การเคลื่อนไหวหรือการดิ้นของลูกในท้องเป็นสิ่งที่แสดงถึงพัฒนาการและสุขภาพลูกได้เป็นอย่างดี คุณหมอจึงมักแนะนำให้คุณแม่นับการดิ้นเพื่อติดตามการเจริญเติบโตและความแข็งแรงของลูกในท้องอยู่เสมอ โดยปกติเด็กในท้องจะดิ้นประมาณ 10 ครั้ง/2-3 ชั่วโมง ทั้งนี้ หากอายุครรภ์อยู่ในช่วงที่ลูกควรขยับตัวสม่ำเสมอแต่คุณแม่สังเกตเห็นว่า ลูก ดิ้น น้อย ลง กว่าปกติ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ลูกกำลังนอนหลับ คุณแม่มีอายุครรภ์เยอะทำให้ลูกขยับตัวได้น้อยลง คุณแม่สามารถกระตุ้นให้ลูกในท้องตื่นตัวและกลับมาดิ้นเป็นปกติได้ด้วยการรับประทานขนม เดินเล่นในระยะทางสั้น ๆ ขยับเปลี่ยนท่าทาง เป็นต้น
[embed-health-tool-due-date]
ลูกเริ่มดิ้นตอนไหน
การดิ้นจะช่วยให้คุณแม่สังเกตพัฒนาการและการเจริญเติบโตของลูกในท้องได้ ยิ่งอายุครรภ์มากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะสามารถสัมผัสถึงการเคลื่อนไหวของลูกได้มากขึ้นเท่านั้น โดยทั่วไป คุณแม่จะเริ่มรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลูกได้เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 หรือสัปดาห์ที่ 13-27 ของการตั้งครรภ์ หากเคยตั้งครรภ์มาก่อน อาจสัมผัสถึงการดิ้นของลูกได้ตั้งแต่ 16 สัปดาห์ หรือเดือนที่ 4 ของการตั้งครรภ์ แต่หากเป็นคุณแม่มือใหม่ที่ไม่เคยมีบุตรมาก่อน อาจสัมผัสถึงการเคลื่อนไหวของลูกในท้องได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 20 หรือเดือนที่ 5 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นระยะที่สูตินรีแพทย์หรือทีมแพทย์สามารถสัมผัสการเคลื่อนไหวของทารกได้จากภายนอกผ่านการสัมผัสหน้าท้องซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีของการตั้งครรภ์ แสดงว่าทารกมีขนาดตัวและความแข็งแรงเพิ่มขึ้นตามอายุครรภ์
โดยปกติแล้ว สูตินรีแพทย์อาจแนะนำให้คุณแม่เริ่มนับการดิ้นของลูกในท้องตั้งแต่เริ่มสัมผัสได้ถึงการเคลื่อนไหวของลูก เพื่อติดตามว่าเคลื่อนไหวเป็นปกติหรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 3 หรือประมาณสัปดาห์ที่ 28 ของการตั้งครรภ์ คุณหมออาจให้นับจำนวนการดิ้นของทารกในแต่ละวันไปจนถึง 10 (Count to 10) ในเวลากลางคืนหรือก่อนคุณแม่เข้านอน หรือแนะนำให้นับภายหลังกินข้าว1ชั่วโมง ทารกควรดิ้นอย่างน้อย 3 ครั้ง เนื่องจากภายหลังกินข้าวทารกในครรภ์จะมีการตื่นตัวมากที่สุด หากพบว่าทารกมีการเคลื่อนไหวน้อยกว่าที่กำหนดอาจเป็นสัญญาญของความผิดปกติที่ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุต่อไป
ความรู้สึกตอนลูกดิ้นเป็นแบบไหน
ในขณะที่ลูกกำลังดิ้นอยู่ในท้อง คุณแม่อาจสัมผัสได้ถึงแรงกระตุกหรือรู้สึกเหมือนมีปลาตอดบริเวณหน้าท้อง ในช่วงระยะแรกเริ่มของการตั้งครรภ์อาจจะยังสัมผัสได้ไม่ชัดเจนนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ลูกจะตัวใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และแข็งแรงมากพอที่จะหมุนตัว ยืดตัว กลิ้งตัวไปมา หรือเตะต่อยท้องคุณแม่อยู่บ่อยครั้ง จนในช่วงไตรมาสที่ 3 ที่อายุครรภ์หลัง 28 สัปดาห์ หรือเดือนที่ 9-12 ของการตั้งครรภ์ ขนาดตัวของลูกจะใหญ่ขึ้นจนเต็มพื้นที่ในครรภ์ คุณแม่จะสัมผัสการเคลื่อนไหวของลูกในช่วงนี้ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากมีพื้นที่ในครรภ์ที่จำกัดมากขึ้น
ลูก ดิ้น น้อย ลง เกิดจากอะไร
สาเหตุที่ทำให้สัมผัสถึงการเคลื่อนไหวของลูกได้น้อยลง อาจมีดังนี้
- ลูกโตขึ้นและขยับตัวได้น้อยลง โดยปกติแล้วลูกในท้องจะดิ้นไปจนถึงเวลาคลอด แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ 32 เป็นต้นไป คุณแม่อาจสัมผัสถึงการดิ้นของลูกได้น้อยลง เนื่องจากลูกตัวใหญ่ขึ้นและมีพื้นที่ในครรภ์น้อยลง ทำให้ขยับตัวไปมาในมดลูกได้น้อยลง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าลูกตัวโตขึ้นทำให้สัมผัสความรู้สึกการดิ้นที่เบาลง แต่ทารกในครรภ์ที่สุขภาพดีก็ควรที่จะต้องมีการขยับตัวตามจำนวนที่ปกติอยู่ หากพบว่าจำนวนครั้งที่ทารกดิ้นน้อยลงกว่าที่ควรจะเป็นก็ควรไปพบแพทย์ต่อไป
- ลูกอาจกำลังหลับ ในบางครั้งคุณแม่ไม่สามารถสัมผัสถึงการเคลื่อนไหวของลูกได้เนื่องจากกำลังนอนหลับพักผ่อน จึงไม่ขยับตัวบ่อยเท่าที่ควร ลูกในท้องมักจะนอนหลับในช่วงกลางวันที่คุณแม่ขยับตัวบ่อยครั้ง การเคลื่อนไหวของคุณแม่อาจกล่อมให้ทารกง่วงนอนและใช้เวลานอนหลับนานเป็นพิเศษ
- คุณแม่เพิ่งมีเพศสัมพันธ์ การเคลื่อนไหวขณะมีเพศสัมพันธ์และการหดตัวของมดลูกอย่างเป็นจังหวะอาจกล่อมให้ทารกนอนหลับและขยับตัวน้อยลงได้ แต่ก็อาจเป็นกิจกรรมที่ปลุกหรือกระตุ้นให้ทารกขยับตัวได้เช่นกัน
- ตำแหน่งของทารก ในช่วงสัปดาห์ที่ 36 ของการตั้งครรภ์เป็นต้นไป ทารกอาจเริ่มเคลื่อนตัวต่ำลงและอยู่ในช่วงกลับหัวเพื่อเตรียมคลอด ซึ่งอาจทำให้คุณแม่ไม่สามารถสัมผัสถึงความเคลื่อนไหวที่หน้าท้องได้ชัดเจนเหมือนเดิม
- ความผิดปกติบางประการ เช่น ความผิดปกติของรก ความผิดปกติของมดลูก การเจริญเติบโตที่ช้าลงของทารก การไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงรกไม่เพียงพอ ทำให้ทารกมีอากาศขาดออกซิเจน อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกในท้องไม่มีแรงดิ้นตามปกติ ซึ่งสาเหตุนี้เป็นสาเหตุที่อันตราย ต้องรีบได้รับการประเมินและรักษาจากคุณหมอ
คุณแม่ควรดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อ ลูก ดิ้น น้อย ลง
หากคุณแม่สังเกตว่าลูกน้อยในท้องเคลื่อนไหวน้อยกว่าที่เคยรู้สึกได้ในทุกวัน และน้อยกว่าที่ควรจะเป็น อาจลองปรับพฤติกรรมต่อไปนี้ เพื่อช่วยกระตุ้นให้ลูกขยับตัวหรือดิ้นมากขึ้น
- ดื่มน้ำเปล่า นม หรือน้ำผลไม้เย็น ๆ อาจช่วยให้ลูกตื่นตัวและขยับตัวได้
- รับประทานขนมหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล อาจช่วยกระตุ้นให้เด็กเคลื่อนไหวมากขึ้น
- เปลี่ยนท่านั่งหรือนอน เช่น เปลี่ยนจากนั่งเอนหลังเป็นนอนหงาย เพื่อกระตุ้นให้ลูกดิ้น
- ออกไปเดินเล่น หรือออกกำลังกายเบา ๆ ก็อาจทำให้ลูกตื่นและขยับตัวมากขึ้นได้
- ถูหรือนวดเบา ๆ บริเวณหน้าท้อง อาจช่วยให้ลูกขยับตัวมากขึ้นได้
- ร้องเพลงกล่อมเด็ก เปิดเพลง หรือให้คนใกล้ตัวมาพูดคุยกับลูกในท้องใกล้ ๆ หน้าท้อง
- นั่งวางมือค้างไว้บนหน้าท้อง 5-10 นาที เพื่อให้มีสมาธิจดจ่อกับการเคลื่อนไหวของหน้าท้อง อาจทำให้สัมผัสถึงการขยับตัวของลูกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ลูกดิ้นแบบไหนที่ควรไปพบคุณหมอ
หากคุณแม่สังเกตได้ถึงการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของลูกในท้องดังต่อไปนี้ และรู้สึกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของลูกอาจติดต่อคุณหมอหรือทีมแพทย์ที่ดูแลครรภ์เพื่อรับคำปรึกษาหรือรับการตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น
- ทารกอยู่ในช่วงที่ควรเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ แต่อยู่ ๆ กลับดิ้นน้อยกว่าปกติ หรือน้อยกว่า 10 ครั้ง ภายใน 2 ชั่วโมง
- เข้าสู่ช่วงสัปดาห์ที่ 24 ของการตั้งครรภ์แล้ว แต่คุณแม่ยังสัมผัสถึงการเคลื่อนไหวของลูกในท้องไม่ได้เลย
- คุณแม่สังเกตว่าลูกดิ้นน้อยลง ร่วมกับมีอาการผิดปกติ เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอด
คุณแม่ไม่สามารถสัมผัสถึงการเคลื่อนไหวของทารกได้อีกต่อไป