม่ค่อยขยับร่างกายหรือออกกำลังกายน้อย
  • มีภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน หรือภาวะอ้วนลงพุง

วิธีป้องกันโรคเบาหวาน

การป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อาจเริ่มจากการปรับพฤติกรรมสุขภาพ ดังนี้

  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้มีค่าดัชนีมวลกายที่เหมาะสม คนไทยควรมีค่าดัชนีมวลกายอยู่ระหว่าง 18.5-22.9 กิโลกรัม/ตารางเมตร
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อช่วยเพิ่มการเผาผลาญน้ำตาลและพลังงานส่วนเกิน และช่วยควบคุมน้ำหนัก อีกทั้งการออกกำลังกายเป็นประจำยังช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลินซึ่งส่งผลให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังแนะนำให้เพิ่มการขยับและเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวัน เช่น หากต้องนั่งทำงานติดต่อกันนาน ๆ ควรหมั่นขยับร่างกายบ่อย ๆ และหยุดพักเพื่อยืดเส้นยืดสายเป็นระยะ ๆ 
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูงซึ่งจะช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลและไขมัน ทั้งยังทำให้อยู่ท้อง รู้สึกอิ่มได้นานขึ้น จึงอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ เช่น มะเขือเทศ ธัญพืช แอปเปิล ผักใบ บรอกโคลี กะหล่ำดอก
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง และเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันดีเป็นองค์ประกอบ โดยไขมันดีสามารถพบได้ในอาหาร เช่น ปลาแซลมอน ปลาทู ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน น้ำมันเมล็ดดอกคำฝอย น้ำมันคาโนลา ถั่วและเมล็ดพืชอย่างอัลมอนด์ ถั่วลิสง เมล็ดฟักทอง เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวในปริมาณมาก เช่น ขนมปังขาว เส้นก๋วยเตี๋ยว พาสต้า ผลไม้กระป๋อง ขนมหวาน น้ำผลไม้ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลังรับประทาน

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Type 2 diabetes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/type-2-diabetes/symptoms-causes/syc-20351193. Accessed June 13, 2022

Types of Diabetes Mellitus. http://webmd.com/diabetes/types-of-diabetes-mellitus. Accessed June 13, 2022

Type 2 Diabetes. https://www.webmd.com/diabetes/type-2-diabetes. Accessed June 13, 2022

Diabetes prevention: 5 tips for taking control. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/type-2-diabetes/in-depth/diabetes-prevention/art-20047639. Accessed June 13, 2022

Diabetes type 2. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/diabetes-type-2. Accessed June 13, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

05/01/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

เบาหวานชนิดที่ 2 อาการ สาเหตุ และการรักษา

รับมือเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วยโภชนาการที่สมดุล


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 05/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา