การตั้งครรภ์มีทั้งหมด 3 ไตรมาส โดยคุณแม่ที่ตั้ง ท้อง 3 เดือน หรือ 12 สัปดาห์นั้นจะอยู่ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ที่อาจเริ่มมีสุขภาพร่างกาย อารมณ์และจิตใจเปลี่ยนแปลง รวมถึงทารกในครรภ์ที่อาจมีการเจริญเติบโตอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งช่วงเวลานี้คุณแม่ควรเอาใจใส่ด้านการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ควรยกของหนักจนกว่าจะคลอด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และควรเข้ารับการตรวจครรภ์ทุกครั้งตามที่คุณหมอกำหนด
[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]
การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ท้อง 3 เดือน
เมื่อคุณแม่เข้าสู่ช่วงการตั้งท้อง 3 เดือน อาการแพ้ท้องอาจจะเริ่มดีขึ้น ความรู้สึกอยากอาหารเพิ่มขึ้นหรือบางคนอาจไม่มีความอยากอาหารใด ๆ แต่ส่วนใหญ่การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด คือ
-
เต้านมขยาย เจ็บหน้าอก
เป็นอาการที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ทำให้ท่อน้ำนมเตรียมพร้อมให้ลูกได้กินหลังคลอด โดยอาจทำให้คุณแม่มีหน้าอกขยาย รวมถึงเจ็บหน้าอกในช่วงไตรมาสแรก ซึ่งคุณแม่สามารถบรรเทาอาการเจ็บหน้าอกได้ด้วยการเปลี่ยนเสื้อชั้นในให้มีขนาดที่พอดีใเต้านม ไม่คับ หรือไม่หลวมจนเกินไป และต้องไม่มีโครง และไม่ควรกลับไปใช้เสื้อชั้นในขนาดเดิมจนกว่าลูกจะหย่านม
-
มีเลือดออกทางช่องคลอด
คุณแม่ตั้งครรภ์บางคนมีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อยในช่วงการตั้งครรภ์ช่วงไตรมาสแรก เนื่องจากเป็นสัญญาณของการปฏิสนธิตัวอ่อนที่ได้ฝังตัวอยู่ในมดลูก แต่หากคุณแม่มีเลือดออกปริมาณมาก พร้อมมีอาการตะคริวบริเวณช่องท้อง หรือปวดท้องรุนแรง ควรเข้าพบคุณหมออย่างทันท่วงที เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงการตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือภาวะแท้งบุตร
-
น้ำหนักเพิ่ม
คุณแม่ที่น้ำหนักเพิ่มขึ้นถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการตั้งครรภ์ในช่วงไตรมากแรก แต่ถึงอย่างไรหากคุณแม่มีน้ำหนักเพิ่มมากจนเกินไปคุณหมออาจช่วยแนะนำวิธีการลดน้ำหนักลงหรือวิธีเพิ่มน้ำหนักในระดับที่พอดี ซึ่งไตรมาสแรกคุณแม่ตั้งครรภ์ควรมีน้ำหนักเพิ่มอยู่ที่ 3-6 ปอนด์ (1.36-2.72 กิลโกรัม) และควรรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ ขนมปังโฮลเกรน และเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน
-
อาการท้องผูก
ช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรกระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) อาจเพิ่มขึ้นทำให้เข้าไปชะลอการหดตัวของกล้ามเนื้อในระบบย่อยอาหาร คุณแม่อาจแก้ไขปัญหาอาหารท้องผูกได้ด้วยการดื่มน้ำปริมาณมาก รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์หรือออกกำลังกายในระดับเบา
-
ปัสสาวะบ่อย
เนื่องจากมดลูกและทารกในครรภ์เริ่มเจริญเติบโตจนอาจส่งผลให้เกิดแรงกดดันบริเวณกระเพาะปัสสาวะ ทำให้คุณแม่ปัสสาวะบ่อยขึ้น ถึงอย่างไรคุณแม่ตั้งครรภ์ก็ไม่ควรที่จะลดปริมาณการดื่มน้ำเพียงเพราะไม่อยากปัสสาวะบ่อย ควรดื่มน้ำให้เพียงพอตามปกติเพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ
-
รู้สึกเมื่อยล้า เหนื่อยง่าย และพักผ่อนบ่อยในระหว่างวัน
เนื่องจากร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์ในแต่ละวันอาจทำงานหนัก เพื่อรองรับทารกที่กำลังเจริญเติบโตอยู่ภายในท้อง จึงส่งผลให้คุณแม่มีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย และมักจะงีบหลับในระหว่างวันบ่อย ๆ
-
อารมณ์อาจแปรปรวน
อาการเหนื่อยล้าที่เพิ่มขึ้นรวมถึงฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสแรก มีอารมณ์แปรปรวน เช่น จากมีความสุขก็เปลี่ยนเป็นร้องไห้ภายในไม่กี่วินาที คุณพ่อหรือคนในครอบครัวควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับอารมณ์ของคุณแม่ตั้งครรภ์ พยายามพูดคุยหรือหากิจกรรมทำเพื่อให้คุณแม่ผ่อนคลาย
พัฒนาการของทารก 3 เดือน
ทารกในครรภ์จะมีร่างกายที่ประกอบด้วยแขน ขา นิ้วมือ เท้า นิ้วเท้า ที่สมบูรณ์ เริ่มมีการเคลื่อนไหวในท้อง และเริ่มพัฒนาเล็บมือเล็บเท้า หูชั้นนอก ฟัน อวัยวะเพศ ลำไส้ ตับ ระบบไหลเวียนโลหิตในลำดับถัดมา ช่วงนี้ทารกจะมีลำตัวยาวประมาณ 2.40 นิ้ว (61 มิลลิเมตร) และมีน้ำหนัก 14 กรัม หรืออาจมากน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับการดูแลทารกจากคุณแม่
ข้อควรระวังช่วงท้อง 3 เดือน
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรระวังการรับประทานอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน ใช้สารเสพติด สูบบุหรี่ อาหารที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย อย่าง ชีส โยเกิร์ต เนื้อสัตว์ไม่ผ่านการปรุงสุก อาหารแปรรูป อาหารหมักดอง เพราะอาจทำลายระบบประสาทและสมองของทารกที่กำลังพัฒนา นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมี เช่น ยาย้อมผม น้ำยาปรับอากาศ น้ำยาทำความสะอาด ยาฆ่าแมลง ตะกั่ว เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้พัฒนาการทารกล่าช้า ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ คลอดก่อนกำหนด พิการแต่กำเนิด จนนำไปสู่การแท้งบุตรได้
การดูแลสุขภาพคุณแม่ตั้งท้อง 3 เดือน
การดูแลสุขภาพคุณแม่ตั้งครรภ์สู่ทารกในครรภ์ สามารถปฏิบัติได้ตามวิธี ดังต่อไปนี้
-
รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
ระหว่างการตั้งครรภ์คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ แอปเปิ้ลแดง กล้วย บลูเบอร์รี่ แครอท ผักใบเขียว เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ขนมปังโฮลเกรน นมไขมันต่ำ ถั่ว เต้าหู้ ธัญพืช ไข่ และควรเพิ่มแคลอรีอย่างน้อย 100-300 กิโลแคลอรี่ต่อวัน เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
นอกจากนี้คุณหมออาจแนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์รับประทานอาหารเสริมที่ประกอบด้วยโฟเลตในปริมาณ 400 ไมโครกรัม เพื่อป้องกันทารกพิการแต่กำเนิด และกรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น ดีเอชเอ (DHA) อีพีเอ (EPA) เพื่อพัฒนาสมองทารกในครรภ์
อาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงคืออาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก เพราะอาจเสี่ยงให้เกิดโรคทอกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) และโรคลิสเทอเรีย (Listeriosis) เพราะอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อที่นำไปสู่ภาวะแท้งบุตร
-
ดื่มน้ำปริมาณมาก
การดื่มน้ำในปริมาณมากอาจช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนด อาการปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ นิ่วในไต ท้องผูก และริดสีดวงทวาร คุณแม่อาจสังเกตอาการขาดน้ำได้จากสีของปัสสาวะ หากมีสีเเหลืองเข้มอาจเป็นสัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าร่างกายต้องการน้ำ แต่หากเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีใส อาจมีความหมายว่าร่างกายได้รับความชุ่มชื้นจากการดื่มน้ำอย่างเพียงพอ
-
ออกกำลังกายเบา ๆ
การออกกำลังกายเป็นประจำช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น โยคะ แอโรบิก อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์อาจทำให้คุณแม่ควบคุมอารมณ์จากฮอร์โมนที่เปลี่ยนได้เป็นอย่างดีและช่วยป้องกันการเพิ่มของน้ำหนัก ลดความเสี่ยงของอาการนอนไม่หลับ ลดปัญหาการปวดเมื่อย ทั้งยังอาจช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูเร็วหลังคลอด
-
พักผ่อนให้เพียงพอ
จากการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับฮอร์โมนในร่างกายและอารมณ์แปรปรวน รวมถึงการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และอาการแพ้ท้องในช่วงไตรมาสแรก ที่อาจส่งผลให้คุณแม่เหนื่อยง่าย อ่อนแรง คุณหมออาจแนะนำให้คุณแม่นอนพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8-9 ชั่วโมง เพื่อให้คุณแม่มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงซึ่งจะช่วยให้ทารกมีพัฒนาการที่สมบูรณ์
-
ไม่สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน
เนื่องจากสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ ทำให้การเจริญเติบโตและพัฒนาการทารกผิดปกติ เช่น มีใบหน้าไม่สมบูรณ์ ระบบส่วนกลางเสื่อม บกพร่องด้านการเรียนรู้การเข้าใจ ทำลายปอดที่กำลังพัฒนา อัตราการเต้นของหัวใจทารกเปลี่ยนแปลง หรืออาจนำไปสู่การแท้งบุตรได้
สำหรับเด็กบางคนในช่วงหลังคลอดอาจทำให้พัฒนาการล่าช้า ไอคิวต่ำ ปากแหว่งเพดานโหว่ มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นและการได้ยิน รวมถึงกระทบต่ออวัยวะส่วนต่าง ๆ เช่น ไต ตับ กระดูก และหัวใจทำงานผิดปกติ เป็นต้น
-
ฉีดวัคซีน
หากคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ อาจทำให้มีแน้วโน้มเจ็บป่วยถึงขั้นรุนแรงและส่งผลให้ทารกได้รับผลกระทบร่วมด้วย เพราะการฉีดวัคซีนป้องกันโรคทุกชนิดอาจะช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้ทารกติดโรคที่คุณแม่เป็น เนื่องจากระหว่างตั้งครรภ์ร่างกายของคุณแม่ที่ฉีดวัคซีนจะมีแอนติบอดีที่ส่งไปยังทารก ทำให้ทารกอาจห่างไกลจากการเจ็บป่วยในช่วง 2-3 เดือนแรกหลังคลอด
-
งดการเข้าซาวน่าหรืออยู่ในอากาศร้อน
คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสแรกควรละเว้นการซาวน่า แช่อ่างน้ำร้อน หรือแม่แต่อยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว เพราะอาจทำให้ร่างกายขับเหงื่อในปริมาณมากและอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำ มีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าการที่ร่างกายขาดน้ำ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่นำไปสู่การแท้งบุตรได้ถึง 2 เท่า
-
เข้ารับการตรวจสุขภาพครรภ์
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพครรภ์ตามวันเวลาที่คุณหมอกำหนด หรือหากสังเกตว่าตัวเองมีอาการผิดปกติบางอย่าง เช่น อาการเจ็บท้อง ควรรีบเข้าปรึกษาคุณหมอทันที เพื่อตรวจอาการอย่างละเอียดด้วยการอัลตร้าซาวด์ดูทารกในครรภ์ว่ามีความผิดปกติหรือไม่