backup og meta

มูกเลือดก่อนคลอด คืออะไร อาการใกล้คลอดที่ควรรู้

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

    มูกเลือดก่อนคลอด คืออะไร อาการใกล้คลอดที่ควรรู้

    มูกเลือดก่อนคลอด เป็นมูกเลือดที่ทำหน้าที่ปิดกั้นปากมดลูกเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคจากช่องคลอด เช่น แบคทีเรีย ผ่านเข้าไปในโพรงมดลูกและไปยังทารกในครรภ์ โดยทั่วไปจะหลุดและไหลออกมาจากช่องคลอดเมื่อปากมดลูกอ่อนตัวและหดสั้นลงเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ระยะคลอด ดยส่วนใหญ่จะพบในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ หากพบว่ามีมูกเลือดหลุดออกมาจากช่องคลอดแล้วมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง หรือพบว่าถุงน้ำคร่ำแตก อาจเป็นสัญญาณเตือนของการเข้าสู่ระยะการคลอดบุตร ควรไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด

    มูกเลือดก่อนคลอด คืออะไร

    มูกเลือดก่อนคลอดเป็นมูกเลือดที่หลุดออกมาจากช่องคลอด ส่วนใหญ่พบมากภายหลังไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์เป็นต้นไป ลักษณะเป็นมูกเหนียว อาจเป็นก้อนเมือกหรือเป็นเส้นยาวคล้ายเยลลี่ ความยาว 1-2 นิ้ว สีใส สีขาว สีแดงหรือน้ำตาล และไม่มีกลิ่น อุดกั้นอยู่บริเวณปากมดลูก (Mucus plug) และอาจหลุดออกมาเป็นก้อนเล็ก ๆ หรือหลุดออกมาทั้งหมดในคราวเดียวกันในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนคลอดหรือในขณะคลอด

    บางครั้งอาจพบมูกเลือดติดกระดาษชำระในขณะเช็ดทำความสะอาดอวัยวะเพศหลังจากเข้าห้องน้ำ ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์หลายคนอาจแทบไม่สังเกตเห็นมูกเลือดนี้เลย โดยเฉพาะผู้ที่มีตกขาวขณะตั้งครรภ์มากอยู่แล้ว

    เมื่อมูกที่อุดกั้นปากมดลูกอยู่หลุดออกไป และปากมดลูกเริ่มนิ่มลงและขยายออก อาจทำให้เส้นเลือดที่อยู่บริเวณโดยรอบฉีกขาด และมีสารคัดหลั่งหรือเลือดสด ๆ ไหลออกมาจากช่องคลอด (Bloody show) หรือมีเลือดปนออกมากับมูกกั้นปากมดลูก อย่างไรก็ตาม มูกเลือดที่ไหลออกมาอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การบาดเจ็บ การเซาะแยกถุงน้ำคร่ำเพื่อกระตุ้นการคลอด (Membrane sweeping)

    มูกเลือดก่อนคลอด สำคัญอย่างไร

    หน้าที่ของมูกเลือดก่อนคลอด อาจมีดังนี้

    • ช่วยป้องกันเชื้อโรคเข้าถึงทารกในครรภ์ ในระหว่างตั้งครรภ์ร่างกายจะผลิตมูกเลือดออกมาปิดปากช่องคลอดเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคที่ช่องคลอด เช่น แบคทีเรีย และยับยั้งไม่ให้เชื้อลุกลามไปยังโพรงมดลูก
    • เป็นสัญญาณว่าปากมดลูกนิ่มและขยายตัว หากหญิงตั้งครรภ์สังเกตเห็นมูกเลือดไหลออกจากช่องคลอด อาจเป็นสัญญาณว่าปากมดลูกนิ่มขึ้นและขยายตัวเพื่อรองรับการเคลื่อนตัวออกมาจากช่องคลอดของทารกในครรภ์

    มูกเลือดก่อนคลอดต่างจากตกขาวปกติอย่างไร

    โดยปกติแล้ว ตกขาวในระหว่างตั้งครรภ์จะมีลักษณะเป็นสีใส สีเหลืองอ่อน หรือเป็นชั้นบาง ๆ สีขาวขุ่น มีกลิ่นเล็กน้อยหรือแทบไร้กลิ่น ในขณะที่มูกเลือดที่อุดกั้นปากมดลูกจะหนากว่ามาก มีลักษณะคล้ายวุ้นหรือเยลลี่ มีสีแดง สีน้ำตาล หรือสีชมพู อาจหลุดออกมาในทีเดียวหรือค่อย ๆ ออกมาเป็นเส้นยาว ๆ หากเป็นมูกเลือดที่เกิดจากการขยายตัวของปากมดลูกอาจมีลักษณะเป็นเลือดปนกับมูกกั้นปากมดลูก และอาจไหลออกมาเรื่อย ๆ ในช่วงสัปดาห์ใกล้คลอด

    อาการใกล้คลอด มีอะไรบ้าง

    อาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกับอาการมูกเลือดไหลออกจากช่องคลอดที่อาจเป็นสัญญาณของการใกล้คลอด อาจมีดังนี้

    • ปวดท้อง หญิงตั้งครรภ์อาจรู้สึกถึงอาการปวดเกร็งเหมือนเป็นตะคริวบริเวณท้องส่วนล่างเป็นเวลาหลายชั่วโมงหรือหลายวัน
    • มีแรงดันบริเวณอุ้งเชิงกราน ในช่วงใกล้คลอด ทารกจะค่อย ๆ เคลื่อนตัวลงไปยังช่องคลอด จึงอาจทำให้หญิงตั้งครรภ์รู้สึกถึงแรงดันที่อุ้งเชิงกราน แผ่นหลัง และช่องคลอด เนื่องจากศีรษะของทารกเคลื่อนตัวผ่านบริเวณนั้น
    • ถุงน้ำคร่ำแตก เมื่อถึงกำหนดคลอด ถุงน้ำคร่ำซึ่งห่อหุ้มคอยเป็นเกราะให้ทารกในครรภ์จะแตกออกและมีน้ำคร่ำใส ๆ ไหลออกจากช่องคลอดแบบค่อย ๆ ไหลหรือพุ่งออกมา ไม่สามารถกลั้นให้หยุดไหลได้ต่างจากน้ำปัสสาวะ
    • มดลูกหดรัดตัว ในช่วงใกล้คลอด มดลูกจะหดรัดตัวและคลายตัวเพื่อให้ปากมดลูกนิ่มลงและขยายตัวกว้างออก จะได้คลอดบุตรได้สะดวก อาการนี้จะรุนแรงขึ้น เกิดถี่ขึ้นเรื่อย ๆ แทบจะทุก ๆ 5 นาที และแต่ละรอบอาจนานกว่า 60 วินาที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา