backup og meta

หินร้อนบำบัด ศาสตร์แห่งการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ที่คุณควรรู้จัก

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 14/05/2021

    หินร้อนบำบัด ศาสตร์แห่งการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ที่คุณควรรู้จัก

    ศาสตร์แห่งการนวด การบำบัด มักมีหลายประเภทด้วยกัน ทั้งในแบบวิถีพื้นบ้าน หรือการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วย เช่น การนวดแผนโบราณ ทรายบำบัด ไครโอเทอราพี รวมถึงวิธีการใช้ หินร้อนบำบัด นี้ด้วย ที่บทความของ Hello คุณหมอ ขอนำมาเป็นอีกตัวเลือกหนึ่ง ให้ทุกคนได้พิจารณา และอาจได้ลองใช้บริการมาฝากกันค่ะ

    ทำความรู้จักกับ การบำบัดด้วยหินร้อน กันเถอะ

    จุดเด่นของเทคนิคนี้นั้นคงจะไม่พ้นตามชื่ออันอย่างตรงตัวนั่นก็คือ หินร้อนบำบัด (Hot Stone Massage) ที่มีเอกลักษณ์ในการนำ หินภูเขาไฟ หรือ หินบะซอลต์ (Basalt) เข้าไปผ่านอุณหภูมิความร้อนจากเตาอบ ถึง 110 – 145 องศา ซึ่งเหตุผลที่เลือกเป็นหินประเภทนี้ เพราะ หินภูเขาไฟ หรือ หินบะซอลต์ เป็นหินที่คงความเก็บความร้อนไว้ในตัวได้นานกว่าหินชนิดอื่น ๆ และค่อนข้างมีผิวเรียบ เหมาะแก่การนำมาวางไว้บนร่างกายตามจุดต่าง ๆ ของผู้ใช้บริการ

    หลังจากการนำไปผ่านความร้อนแล้ว คงจำเป็นจะต้องแช่ไว้ในน้ำอุ่น หรือน้ำธรรมดาอีกรอบ เพื่อให้คลายความร้อนลง มิเช่นนั้นอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อผิวหนังตามมาได้ โดยตำแหน่งที่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการบำบัดจะวาง มักเป็นในส่วนของบริเวณ ตามแนวกระดูกสันหลังเรียงยาว หน้าท้อง มือ เท้า หน้าอก และใบหน้า

    บางจุดนั้นอาจมีการเพิ่มความผ่อนคลายด้วยการจับ หินภูเขาไฟ นวดวน ๆ เป็นวงกลม หรืออาจนำมากดจุดคลายเส้นกล้ามเนื้อที่ตึงร่วม ขึ้นอยู่ตามแต่ละอาการ ปัญหาทางด้านสุขภาพของผู้ใช้บริการ และการวิเคราะห์ตามขั้นตอนของนักบำบัด

    ประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ หินร้อนบำบัด

    การบำบัดด้วยหินร้อน อาจเสริมสร้างประโยชน์ทางด้านสุขภาพคุณทั้งด้านร่างกาย และด้านจิตใจได้มิใช่น้อย ดังนี้

    1. ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ตึงเครียด

    การบรรเทาอาการปวดเมื่อยที่ดีมักคู่กับการนวดบำบัดอยู่เสมอ เพราะการนวดผสมกับการใช้ความร้อนสามารถทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตของคุณกลับมาทำงานได้สะดวก พร้อมทั้งยังอาจลดอาการกระตุก การหดเกร็งของกล้ามเนื้อ และเพิ่มความหยืดหยุ่นของการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวกับช่วงข้อต่อได้มากขึ้นอีกด้วย

    1. ส่งเสริมการนอนหลับ

    จากการทบทวนงานวิจัยปีพ.ศ. 2549 พบว่า การนวดอาจเป็นยารักษาชั้นดีสำหรับวัยผู้ใหญ่จนอาจไปถึงผู้สูงอายุ เนื่องจากการนวดเป็นการสร้างความผ่อนคลาย ที่สามารถเชื่อมต่อไปสู่การนอนหลับพักผ่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    1. ลดภาวะโรคไฟโบรมัยอัลเจีย

    หินร้อนบำบัดอาจมีส่วนช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดเกี่ยวกับโรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) ที่ก่อให้เกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเรื้อรังได้ จากการศึกษาในปีพ.ศ. 2545 ผู้ที่ประสบกับโรคดังกล่าว ได้เข้ารับการนวดบำบัดเป็นเวลา 30 นาที พบว่าการนวดด้วยหินร้อน หรือความร้อน มีส่วนช่วยในการลดระดับของสารซับสแทนซ์พี (Substance P) ที่เป็นสารเคมีสื่อถึงความเจ็บปวดลง

    ซึ่งเชื่อมโยงไปยังการบรรเทาอาการของโรคไฟโบรมัยอัลเจีย แต่ถึงอย่างไรคงจำเป็นต้องการวิจัย และพิสูจน์เพิ่มเติมอย่างละเอียดต่อไป เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในการรักษาที่สมบูรณ์แบบกว่าเดิม

    1. ลดความวิตกกังวล และปรุบปรุงสุขภาพจิต

    สมาคมการนวดของอเมริกัน (American Massage Therapy Association; AMTA) กล่าวว่าการนวดส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพที่เข้าไปปรับปรุงสุขภาพจิตใจให้ดีขึ้น โดยการช่วยในเรื่องของลดความเครียด ลดความวิตกกังวลจากเรื่องต่าง ๆ

    อีกทั้งยังมีการวิจัยชิ้นหนึ่งที่สนับสนุนคามคิดของพวกเขา และได้ทำการทดสอบในปีพ.ศ. 2544 จากการนวด 10 นาที พบว่า การนวดสามารถทำให้ระบบของหลอดเลือด ตอบสนองได้ดีต่อสุขภาพหัวใจ ช่วยบรรเทาความเครียดลง และเพิ่มการผ่อนคลายขึ้นมาทดแทน

    หินร้อนบำบัด ไม่เหมาะสำหรับใคร

    ถึงแม้การบำบัดด้วยหินร้อนอาจจะดูเป็นสิ่งที่ดูค่อนข้างเหมาะสมกับทุกบุคคล แต่ยังคงมีข้อจำกัดเล็กน้อยสำหรับผู้ที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพ ดังนี้ เพราะอาจทำให้เกิดความเสี่ยง และผลข้างเคียงที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ตามมาในภายหลัง

    • โรคเบาหวาน
    • มีประวัติเกี่ยวกับเส้นเลือดอุดตัน
    • พึ่งผ่านการได้รับการผ่าตัดมาในช่วง 6 สัปดาห์
    • โรคกระดูกพรุน หรือกระดูกแตกหัก
    • ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
    • มีแผลสด แผลไหม้บนผิวหนัง
    • ผู้ที่มีการใช้ยาเกี่ยวกับการกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด
    • สตรีตั้งครรภ์

    หากคุณมีความประสงค์ในการขอเข้าร่วมการบำบัดด้วยหินร้อน ควรได้รับการตรวจสุขภาพ หรือได้รับการอนุญาตจากแพทย์เสียก่อนเท่านั้น เพราะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจให้คำแนะนำในการบำบัดด้วยเทคนิคอื่น ๆ ที่เหมาะสำหรับปัญหาอาการปวดเมื่อยที่คุณกำลังเผชิญได้เสียมากกว่า

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 14/05/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา