backup og meta

ตั้งครรภ์ แฝด วิธีดูแลตัวเอง และภาวะแทรกซ้อนที่ควรรู้

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์ · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 24/03/2022

    ตั้งครรภ์ แฝด วิธีดูแลตัวเอง และภาวะแทรกซ้อนที่ควรรู้

    การตั้งครรภ์แฝด หมายถึง การตั้งครรภ์เพียงครั้งเดียว แต่มีทารกอยู่ในครรภ์ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า แฝด โดยอาจสังเกตจากหน้าท้องใหญ่กว่าปกติ และมีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ หรืออาจทราบได้จากการอัลตร้าซาวด์ขณะตั้งครรภ์ หากคุณแม่ทราบว่าตั้งครรภ์แฝด ยิ่งควรศึกษาวิธีการดูแลสุขภาพของตนเองและทารกในครรภ์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น การคลอดก่อนกำหนด ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และเพื่อให้ทารกมีพัฒนาการที่เติบโตสมวัย

    คุณแม่ตั้งครรภ์แฝดได้อย่างไร

    โดยปกติแล้ว การตั้งครรภ์เกิดจากไข่ผสมกับอสุจิ แล้วปฏิสนธิกลายเป็นตัวอ่อนฝังอยู่ที่ผนังมดลูก แต่การตั้งครรภ์แฝดโดยทั่วไปมีด้วยกัน 2 ประเภท ได้แก่ แฝดแท้ และแฝดเทียม ซึ่งเกิดจากสาเหตุ ดังนี้

  • แฝดแท้ หรือ แฝดเหมือน (Monozygotic twins) คือ แฝดที่มีหน้าตาเหมือนกัน เกิดจากการผสมของอสุจิตัวเดียวกับไข่ใบเดียว ซึ่งในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังจากปฏิสนธิ ตัวอ่อนจะแยกตัวออกจากกัน และเกิดเป็นแฝดที่อาจมีลักษณะหน้าตาเหมือนกันและเป็นเพศเดียวกัน เว้นแต่บางกรณีที่อาจส่งผลทำให้เพศแตกต่างกันซึ่งพบได้น้อย นอกจากนี้ ทารกในครรภ์อาจมีรกแยก หรือมีรกเดียวกัน หากคุณหมอตรวจสอบแล้วว่าทารกมีรกเดียวกัน คุณแม่อาจจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพบ่อยขึ้น เพราะมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะแทรกซ้อนเพิ่มขึ้น
  • แฝดเทียม หรือแฝดคล้าย (Dizygotic twins) เกิดจากการผสมของอสุจิ 2 ตัวกับไข่ 2 ใบที่ตกพร้อมกัน แล้วปฏิสนธิกลายเป็นตัวอ่อนฝังตัวในผนังมดลูกที่นำไปสู่การตั้งครรภ์แฝดที่มีรกแยกกัน ทารกแฝดเทียมอาจมีลักษณะทางกายภาพ เช่น สีตา สีผม เส้นผม ที่คล้ายกันแต่ไม่เหมือนกันทั้งหมด
  • ภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์แฝด

    ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ระหว่างตั้งครรภ์แฝด มีดังนี้

    1. โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

    เป็นภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ที่พบได้บ่อย อาจเกิดจากระดับฮอร์โมนเฮชพีเเอล (hPL) ที่สร้างจากรกมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดทำได้ยาก จนอาจส่งผลให้คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นจนนำไปสู่โรคเบาหวานที่กระทบต่อสุขภาพของทารก เช่น ทารกตัวใหญ่มากกว่าปกติ ปัญหาทางเดินหายใจ

    2. ภาวะความดันโลหิตสูง

    อาจเกิดขึ้นเมื่ออายุครรภ์ได้ 20 สัปดาห์ขึ้นไป ภาวะนี้อาจไม่เป็นอันตรายและหายได้เองหลังคลอด ยกเว้นกรณีที่ความดันโลหิตสูงต่อเนื่อง หรือเป็นมาตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพทารกในครรภ์และคุณแม่ เช่น ทำให้มีทารกน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าปกติ เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด เสี่ยงเกิดครรภ์เป็นพิษ รกลอกตัวก่อนกำหนด

    3. โรคถ่ายเลือดในครรภ์แฝด (Twin-to-twin Transfusion Syndrome หรือ TTTS)

    สำหรับในรายที่แฝดมีการใช้รกเดียวกัน จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะมีหลอดเลือดเชื่อมต่อกันผ่านทางรก ทำให้ทารกถ่ายเทเลือดให้กัน จนอาจส่งผลให้ทารกคนใดคนหนึ่งได้รับเลือดมากหรือน้อยเกินไป ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนของทารกในครรภ์ เช่น น้ำหนักตัวเเละการเจริญเติบโตที่ต่างกัน ปริมาณน้ำคร่ำต่างกัน เกิดภาวะทารกซีดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โรคหัวใจ หรืออาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

    4. การคลอดก่อนกำหนด

    คุณแม่ตั้งครรภ์แฝดอาจเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดได้จากหลายสาเหตุ เช่น มดลูกมีขนาดใหญ่กว่าครรภ์เดี่ยว ภาวะรกเกาะต่ำ ความเครียด การติดเชื้อ ซึ่งทารกที่คลอดก่อนกำหนดอาจมีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจ หรือสูญเสียการได้ยิน เป็นต้น

    วิธีดูแลตัวเองสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์แฝด

    การดูแลตัวเองสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์แฝดอาจทำได้ดังนี้

    • เข้ารับการตรวจสุขภาพบ่อยขึ้น โดยคุณหมออาจตรวจอัลตราซาวด์ครรภ์เพื่อตรวจสุขภาพ ติดตามพัฒนาการ และการเจริญเติบโตของทารก อีกทั้งการตรวจสุขภาพยังอาจช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ เบาหวานขณะตั้งครรภ์
    • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผักผลไม้สด ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ ธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวโอ๊ต พืชตระกูลถั่ว เนื้อสัตว์ไร้ไขมัน ไข่ ปลา ไก่ และจำกัดการรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต น้ำตาล โซเดียม และไขมันสูง เช่น เนย น้ำสลัด ไอศครีม พุดดิ้ง เค้กอาหารแปรรูป
    • ออกกำลังกายด้วยกิจกรรมที่เหมาะสม เช่น เดิน โยคะ พิลาทิส ว่ายน้ำ อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ เพื่อช่วยให้ฟื้นตัวหลังคลอดได้ไวขึ้น และช่วยผ่อนคลายความเครียด
    • เพิ่มน้ำหนักให้สมดุล การเพิ่มน้ำหนักไม่ได้ทำให้เสี่ยงเป็นโรคอ้วนเสมอไป ในบางกรณี เช่น ในช่วงตั้งครรภ์แฝด คุณแม่อาจจำเป็นต้องรับประทานอาหารมากขึ้นเพื่อให้มีสารอาหารไปเลี้ยงทารกในครรภ์ได้เพียงพอ โดยคุณแม่ตั้งครรภ์แฝดควรมีน้ำหนักเพิ่มอย่างน้อย 17-25 กิโลกรัม ทั้งนี้ ควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับน้ำหนักตัวที่เหมาะสม และวิธีเพิ่มน้ำหนักตัวแบบไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
    • พักผ่อนให้เพียงพอ คุณแม่ตั้งครรภ์แฝดอาจมีขนาดครรภ์ใหญ่กว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ทารกเพียงคนเดียว ซึ่งอาจส่งผลให้เหนื่อยหรืออ่อนเพลียได้ง่ายขึ้น จึงควรนอนหลับให้เพียงพอ หากนอนหงายอาจใช้หมอนหนุนหลัง หรือหากนอนตะแคงอาจใช้หมอนหนุนท้องเพื่อลดแรงกดทับ และช่วยให้หลับได้สบายขึ้น
    • ไม่สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพทารกในครรภ์ เช่น ทำให้เสี่ยงพิการแต่กำเนิด เสี่ยงบกพร่องทางการเรียนรู้ เสี่ยงเสียชีวิตกะทันหัน หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 24/03/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา