ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ ได้แก่ อายุ ปัญหาสุขภาพ โรคประจำตัว การใช้ชีวิตและปัญหาขณะตั้งครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพครรภ์ สุขภาพคุณแม่และสุขภาพทารกในครรภ์ ทั้งยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักแรกเกิดต่ำ พิการแต่กำเนิด หรือทารกเสียชีวิตขณะคลอดได้ การเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์และการดูแลสุขภาพครรภ์อย่างสม่ำเสมออาจช่วยลดปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ได้
[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]
ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์
ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์มซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพครรภ์และสุขภาพทารกในครรภ์ มีดังนี้
อายุ
- การตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุน้อย อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคโลหิตจางในขณะตั้งครรภ์ ทารกน้ำหนักตัวน้อย การคลอดก่อนกำหนดและการแท้งบุตร นอกจากนี้ วัยรุ่นยังมีแนวโน้มในการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาการตั้งครรภ์หรือปัญหาสุขภาพทารก เช่น แท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด ถุงน้ำแตกก่อนกำหนด มดลูกอักเสบหลังจากคลอดบุตร วัยรุ่นอาจละเลยการเข้ารับการตรวจครรภ์และการดูแลก่อนคลอด ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาขณะตั้งครรภ์ หรืออาจทำให้ทารกในครรภ์มีปัญหาสุขภาพ เช่น พิการแต่กำเนิด โรคทางพันธุกรรม
- การตั้งครรภ์ที่อายุเกิน 35 ปี เมื่ออายุมากขึ้นปัญหาสุขภาพและความเสี่ยงในการตั้งครรภ์บางประการอาจเพิ่มขึ้นตามอายุด้วย เช่น ความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์ โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ การแท้งบุตร การตั้งครรภ์นอกมดลูก เลือดออกมากขณะคลอด ใช้เวลาคลอดนานกว่า 20 ชั่วโมง เเละเพิ่มความเสี่ยงว่าทารกอาจมีความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม
ปัจจัยด้านการใช้ชีวิต
- การสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกในครรภ์เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด พิการแต่กำเนิด หรืออาจเกิดโรคไหลตายในเด็ก ทั้งยังอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของทารกเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ การสูดดมควันบุหรี่มือสองยังทำให้คุณแม่และทารกในครรภ์เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้นได้ เช่น คลอดก่อนกำหนด ทารกตายในครรภ์ ทารกน้ำหนักตัวน้อย ทารกปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ หอบหืด โรคระบบทางเดินหายใจ
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างตั้งครรภ์ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกลุ่มอาการผิดปกติของทารกจากการดื่มแอลกอฮอล์ของมารดาขณะตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกเสียชีวิตกะทันหัน ความบกพร่องทางสติปัญญาและพัฒนาการ ปัญหาพฤติกรรม ลักษณะใบหน้าที่ผิดปกติ ความผิดปกติของหัวใจ ไต กระดูก นอกจากนี้ ผู้หญิงที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจมีแนวโน้มที่จะแท้งบุตรหรือทารกเสียชีวิตขณะคลอดได้
- การใช้สารเสพติดในระหว่างตั้งครรภ์ อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์และส่งผลต่อสุขภาพของทารก เช่น สมองตาย ศีรษะเล็ก ภาวะเลือดออกในสมอง เซลล์ประสาทถูกทำลาย ปัญหาหัวใจ และอาจเพิ่มความเสี่ยงทารกเสียชีวิตขณะคลอด รกลอกตัวก่อนกำหนด ขัดขวางการพัฒนาสมองของทารกซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของทารกในระยะยาว
ปัญหาสุขภาพขณะตั้งครรภ์
ปัญหาสุขภาพของคุณแม่ที่เกิดขึ้นทั้งก่อนตั้งครรภ์และในขณะตั้งครรภ์อาจเป็นปัจจัยกระทบต่อสุขภาพครรภ์และทารกในครรภ์ได้ เช่น
- ความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาจทำลายไต หัวใจ ตับของคุณแม่ตั้งครรภ์ รวมไปถึงเพิ่มความเสี่ยงหลอดเลือดในสมองแตก เพิ่มความเสี่ยงภาวะครรภ์เป็นพิษและทารกน้ำหนักแรกเกิดต่ำ และทารกคลอดก่อนกำหนด
- โรคอ้วน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ ทารกมีขนาดตัวใหญ่กว่าปกติ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับและการหายใจขณะหลับที่ไม่ปกติในระหว่างตั้งครรภ์
- โรคไต อาจเสี่ยงในการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ และภาวะครรภ์เป็นพิษ
- โรคแพ้ภูมิตัวเอง เช่น โรคลูปัส เส้นเลือดตีบหลายเส้น มีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดและทารกเสียชีวิตขณะคลอด
- กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งบุตร โรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ภาวะครรภ์เป็นพิษ
- โรคต่อมไทรอยด์ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะหัวใจล้มเหลว ทารกน้ำหนักแรกเกิดต่ำ และปัญหาการพัฒนาสมองไม่ดี
- เอชไอวี/เอดส์ เอชไอวีสามารถส่งต่อไปยังทารกในครรภ์ได้ในระหว่างตั้งครรภ์ การคลอด และการให้นมบุตร ซึ่งอาจส่งผลต่อปัญหาสุขภาพทารกในอนาคต เช่น ทารกเจริญเติบโตช้า ระบบหายใจผิดปกติ ภาวะขาดออกซิเจน หรือติดเชื้อเอชไอวีจากมารดา
- การติดเชื้อซิกา (Zika) อาจเพิ่มความเสี่ยงพิการแต่กำเนิด ปัญหาเกี่ยวกับสมองและระบบประสาท ทารกมีภาวะศีรษะเล็กกว่าปกติ สติปัญญาต่ำกว่าปกติ และทารกอาจเสียชีวิตขณะคลอดได้
ปัญหาที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์
- โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจส่งผลกระทบต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ เช่น การคลอดก่อนกำหนด ความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ยังเพิ่มความเสี่ยงที่คุณแม่และทารกจะเป็นเบาหวานชนิดที่ 2
- เคยมีภาวะคลอดก่อนกำหนด ซึ่งอาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดซ้ำได้อีก
- การตั้งครรภ์แฝด อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด การผ่าคลอด ทารกตัวเล็กกว่าปกติ ความดันโลหิตสูง เบาหวานขณะตั้งครรภ์
- ภาวะครรภ์เป็นพิษ คือ ความดันโลหิตที่เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหันหลังจากสัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์ อาจส่งผลกระทบต่อตับ ไต สมอง และอาจถึงแก่ชีวิตทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์
สัญญาณปัญหาการตั้งครรภ์ที่ควรพบคุณหมอ
สำหรับสัญญาณเตือนของปัญหาการตั้งครรภ์ที่ควรรีบไปพบคุณหมออาจมีดังนี้
- เลือดออกทางช่องคลอดหรือตกขาวเป็นน้ำ
- ทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลง
- มีไข้ หนาวสั่น เวียนหัว คลื่นไส้และอาเจียนบ่อย
- ปวดหัวรุนแรง
- ปวดหรือเป็นตะคริวในช่องท้องส่วนล่าง
- ปวดหรือแสบร้อนขณะปัสสาวะ
- การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไปหรือเริ่มมองเห็นไม่ชัด
- ใบหน้า มือ หรือนิ้วบวมขึ้นอย่างฉับพลันหรือรุนแรง
- มีความคิดที่จะทำร้ายตัวเองหรือทารกในครรภ์
วิธีป้องกันปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์
การมีสุขภาพการตั้งครรภ์ที่ดีและการดูแลตัวเองในขณะตั้งครรภ์อาจเป็นวิธีที่จะช่วยป้องกันปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ได้ ดังนี้
- ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ หากคุณแม่คิดที่จะตั้งครรภ์ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ คุณหมออาจแนะนำให้รับประทานกรดโฟลิก 400 ไมโครกรัม/วัน และแนะนำให้ควบคุมน้ำหนักอย่างเหมาะสมก่อนที่จะตั้งครรภ์ หรือหากมีอาการป่วยหรือโรคเรื้อรัง คุณหมออาจปรับเปลี่ยนการรักษาหรือยาที่ใช้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์
- ดูแลตัวเองก่อนคลอดอย่างสม่ำเสมอ เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ควรเข้าฝากครรภ์เพื่อจะได้รับการดูแลก่อนคลอดอย่างสม่ำเสมอ และควรเข้าพบคุณหมอตามนัดเป็นประจำเพื่อตรวจสุขภาพร่างกายและสุขภาพครรภ์ หากพบปัญหาขณะตั้งครรภ์ คุณหมอจะได้วางแผนการรักษาและป้องกันปัญหาแทรกซ้อนของทั้งมารดาและทารกได้
- ปรับวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพครรภ์ ก่อนการตั้งครรภ์ผู้หญิงควรรักษาสุขภาพและน้ำหนักให้เหมาะสม ไม่ควรมีดัชนีมวลกาย (BMI) เกิน 30 เนื่องจากคุณแม่ที่มีน้ำหนักตัวเกินอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด ดังนั้นควรรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี นมไขมันต่ำ และออกกำลังกายเป็นประจำ 45-60 นาที/วัน อย่างน้อย 5 วัน/สัปดาห์
- หลีกเลี่ยงสารอันตราย เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติด สารเคมีต่าง ๆ เนื่องจากสารอันตรายเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ อาจเพิ่มความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนด การแท้งบุตร น้ำหนักตัวทารกแรกเกิดต่ำ ความพิการแต่กำเนิด การตายของทารกในครรภ์ เป็นต้น
- ปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับปัญหาการตั้งครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์บางคนที่ต้องใช้ยาในการรักษาโรค หรือต้องการกินยาหรือสมุนไพรเพื่อเสริมสุขภาพในด้านต่าง ๆ ควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการใช้ยาที่อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันบาดทะยักในผู้ใหญ่ วัคซีนโรคคอตีบ วัคซีนไอกรน เพื่อป้องกันการติดเชื้อในขณะตั้งครรภ์และช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพของทารกในครรภ์ได้
ในคุณแม่ตั้งครรภ์บางคนคุณหมออาจแนะนำให้ตรวจสุขภาพครรภ์เป็นพิเศษ ดังนี้
- การตรวจคัดกรองทางพันธุกรรม คุณหมออาจแนะนำให้เจาะน้ำคร่ำเมื่อการตั้งครรภ์ดำเนินไปหลังจากสัปดาห์ที่ 15 ของการตั้งครรภ์ เพื่อระบุสภาวะทางพันธุกรรมในทารก ในรายที่มีข้อบ่งชี้
- อัลตราซาวด์วัดความยาวปากมดลูก เพื่อตรวจความเสี่ยงว่าจะคลอดก่อนกำหนดหรือไม่
- ประเมินสุขภาพทารกในครรภ์ เพื่อตรวจสอบความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นของทารกในครรภ์ และตรวจอัตราการเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์