backup og meta

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 10

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 10

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 10 เป็นระยะที่ทารกในครรภ์มีน้ำหนักประมาณ 7 กรัม ความยาวจากศีรษะถึงปลายเท้าประมาณ  2.54 เซนติเมตร หรือขนาดเท่ากับผลส้มจี๊ด ในสัปดาห์ที่ 10 เริ่มจะมีการพัฒนาร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ จนสามารถเห็นอวัยวะทุกส่วนของทารกเป็นรูปร่างขึ้น

[embed-health-tool-due-date]

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 10

ลูกจะเติบโตอย่างไร

ตอนนี้ทารกในครรภ์มีขนาดเท่ากับผลส้มจี๊ดแล้ว โดยมีน้ำหนักประมาณ 7 กรัม ความยาวจากศีรษะถึงปลายเท้าประมาณ  2.54 เซนติเมตร ในสัปดาห์ที่ 10 อวัยวะทุกส่วนของทารกจะเป็นรูปร่างขึ้น อาจเห็นได้ชัดเจนเมื่อทำการอัลตร้าซาวด์

กระดูกและกระดูกอ่อนต่าง ๆ กำลังก่อร่างขึ้นเป็นขา เพื่อพัฒนาเป็นหัวเข่าและข้อเท้า ในขณะเดียวกันแขนก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง และมีความแข็งแรงขึ้น และในขณะที่กระดูกเริ่มแข็งแรงขึ้นนั้น ฟันก็เริ่มก่อร่างขึ้นมาใต้เหงือก แต่ยังจะไม่โผล่พ้นเหงือกจนกว่าจะมีอายุ 6 เดือน

ระบบต่าง ๆ ในร่างกายก็กำลังพัฒนาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นระบบย่อยอาหารซึ่งเริ่มผลิตน้ำย่อย ในขณะที่ไตเริ่มผลิตปัสสาวะซึ่งจะถูกขับออกมาพร้อมกับปัสสาวะของคุณแม่ หากเป็นเพศชาย อัณฑะเริ่มผลิตฮอร์โมนเพศชายที่เรียกว่าเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ขึ้นมาแล้ว

ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและรูปแบบการใช้ชีวิต

ร่างกายจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ในช่วงก่อนที่จะตั้งครรภ์นั้น มดลูกของเพศหญิงมักมีขนาดเท่าลูกแพร์ลูกเล็ก ๆ แต่มาถึงสัปดาห์นี้ มดลูกจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเท่าผลเกรปฟรุต หน้าท้องจึงเริ่มยื่นออกมาให้เห็นแล้ว อาจต้องหาชุดคลุมท้องมาใส่เพราะชุดปกติอาจจะเริ่มสวมใส่แล้วรู้สึกไม่ค่อยสบายตัวแล้ว เพราะอาจเริ่มรู้สึกคับบริเวณหน้าอก

ท้องที่ใหญ่ขึ้นก็อาจเกิดจากน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งอาการท้องอืดด้วย หากเลือกไม่ถูกระหว่างชุดคลุมท้องและเสื้อผ้าปกติ อาจเริ่มจากกางเกงและกระโปรงที่ทำจากวัสดุที่ยืดหยุ่นได้ (หรือเป็นแบบเอวต่ำใต้พุง)

ควรระมัดระวังอะไรบ้าง

หญิงตั้งครรภ์อาจกังวลเรื่องน้ำหนักขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมชาติและหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงควรต้องรู้ว่าน้ำหนักขึ้นมาขนาดไหนถึงจะเหมาะสม โดยทั่วไปแล้วหญิงตั้งครรภ์ควรมีน้ำหนักขึ้นประมาณ 11 – 16 กิโลกรัม ซึ่งพบได้ในผู้หญิงที่มีดัชนีมวลกายในเกณฑ์ปกติ ถ้าคิดว่าน้ำหนักตัวยังต่ำกว่าเกณฑ์ คุณก็สามารถเพิ่มน้ำหนักได้ แต่ถ้าคุณมีน้ำหนักเกิน คุณก็ควรควบคุมน้ำหนัก เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาแทรกซ้อนทางสุขภาพ

น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์จะกระจายไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีน้ำหนักขึ้นมาประมาณ 15 กิโลกรัมในระหว่าง การตั้งครรภ์ ก็สามารถแจกแจงน้ำหนักต่าง ๆ ได้ดังนี้

  • ทารก 3.75 กิโลกรัม
  • รก 0.75 กิโลกรัม
  • น้ำคร่ำ 1 กิโลกรัม
  • มดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้น 1 กิโลกรัม
  • เนื้อเยื่อบริเวณเต้านม 1 กิโลกรัม
  • ปริมาณเลือด 2 กิโลกรัม
  • ของเหลวที่อยู่ในเนื้อเยื่อต่างๆ 2 กิโลกรัม
  • การสะสมของไขมัน 3.5 กิโลกรัม

หญิงตั้งครรภ์พยายามอย่าเครียดเรื่องน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ตราบใดที่รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควรรับประทานผักและผลไม้เยอะ ๆ เพื่อให้ทารกในครรภ์สามารถจะดูดซึมสารอาหารที่จำเป็นต่อการพัฒนาร่างกายเข้าไปอย่างเหมาะสมและเพียงพอ

การพบคุณหมอ

ควรปรึกษาแพทย์อย่างไรบ้าง

หญิงตั้งครรภ์มักรู้สึกเหนื่อยล้าหรืออ่อนเพลียมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในช่วงไตรมาสแรก เนื่องจากร่างกายต้องทำงานหนัก เพื่อรองรับการเติบโตของทารกในครรภ์ ฮอร์โมนการตั้งครรภ์คือต้นเหตุที่ทำให้มีปริมาณเลือดเพิ่มขึ้น และทำให้ร่างกายเปลี่ยนรูปร่างไป จึงนับเป็นเรื่องปกติที่มักรู้สึกหมดแรง ควรอธิบายความรู้สึกเกี่ยวกับร่างกายหรือเรื่องอื่น ๆ ที่กังวลใจ รวมทั้งปัญหาการนอนหลับพักผ่อนให้คุณหมอทราบ เพื่อคุณหมอจะได้ช่วยหาวิธีจัดการกับความอ่อนเพลียนั้นได้

การทดสอบใดที่ควรรู้

คุณหมออาจทำการทดสอบตามรายการต่อไปนี้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของหญิงตั้งครรภ์ด้วย

  • ชั่งน้ำหนักและความดันเลือด
  • ตรวจปัสสาวะเพื่อหากลูโคสและโปรตีน
  • ตรวจอัตราการเต้นของหัวใจของทารก
  • วัดขนาดของมดลูกโดยการคลำจากภายนอก เพื่อดูความสัมพันธ์ของขนาดจนกระทั่งถึงวันคลอด
  • ความสูงของครรภ์ส่วนล่าง (ส่วนบนของมดลูก)
  • ตรวจสอบการบวมของมือและเท้า ตรวจเส้นเลือดขอดที่ขา

สุขภาพและความปลอดภัย

ควรทำอย่างไรเพื่อให้สุขภาพดีและปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์

ระหว่างการตั้งครรภ์ มักมีคำถามว่า การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงตั้งครรภ์นั้นจะมีความปลอดภัยหรือไม่ สำหรับ การตั้งครรภ์ ตามปกติแล้ว การมีเพศสัมพันธ์นับว่ามีความปลอดภัยมาก หากมีความต้องการทางเพศก็สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ แต่โดยส่วนใหญ่ ความอ่อนเพลียและอาการคลื่นไส้มักทำให้หญิงตั้งครรภ์ไม่ค่อยมีความต้องการทางเพศ แต่สำหรับหญิงตั้งครรภ์บางราย เลือดที่สูบฉีดไปหล่อเลี้ยงยังอวัยวะเพศและเต้านมมากขึ้น ก็อาจส่งผลในทางตรงกันข้ามได้

อย่างไรก็ตาม นับเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องตรวจสอบกับคุณหมอ เพื่อให้แน่ใจว่าการมีเพศสัมพันธ์นั้นมีความปลอดภัย ทั้งนี้ ยังมีเหตุผลบางประการที่คุณหมออาจแนะนำให้หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์ ได้แก่

  • มีความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด
  • มีการตกเลือดที่ช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีน้ำคร่ำรั่วไหล
  • มีประวัติคลอดก่อนกำหนดในอดีต
  • มีทารกในครรภ์หลายคน
  • ปากมดลูกเริ่มเปิดก่อนกำหนด (ภาวะปากมดลูกหลวม)
  • ภาวะที่รกปิดขวางหรือคลุมปากมดลูกเพียงบางส่วนหรือปกคลุมทั้งหมด (รกเกาะต่ำ)

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Poppy seed to pumpkin: How big is your baby?. https://www.babycenter.com/slideshow-baby-size. Accessed May 11, 2022.

Week-by-week guide to pregnancy. https://www.nhs.uk/start4life/pregnancy/week-by-week/1st-trimester/week-10/. Accessed May 11, 2022.

Pregnancy at week 10. https://www.pregnancybirthbaby.org.au/pregnancy-at-week-10. Accessed May 11, 2022.

Pregnancy Calendar – Week 10.  https://kidshealth.org/en/parents/week10.html. Accessed May 11, 2022.

Your pregnancy – 10 weeks. https://www.babycenter.com/10-weeks-pregnant. Accessed May 11, 2022.

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2022

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

คนท้องเป็นหวัด อันตรายหรือไม่และควรรับมืออย่างไรดี

คนท้องเท้าบวม ขาบวม ทำยังไงได้บ้าง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 11/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา