backup og meta

FBS ค่าปกติ คือเท่าไร สัมพันธ์อย่างไรกับโรคเบาหวาน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    FBS ค่าปกติ คือเท่าไร สัมพันธ์อย่างไรกับโรคเบาหวาน

    FBS ย่อมาจาก Fasting Blood Sugar หมายถึงการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารมาแล้วอย่างน้อย 8ชั่วโมง ซึ่งค่า FBS หรือระดับน้ำตาลในเลือดของคนปกติควรมีค่าไม่เกิน 99 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หากสูงกว่านั้น อาจหมายถึง มีภาวะก่อนเบาหวาน หรือกำลังเป็นโรคเบาหวานอยู่

    น้ำตาลในเลือดกับโรคเบาหวาน

    ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าคนทั่วไป เพราะตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยกว่าความต้องการของร่างกาย หรือ เซลล์ในร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินบกพร่อง ทำให้ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในสมดุลได้ตามปกติระดับน้ำตาลในเลือดจึงสูงเกินเกณฑ์และนำไปสู่โรคเบาหวานในที่สุด

    โดยอินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่กระตุ้นให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย ดึงน้ำตาลในเลือดไปเผาผลาญเป็นพลังงาน และนำน้ำตาลส่วนเกินไปสะสมไว้ที่ตับ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลไม่ให้สูงเกินไป หรือเพื่อให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

    ทั้งนี้ เมื่อบริโภคอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต อาทิเช่น ข้าว แป้งและน้ำตาล ระบบย่อยอาหารจะเปลี่ยนอาหารกลุ่มนี้เป็นน้ำตาลกลูโคส จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงควรเลือกรับประทานอาหารกลุ่มนี้ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ซึ่งจะเป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น ปลายมือเท้าชา เบาหวานขึ้นตา โรคไต 

    การตรวจ FBS คืออะไร

    การตรวจ FBS คือ การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร โดยเป็นการตรวจเลือดจากหลอดเลือดดำ ซี่งมักทำตอนเช้าหลังจากที่ผู้เข้ารับการตรวจอดอาหาร รวมทั้งเครื่องดื่มที่ให้พลังงานมาเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง

    การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแบบ FBS เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะสุขภาพต่าง ๆ เช่น

    • ตรวจคัดกรองโรคเบาหวานในผู้ที่มีสุขภาพปกติ ที่เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีทั่วไป
    • ผู้ที่อาจมีความเสี่ยงเป็นโรคโรคเบาหวาน เช่น ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน มีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน ผู้มีมีโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง 
    • ผู้ป่วยเบาหวาน หรือ ผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวาน เพื่อตรวจค่าน้ำตาลในเลือดในการติดตามผลการรักษา

    FBS ค่าปกติ คือเท่าไร

    เมื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแบบ FBS ค่าปกติ จะไม่เกิน 99 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หากมีระดับน้ำตาลสูงกว่านั้น สามารถแปลผลได้ดังนี้

    • 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ระดับน้ำตาลเกินเกณฑ์ เรียกได้ว่ากำลังมีภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) หรือมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
    • 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือสูงกว่า เข้าข่ายเกณฑ์วินิจฉัยหนึ่งของโรคเบาหวาน

    ทั้งนี้ หากตรวจพบค่าระดับน้ำตาล FBS สูงกว่าเกณฑ์ปกติ ควรเข้ารับคำเเนะนำจากคุณหมอเพื่อควบคุมให้ระดับน้ำตาลกลับมาสู่เกณฑ์ปกติ หรือ ลดลงให้ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันมิให้เกิดอภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จากโรคเบาหวาน เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต ปัญหาเส้นประสาทเสื่อม ปัญหาจอประสาทตา

    การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดที่บ้าน

    ปัจจุบัน มีเครื่องชุดตรวจเบาหวานจากการตรวจเลือดปลายนิ้ว ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาด อย่างไรก็ตาม ค่าระดับน้ำตาลปลายนี้วดังกล่าวอาจไม่แม่นยำเท่ากับการตรวจโดยการเจาะเลือดจากหลอดเลือดำเเละใช้เครื่องวิเคราะห์ตามที่ใช้ในโรงพยาบาล แต่ก็สามารถใช้เป็นเเนวทางเบื้องต้นในการตรวจ หรือ ติดตามระดับน้ำตาลของผู้ป่วยได้เองที่บ้าน

    เพื่อให้ทราบถึงระดับน้ำตาลในเลือดเป็นระยะ ๆ ซึ่งจะช่วยให้ควบคุมโรคเบาหวานได้ดีขึ้น รวมทั้งหากพบว่าค่าระดับน้ำตาลสูงหรือต่ำเกินไปจะได้รีบทำการเเก้ไขได้ทันท่วงที

    FBS ค่าปกติ สามารถดูแลตนเองอย่างไรได้บ้าง

    การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด FBS ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ คือไม่เกิน 99 มิลลิกรัม/เดซิลิตร สามารถดูเเลตนเองเบื้องต้นได้  ดังนี้

    • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เน้นเลือกอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตสูง
    • เคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ หรือออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ๆ หรือเต้นแอโรบิก เป็นเวลาประมาณ 30 นาที/วัน อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน เพื่อช่วยกระตุ้นการเผาผลาญน้ำตาลส่วนเกินของร่างกาย รวมถึงช่วยเพิ่มความแข็งแรงและเพิ่มความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อ
    • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยเเนะนำให้ดื่มน้ำเปล่า ปริมาณอย่างน้อย 8 เเก้วต่อวัน 

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา