backup og meta

DM คือ อะไร การรักษา และการป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

    DM คือ อะไร การรักษา และการป้องกัน

    DM หรือ โรคเบาหวาน จัดเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง ที่ร่างกายจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย หิวน้ำมาก หิวบ่อย ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลด แผลหายช้า ตาพร่ามั่ว และติดเชื้อง่ายขึ้น ซึ่งหากไม่ควบคุมให้ดี โรคเบาหวานอาจลุกลามและรุนแรงจนนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ดังนั้น การดูแลตัวเองจึงอาจเป็นวิธีช่วยป้องกันและบรรเทาอาการของโรคเบาหวานได้

    DM คืออะไร

    Diabetes Mellitus (DM) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ โรคเบาหวาน นับเป็นภาวะเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ผู้ที่เป็นจะมีระดับน้ำตาลเลือดสูงกว่าปกติหรือตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป (เมื่อตรวจขณะที่อดอาหารมาแล้ว อย่างน้อย 8 ชั่วโมง) มีสาเหตุเนื่องมาจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินออกมาเพื่อจัดการกับน้ำตาลในเลือดได้เพียงพอ ส่งผลให้น้ำตาลสะสมอยู่ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้น

    นอกจากนี้ โรคเบาหวานยังสามารถเกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นภาวะที่ตับอ่อนผลิตอินซูลินเป็นปกติ แต่เซลล์ของร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินบกพร่องไป จึงทำให้ตับอ่อนต้องทำงานหนักเพื่อผลิตอินซูลินออกมาเพิ่มมากขึ้น เพื่อยังคงให้เซลล์ยังสามารถนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานได้อย่างเพียงพอ จนสุดท้ายตับอ่อนเกิดความเสียหายและเกิดเป็นโรคเบาหวานในที่สุด

    DM มีกี่ชนิด

    โรคเบาหวานอาจแบ่งได้เป็น 3 ชนิด ดังนี้

    • โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เป็นโรคเบาหวานที่มักได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ในวัยเด็กจนถึงช่วงวัยรุ่น สาเหตุมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติไป สร้างภูมิไปทำลายเนื้อเยื่อตับของตนเอง จึงส่งผลให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย 
    • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 มักได้รับการวินิจฉัยในวัยผู้ใหญ่ โดยทั่วไปพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป โรคเบาหวานชนิดที่ 2 นี้เกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน  อีกทั้งยังเป็นโรคเบาหวานที่พบได้มากที่สุดอีกด้วย โดยมีปัจจัยมาจากการมีพฤติกรรมสุขภาพไม่ถูกต้อง เช่น ไม่ค่อยออกกำลังกาย รวมถึงการรับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลสูงบ่อย ๆ
    • ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ภาวะนี้มักเกิดขึ้นได้ในช่วงไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์เป็นต้นไป  ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากฮอร์โมนฮิวแมนพลาเซ็นตัลแลคโทเจน (Human Placental Pactogen หรือ HPL) ที่ผลิตขึ้นมาจากรกนั้นมีฤทธิ์ต้านกับฮอร์โมนอินซูลิน จึงส่งผลให้ร่างกายคุณแม่ไม่จัดการกับนำ้ตาลได้ตามปกติ ส่งผลให้มีระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มักหายได้เองหลังคลอด แต่ยังคงอาจมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ที่มีอายุเท่า ๆ กันที่คุณแม่จะมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคต

    การป้องกัน DM

    แม้ว่าโรคบาหวานชนิดที่ 1 จะไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติไป แต่โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจป้องกันได้ ดังนี้

    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเน้นรับประทานผัก ผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ธัญพืช และอาหารที่มีเส้นใยสูง รวมถึงอาหารที่มีไขมันดี หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแปรรูป และอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันและน้ำตาลสูงซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคเบาหวานและไขมันในเลือดสูงได้ 
    • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยแนะนำให้ออกกำลังกายที่ความเหนื่อยระดับปานกลางประมาณอย่างน้อย 30 นาที/วัน เป็นระยะเวลา 5 วัน/สัปดาห์ หรือตั้งเป้าหมายให้ได้อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ เช่น เต้นแอโรบิก เดินเร็ว ว่ายน้ำ วิ่งเหยาะ ๆ เพื่อช่วยเผาผลาญพลังงานส่วนเกินและลดระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมให้สุขภาพแข็งแรงมากขึ้นอีกด้วย
    • ควบคุมน้ำหนักด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยควรมีค่าดัชนีมวลกายไม่ให้เกิน 22.9 และควบคุมมิให้ไขมันหน้าท้องสะสมมากเกินไป คือ รอบเอวไม่ควรเกิน 90 เซนติเมตรในผู้ชาย และ 80 เซนติเมตรในผู้หญิง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะดื้ออินซูลินและการเกิดเบาหวานได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา