backup og meta

เจ็บท้องคลอดแบบไหนควรไปหาหมอ และอาการใกล้คลอดที่ควรรู้

เจ็บท้องคลอดแบบไหนควรไปหาหมอ และอาการใกล้คลอดที่ควรรู้

เมื่อใกล้ถึงช่วงใกล้คลอด คุณแม่อาจรู้สึกเจ็บท้องบ่อยขึ้น จนอาจสับสนระหว่างการเจ็บท้องเตือนและการเจ็บท้องคลอดจริง และมีข้อสงสัยว่า เจ็บท้องคลอดแบบไหนควรไปหาหมอ โดยทั่วไป หากคุณแม่เจ็บท้องตั้งแต่บริเวณหน้าท้อง อุ้งเชิงกราน ร้าวไปถึงหลังและต้นขา และรู้สึกปวดถี่มากขึ้นเรื่อย ๆ อาการไม่ทุเลาแม้จะเปลี่ยนท่าทาง ร่วมกับมีอาการใกล้คลอดอื่น ๆ เช่น ถุงน้ำคร่ำแตก มีน้ำใสไหลจากช่องคลอด มีมูกเลือดไหลจากช่องคลอด อาจเป็นสัญญาณของการเจ็บท้องคลอดหรือเจ็บท้องจริงที่ควรรีบไปพบคุณหมอโดยเร็ว

[embed-health-tool-due-date]

เจ็บท้องคลอดแบบไหนควรไปหาหมอ

อาการใกล้คลอดมักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเนื่องจากการมีระดับฮอร์โมนเพิ่มสูงขึ้นเพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการคลอดบุตร โดยอาการที่เป็นสัญญาณของการเจ็บท้องคลอด ที่ควรไปพบคุณหมอโดยเร็ว มีดังนี้

  • เจ็บท้องหรือปวดท้องส่วนล่าง บริเวณอุ้งเชิงกราน หลังส่วนล่างบริเวณบั้นเอว แล้วอาจร้าวลามไปยังต้นขา โดยมักจะเป็นทั่วๆท้อง
  • มีอาการเจ็บท้องสม่ำเสมอ ห่างกัน 5-10 นาที และถี่ขึ้นเรื่อย ๆ
  • เจ็บท้องแต่ละครั้งนานประมาณ 30-60 วินาที
  • เจ็บท้องรุนแรงขึ้น จนไม่สามารถพูดคุยหรือเดินไปมาได้
  • อาการไม่ทุเลาลงแม้จะเอนตัวลงนอน หรือเปลี่ยนท่าทางแล้วก็ตาม

อาการเจ็บท้องเตือน เป็นแบบไหน

อาการเจ็บท้องเตือน (Braxton-Hicks contractions) หรือที่เรียกว่า อาการเจ็บท้องหลอก เป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ อาจเริ่มตั้งแต่สัปดาห์ที่ 20 (เดือนที่ 5) หรือไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์เป็นต้นไป อาการเจ็บท้องเตือนเกิดจากหน้าท้องและมดลูกขยายตัวตามอายุครรภ์พร้อมกับมดลูกหดรัดตัวตามธรรมชาติ ส่งผลให้มีอาการเจ็บท้อง ไม่สบายตัว เมื่อสัมผัสหน้าท้องแล้วจะพบว่าท้องแข็ง โดยเฉพาะในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ จนอาจทำให้สับสนกับการเจ็บท้องคลอดหรือเจ็บท้องจริงได้

อาการเจ็บท้องเตือน อาจมีดังนี้

  • มักเจ็บท้องหน่วง ๆ บริเวณหน้าท้องเท่านั้น
  • มดลูกหดรัดตัวไม่สม่ำเสมอ แต่ละครั้งนานประมาณ 30 วินาที และไม่ถี่ขึ้นเรื่อย ๆ
  • รูปแบบของอาการเจ็บท้องไม่ชัดเจน บางครั้งอาการอาจรุนแรงแล้วค่อย ๆ ทุเลา บางครั้งก็อาจเริ่มจากมีอาการเบา ๆ ก่อนรุนแรงขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะไม่ทำให้เจ็บท้องรุนแรงจนทนไม่ไหว
  • อาการเจ็บท้องบรรเทาลงเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น จากนั่งเป็นนอน จากยืนเป็นนั่ง

สัญญาณอื่น ๆ ของการใกล้คลอด

อาการที่เป็นสัญญาณว่าเข้าสู่ช่วงใกล้คลอด อาจมีดังนี้

  • มีมูกเลือดไหลออกจากช่องคลอด ขณะตั้งครรภ์ ร่างกายจะมีมูกอุดกั้นบริเวณปากมดลูก ซึ่งเป็นมูกเลือดที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อจากภายนอกไม่ให้เข้าไปสู่มดลูกและทำอันตรายแก่ทารกในครรภ์ เมื่อเข้าสู่ภาวะใกล้คลอด มูกเลือดนี้จะหลุดออกมาทางช่องคลอดเป็นก้อนเลือดหรือเป็นเส้นเมือกยาวคล้ายเยลลี่ โดยอาจค่อย ๆ ไหลออกมาจากช่องคลอด หรือหลุดออกมาหมดในทีเดียว และคุณแม่บางคนอาจสังเกตเห็นมูกเลือดไหลออกจากช่องคลอดในลักษณะของตกขาวที่มีสีใสปนชมพู หรือมีเลือดปนเล็กน้อย
  • เลือดไหลออกจากช่องคลอด (Bloody show) เมื่อร่างกายเตรียมตัวเข้าสู่การคลอด ปากมดลูกจะเริ่มนิ่มลงและขยายตัวออก ทำให้เส้นเลือดโดยรอบฉีกขาด ส่งผลให้มีเลือดไหลออกจากช่องคลอด แต่ในบางกรณี คุณแม่ก็อาจไม่พบเลือดลักษณะนี้เลย ทั้งนี้ การคลอดอาจเกิดขึ้นทันทีที่มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดหรือต้องรอไปอีก 2-3 วันกว่าจะถึงวันคลอดจริง
  • ถุงน้ำคร่ำแตก ถุงน้ำคร่ำเป็นเยื่อบางใสที่ห่อหุ้มตัวทารกไว้ตลอดการตั้งครรภ์ เมื่อถุงน้ำคร่ำแตกจะมีของเหลวใส ๆ คล้ายปัสสาวะและอาจมีเลือดปนเปื้อนเล็กน้อยไหลออกจากช่องคลอด ไม่สามารถกลั้นให้หยุดได้ คุณหมอหรือทีมแพทย์อาจเจาะถุงน้ำคร่ำให้แตกขณะทำคลอด หรือถุงน้ำคร่ำอาจแตกก่อนคลอดก็ได้ โดยปกติแล้วการคลอดจะเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากถุงน้ำคร่ำแตก
  • ปวดหลังหรือเป็นตะคริว อาการปวดหลังขณะตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่พบได้บ่อย และอาการอาจรุนแรงขึ้นเมื่อถึงช่วงใกล้คลอด มักเกิดขึ้นเมื่อทารกในครรภ์กลับหัวเพื่อเตรียมเคลื่อนตัวออกทางช่องคลอด คุณแม่อาจรู้สึกถึงแรงดันในอุ้งเชิงกราน อาจเป็นตะคริวเป็นจังหวะถี่ขึ้นเรื่อย ๆ และอาจทำให้ปวดเสียดรุนแรง

อาการที่อาจเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนด

หากคุณแม่มีอาการดังต่อไปนี้ ก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ อาจเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนด (Preterm labor) ที่ทำให้ทารกเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ปัญหาด้านพัฒนาการ ภาวะสมองพิการ ปัญหาสุขภาพเรื้อรัง จึงควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็ว

  • มดลูกหดรัดตัวทุก ๆ 10 นาที
  • มีมูกเลือดไหลออกจากช่องคลอด เนื่องจากมูกอุดกั้นที่ปิดปากมดลูกอยู่หลุดออกเพราะใกล้คลอด
  • มีของเหลวใสไหลออกมาจากช่องคลอด
  • มีเลือดไหลออกมาจากช่องคลอด
  • รู้สึกถึงแรงดันบริเวณช่องคลอดหรือรูทวารหนัก

นอกจากนี้ หากคุณแม่สัมผัสได้ว่าทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลงจนผิดสังเกตหรือไม่เคลื่อนไหวอีกเลย ควรไปพบคุณหมอทันที เพื่อให้คุณหมอตรวจร่างกายและตรวจสอบว่าทารกในครรภ์ยังแข็งแรงดีหรือไม่

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Signs that labour has begun. https://www.nhs.uk/pregnancy/labour-and-birth/signs-of-labour/signs-that-labour-has-begun/. Accessed January 5, 2023

Signs That Labor Is 24 to 48 Hours Away. https://health.clevelandclinic.org/signs-that-labor-is-24-to-48-hours-away/. Accessed January 5, 2023

First stage of labour: signs, coping and when to go to hospital. https://www.nct.org.uk/labour-birth/your-guide-labour/first-stage-labour-signs-coping-and-when-go-hospital. Accessed January 5, 2023

How Do I Know I’m in Labor?. https://familydoctor.org/know-im-labor/. Accessed January 5, 2023

Giving birth – early signs of labour. https://www.pregnancybirthbaby.org.au/giving-birth-early-signs-of-labour. Accessed January 5, 2023

The early signs of labour. https://www.nct.org.uk/labour-birth/your-guide-labour/early-signs-labour. Accessed January 5, 2023

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/03/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาการเจ็บท้องคลอด และระยะเวลาการเจ็บท้องคลอด

เจ็บท้องเตือนกี่วันคลอด วิธีสังเกตอาการเจ็บท้องเตือนและเจ็บท้องคลอด


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา