ผู้ที่เกิดภาวะสมองขาดเลือดแล้วสามารถรอดชีวิตมาได้นั้น มักเกิดภาวะที่เรียกว่า กล้ามเนื้อหดเกร็ง (muscle spasticity) ซึ่งทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวไม่ได้ตามปกติ หรือเคลื่อนไหวไม่สะดวกเหมือนเดิม แต่อย่าเพิ่งกังวลใจไป เพราะมีวิธีการรักษาและฟื้นฟูสภาพร่างกายให้กลับมาเป็นปกติได้ ด้วยแนวทางต่างๆ ดังต่อไปนี้
แนวทางการรับมือกับอาการ กล้ามเนื้อหดเกร็ง มีอะไรบ้าง
การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายเป็นส่วนสำคัญในการรักษากล้ามเนื้อหดเกร็ง หลังจากเกิดภาวะสมองขาดเลือด แพทย์อาจจะแนะนำให้คุณเข้าพบนักกายภาพบำบัด เพื่อเริ่มการฟื้นฟูร่างกาย นักกายภาพบำบัดจะช่วยให้คุณเริ่มต้นเรียนรู้ทักษะการเคลื่อนไหวร่างกายอีกครั้ง พร้อมทั้งฟื้นฟูการทำงานของร่างกายเพื่อพัฒนาการเคลื่อนไหวและป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อหดแบบถาวร โดยคุณสามารถออกกำลังกายได้ด้วยตัวเอง ด้วยความช่วยเหลือจากนักกายภาพบำบัดหรือการใช้อุปกรณ์พิเศษ
ในบางกรณี นักกายภาพบำบัดของคุณอาจแนะนำให้ประคบเย็นหรือใช้การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อหายดียิ่งขึ้น
ใช้อุปกรณ์ช่วยต่างๆ
คณสามารถใช้อุปกรณ์เสริม เช่น เครื่องพยุงหลัง เครื่องพยุงขา ช่วยพยุงให้กล้ามเนื้ออยู่ในตำแหน่งปกติ ในขณะที่ เฝือกหล่อและเครื่องดามต่างๆ สามารถช่วยเหยียดกล้ามเนื้อและป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อหดตัวได้
ยารักษา
ยาอาจเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาภาวะกลามเนื้อหดเกร็ง โดยแพทย์อาจให้คุณใช้ยาเพื่อคลายกล้ามเนื้อประเภทต่างๆ เช่น
- Baclofen (Lioresal) จะออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง ยาประเภทนี้สามารถช่วยลดภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งและความตึง รวมทั้งบรรเทาความเจ็บปวดและเพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหว อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงของยาชนิดนี้ก็มีหลายประการ ได้แก่ การเสียความสามารถในการประสานงานของกล้ามเนื้อ การเกิดภาพหลอน กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดย Baclofen เป็นยาที่แพทย์สั่งเพื่อรักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งบ่อยที่สุด
- Tizanidine hydrochloride (Zanaflex) ออกฤทธิ์ต่อทำงานของคลื่นประสาท (nerve impulses) ยาประเภทนี้สามารถลดความหดเกร็งได้ อย่างไรก็ตาม ฤทธิ์ของ tizanidine อยู่ได้ไม่นาน และผลข้างเคียง ได้แก่ ง่วงนอน ปากแห้ง และความดันเลือดต่ำ
- ยาแดนโทรลีน โซเดียม (Dantrium) สามารถใช้ยาประเภทนี้เพื่อปิดกั้นสัญญาณประสาทที่ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว ผลข้างเคียงที่พบ ได้แก่ ความอ่อนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ซึมเศร้า และท้องร่วง
- ยาอื่นๆ ได้แก่ diazepam (Valium) หรือ clonazepam
(Klonopin)
ในหลายๆ กรณี แพทย์อาจให้คุณใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน
- การฉีดยา เพื่อบล็อกระบบประสาท อาจใช้เพื่อรักษาภาวะหดเกร็งด้วยเช่นกัน การฉีดยาถือว่ามีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากกว่าการใช้ยาแบบรับประทาน ยาฉีดสองประเภทหลักๆ ที่ใช้ในการรักษาภาวะหดเกร็ง ได้แก่ botulinum toxin (Botox) และ phenol
- โบทูลินั่ม ท็อกซิน (Botulinum toxin) หรือที่รู้จักกันดีว่า โบท็อกซ์ ทำงานด้วยการปิดกั้นสารเคมีชนิดหนึ่งที่ทำให้กล้ามเนื้อตึง โบท็อกซ์สามารถช่วยแก้ปัญหาความแข็งตึงของกล้ามเนื้อได้ แต่คุณอาจต้องฉีดมากกว่าหนึ่งเข็ม เพราะฤทธิ์ของโบท็อกไม่อยู่ถาวร ผลข้างเคียงที่พบจากการใช้โบท็อกซ์ ได้แก่ ความอ่อนล้า กลืนลำบาก และอาการปวดบริเวณที่ฉีด
- ฟีนอล อาจอยู่ได้นานกว่าโบท็อกซ์ ผลข้างเคียงที่พบบ่อยของฟีนอล ได้แก่ เจ็บ แสบ เหน็บชา และบวม
การผ่าตัด
ถ้าคุณมีภาวะหดเกร็งที่กล้ามเนื้ออย่างรุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัด ในระหว่างการผ่าตัดนั้น แพทย์อาจคลายเอ็นยึดกล้ามเนื้อไบเซ็ปส์หรือไตรเซ็ปส์ ถ้าคุณมีปัญหาที่บริเวณแขนส่วนบน และเหยียดกล้ามเนื้อแฮมตริงในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเดินหรือคลายกล้ามเนื้อเฟล็กเซอร์ (flexor muscles) ที่หัวแม่เท้า เพื่อให้การเคลื่อนไหวของร่างกายดีขึ้น
การดูแลตัวเองที่บ้าน
ดูแลตัวเองอย่างระมัดระวัง เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการฟื้นฟูร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพ ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่คุณสามารถทำได้เพื่อป้องกันไม่ให้ภาวะหดเกร็งของกล้ามเนื้อแย่ลง
- เลี่ยงการสวมเสื้อผ้ารัดๆ
- จัดการและควบคุมความเครียด
- เปลี่ยนท่าทางหรืออริยาบถจนกว่าจะพบท่าที่สบาย
- นอนหลับให้เพียงพอเพื่อไม่ให้เหนื่อยล้า
- ปรับอุณหภูมิเพื่อให้ได้อุณหภูมิที่สบายสำหรับคุณ อย่าให้ร้อนหรือเย็นเกินไป
ภาวะหดเกร็งของกล้ามเนื้อเป็นภาวะที่พบบ่อยจากโรคสมองขาดเลือด แม้ว่าภาวะนี้อาจทำให้คุณเคลื่อนไหวได้ไม่เต็มที่ แต่ก็มีทางแก้ไขในหลายๆ แนวทาง ไม่ว่าจะเป็น โปรแกรมการฟื้นฟูสุขภาพ ยา หรือแม้แต่การผ่าตัด ที่สามารถช่วยให้คุณฟื้นฟูความสามารถการทำงานของร่างกายและทำให้เคลื่อนไหวได้มากขึ้น
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]