backup og meta

อาการไข่ตก และวิธีนับวันตกไข่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์

อาการไข่ตก และวิธีนับวันตกไข่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์

อาการไข่ตก เป็นสัญญาณที่บอกถึงช่วงเวลาที่ไข่สุกเต็มที่ พร้อมเคลื่อนตัวไปยังท่อนำไข่รอการผสมกับอสุจิ หากไม่มีการผสม ไข่ก็จะสลายไป ทำให้ระดับฮอร์โมนลดลง และเยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน ในช่วงที่ไข่ตก บางคนอาจมีอาการปวดท้องเล็กน้อย เป็นตะคริว ตกขาว อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น คัดตึงเต้านม หรือท้องผูก ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณที่ช่วยบ่งชี้ถึงช่วงเวลาไข่ตกและอาจช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้

[embed-health-tool-ovulation]

ไข่ตก คืออะไร

ไข่ตก (Ovulation) คือ ช่วงเวลาที่ไข่สุกเต็มที่โดยร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนลูทีไนซิง (Luteinizing Hormone) เพื่อกระตุ้นให้รังไข่ปล่อยไข่และเคลื่อนตัวไปยังท่อนำไข่เพื่อรอการผสมกับอสุจิในทุก ๆ เดือน โดยไข่จะเติบโตเต็มที่ในรังไข่ข้างใดข้างหนึ่งสลับกันไปและจะถูกปล่อยออกจากรังไข่ จากนั้น ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้น เพื่อให้ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิ จนกลายเป็นตัวอ่อนไปฝังตัวที่ผนังมดลูกและเจริญเติบโต แต่หากไม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น เยื่อบุโพรงมดลูกจะลอกตัวออกและหลั่งออกมาเป็นประจำเดือน

อาการไข่ตก เป็นอย่างไร

การสังเกตอาการไข่ตกอาจช่วยยืนยันช่วงเวลาไข่ตกเพื่อเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ได้ ดังนี้

  • การเปลี่ยนแปลงของตกขาว ช่วงเวลาไข่ตกอาจสังเกตเห็นเมือกใส หนาและลื่นได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งอาจมีลักษณะคล้ายไข่ขาว และหลังจากไข่ตก เมือกและสารคัดหลั่งอาจมีลักษณะขาวขุ่นและข้นมากขึ้นหรืออาจไม่มีเมือกหลั่งออกมาเลย
  • การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิร่างกาย ช่วงเวลาไข่ตก ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้นเล็กน้อยประมาณครึ่งองศาเซลเซียส
  • อาการปวดท้องจากไข่ตก ซึ่งอาจปวดเพียงข้างใดข้างหนึ่ง โดยอาจมีสาเหตุมาจากผนังรังไข่บวมและตึงจากไข่ที่โตเต็มที่ทำให้กระตุ้นเส้นประสาทจนเกิดอาการปวด ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงส่งผลต่อการบีบรัดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ผนังรังไข่แตก หรืออาจเกิดจากท่อนำไข่บีบรัดตัวขณะไข่ตกทำให้มีอาการปวดท้อง
  • เจ็บคัดตึงเต้านม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน ส่งผลให้กรดไขมันกาโมลีนิก (Gamolenic Acid) ลดลง จึงทำให้มีอาการปวดและคัดตึงเต้านม
  • ความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงไข่ตกเลือดจะไหลมาหล่อเลี้ยงช่องคลอดมากเป็นพิเศษ และสร้างน้ำหล่อลื่นมากขึ้นเพื่อง่ายต่อการมีเพศสัมพันธ์
  • ท้องอืดหรือท้องผูก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนส่งผลให้ระบบย่อยอาหารมีประสิทธิภาพในการทำงานต่ำลง

สิ่งที่ควรรู้เพื่อเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์

การเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ในช่วงวันไข่ตกสามารถทำได้ ดังนี้

  • การนับรอบเดือน การคำนวณวันตกไข่จะใช้ได้เฉพาะกับผู้หญิงที่มีรอบเดือนสม่ำเสมอเท่านั้น การนับวันไข่ตก จะนับในช่วงประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนที่ประจำเดือนรอบใหม่จะมา เช่น ผู้หญิงที่มีรอบเดือน 28 วัน วันไข่ตกจะอยู่ในช่วงวันที่ 14 ของรอบเดือน (นับวันที่ประจำเดือนมาวันแรกเป็นวันที่ 1 ของรอบเดือน) เมื่อนับวันไข่ตกได้แล้ว ควรมีเพศสัมพันธ์ในช่วงก่อนวันไข่ตกประมาณ 2-3 วัน เพื่อให้อสุจิเข้าไปรอผสมกับไข่ก่อนวันไข่ตก
  • การมีเพศสัมพันธ์บ่อยขึ้น โอกาสตั้งครรภ์อาจเพิ่มสูงขึ้นหากคู่รักมีเพศสัมพันธ์ทุกวันหรือ 2-3 วัน/สัปดาห์ เนื่องจาก ไข่มีอายุประมาณ 24 ชั่วโมงในท่อนำไข่ เพื่อรอการผสมกับอสุจิ ส่วนอสุจิสามารถมีชีวิตอยู่ในช่องคลอดได้ประมาณ 48-72 ชั่วโมง หรือ 2-3 วัน หากมีเพศสัมพันธ์บ่อยขึ้นอาจเพิ่มโอกาสที่อสุจิจะเข้าไปรอผสมกับไข่ได้มากขึ้น
  • การรักษาน้ำหนัก ผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกินหรือน้ำหนักน้อยเกินไปส่วนใหญ่อาจประสบภาวะตกไข่ผิดปกติ จึงอาจส่งผลให้การนับวันไข่ตกผิดพลาดได้ จึงควรรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What is Ovulation?. https://americanpregnancy.org/getting-pregnant/infertility/understanding-ovulation/. Accessed March 14, 2022

Ovulation signs. https://www.pregnancybirthbaby.org.au/ovulation-signs. Accessed March 14, 2022

Ovulation Symptoms. https://www.webmd.com/baby/am-i-ovulating. Accessed March 14, 2022

How can I tell when I’m ovulating?. https://www.nhs.uk/common-health-questions/womens-health/how-can-i-tell-when-i-am-ovulating/. Accessed March 14, 2022

How to get pregnant. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/getting-pregnant/in-depth/how-to-get-pregnant/art-20047611#:~:text=The%20highest%20pregnancy%20rates%20occur,the%20end%20of%20your%20period. Accessed March 14, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/04/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

คนท้อง อาการและการดูแล

อาการคนท้องแรกๆ กับวิธีการสังเกต


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา