พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 5 ทารกในครรภ์มักมีขนาดตัวเท่ากับเมล็ดงา มีรูปร่างลักษณะเหมือนลูกอ๊อดตัวเล็กจิ๋วมากกว่าทารก หลอดประสาทจะก่อให้เกิดเส้นประสาทไขสันหลังในตัวอ่อน และสร้างสมองและโพรงในช่วงกลางลำตัว ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นหัวใจในที่สุด รกและเยื่อหุ้มเซลล์อื่น ๆ จะมีรูปร่างเหมือนนิ้วมือ สารอาหารจากแม่จะเริ่มส่งผ่านทางสายรกและเยื่อหุ้มเซลล์ต่าง ๆ เพื่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการต่าง ๆ ต่อไป
[embed-health-tool-due-date]
พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 5
ลูกจะเติบโตอย่างไร
สำหรับพัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 5 ทารกในครรภ์จะมีขนาดตัวเท่ากับเมล็ดงา รูปร่างลักษณะของทารกในสัปดาห์ที่ 5 นี้อาจยังดูเหมือนลูกอ๊อดตัวเล็กจิ๋วมากกว่าทารก
ร่างกายทารกในสัปดาห์นี้ประกอบด้วยเซลล์มากมาย หลอดประสาทจะก่อให้เกิดเส้นประสาทไขสันหลังในตัวอ่อน และสร้างสมองและโพรงในช่วงกลางลำตัว ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นหัวใจในที่สุด รกและเยื่อหุ้มเซลล์อื่นๆ จะมีรูปร่างเหมือนนิ้วมือ สารอาหารจากแม่จะผ่านเข้าสู่รกและเยื่อหุ้มเซลล์ต่าง ๆ เพื่อหล่อเลี้ยงให้ทารกเติบโตต่อไป
ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและรูปแบบการใช้ชีวิต
ร่างกายจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
ความเปลี่ยนแปลงหนึ่งของหญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่คือ อารมณ์แปรปรวน ขึ้น ๆ ลง ๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่พบได้ในระหว่าง ตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์อาจรู้สึกร่าเริง หดหู่ โกรธ มีความสุข รู้สึกไม่มั่นคง สลับกันไปมาได้ภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง ซึ่งอารมณ์แสนแปรปรวนของหญิงตั้งครรภ์นี้ เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน รวมถึงความเครียด หรือวิตกกังวลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์เอง
ความรู้สึกแปลก ๆ หรืออารมณ์แปรปรววนมักเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงเดือนที่สองของการตั้งครรภ์ และอาจปรากฏให้เห็นอีกครั้งในช่วงเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ปกติ หญิงตั้งครรภ์ประมาณ 10-12 เปอร์เซ็นต์ มักมีภาวะซึมเศร้าในระหว่างตั้งครรภ์ และซึมเศร้าหลังคลอด ฉะนั้น หากรู้สึกหดหู่เป็นเวลานานเกินกว่า 2 สัปดาห์ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำ และเข้ารับการรักษาทันที
ควรระมัดระวังอะไรบ้าง
สิ่งหนึ่งที่หญิงตั้งครรภ์ไม่แน่ใจก็คือ ระหว่างตั้งครรภ์ สามารถออกกำลังกายได้หรือไม่ หรืออาจเคยได้ยินมาว่าคนท้องไม่ควรออกกำลังกาย แต่ความจริงแล้ว หญิงตั้งครรภ์ควรออกกำลังกายเบา ๆ เช่น ว่ายน้ำ โยคะ เพราะการออกกำลังกายตอนท้องมีประโยชน์หลายประการ เช่น
- ช่วยจัดการน้ำหนักส่วนเกิน
- ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ปลอดโปร่ง จึงอาจป้องกันความรู้สึกวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้าได้
- ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น จึงช่วยลดอาการปวดหลัง หรือตะคริวได้
- ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ร่างกายมีความพร้อมในการคลอดมากขึ้น ทั้งยังคลอดบุตรได้ง่ายกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายในช่วงตั้งครรภ์ เป็นประจำส่งผลดีต่อทั้งหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตาม หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรออกกำลังกายหักโหม แต่ควรเคลื่อนไหวร่างกาย หากไม่แน่ใจเกี่ยวกับการออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์ ควรปรึกษาคุณหมอก่อน
การพบคุณหมอ
ควรปรึกษาคุณหมออย่างไรบ้าง
หญิงตั้งครรภ์ ควรฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ และควรไปตรวจสุขภาพตามที่คุณหมอนัดหมายทุกครั้ง การฝากครรภ์ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการดูแลสุขภาพของมารดาและทารก โดยปกติแล้วหญิงตั้งครรภ์ จะไปพบคุณหมอครั้งแรกเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 8 สัปดาห์ โดยคุณหมอจะให้ทำการทดสอบบางอย่างเพื่อตรวจหาและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
หากรับประทานหรือใช้ยาชนิดใดอยู่ควรแจ้งให้คุณหมอทราบด้วย เนื่องจากยาบางตัวที่อาจดูเหมือนปลอดภัยและสามารถหาซื้อได้ทั่วไป ไม่จำเป็นต้องสั่งจ่ายโดยคุณหมอ ความจริงแล้วอาจเป็นอันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ได้
การทดสอบที่ควรรู้
เมื่อไปพบคุณหมอตามกำหนดนัดหมาย คุณหมอจะทำการตรวจร่างกาย เช่น ชั่งน้ำหนัก วัดความสูง วัดความดันโลหิต รวมทั้งสุขภาพโดยรวม การตรวจกระดูกเชิงกรานนับเป็นเรื่องสำคัญในกระบวนการตรวจสุขภาพตั้งครรภ์
ในช่วงที่มีการตรวจสอบช่องคลอดนั้น คุณหมอจะใช้เครื่องมือที่เรียกว่าคีมปากเป็ด ซึ่งจะช่วยให้คุณหมอเห็นได้อย่างชัดเจนว่าปากมดลูกเปิดกว้างขนาดไหน ซึ่งช่วยให้รู้ถึงการเปลี่ยนแปลง และช่วยให้รู้อายุการตั้งครรภ์ด้วย
สุขภาพและความปลอดภัย
ควรทำอย่างไรเพื่อให้สุขภาพดีและปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์
ในช่วง ตั้งครรภ์ ระบบภูมิคุ้มกันมักอ่อนแอลง ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ซึ่งสิ่งหนึ่งที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อให้หญิงตั้งครรภ์ก็คือ อาหาร อาจนำไปสู่โรคติดเชื้อบางชนิดได้ เช่น โรคติดเชื้อลิสเทอเรีย (Listeriosis) โรคติดเชื้อทอกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) ซึ่งอาจร้ายแรงจนถึงขั้นทำให้แท้งลูก หรือเสียชีวิตได้ หากคุณแม่ท้องไม่อยากมีปัญหาสุขภาพเพราะการรับประทานอาหาร ควรหลีกเลี่ยงอาหารต่อไปนี้
- นม น้ำผลไม้ แอปเปิลไซเดอร์ที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์
- ไข่ดิบ หรืออาหารและขนมที่ใช้ไข่ดิบเป็นส่วนประกอบโดยไม่ปรุงสุก เช่น มูส ทีรามิสุ ไอศกรีมไข่แข็ง
- เนื้อสัตว์ หรืออาหารทะเลที่ไม่ผ่านการปรุงสุก เช่น ปูดอง ปลาดิบ
- เนื้อสัตว์แปรรูป หรือเนื้อสัตว์อบแห้ง เช่น แหนม ไส้กรอก แฮมที่ไม่ผ่านการปรุงสุก
- ปลาที่มีสารปรอทสูง ได้แก่ ปลาฉลาม ปลากระทงดาบ ปลาอินทรีย์ ปลาไทล์ (Tilefish)
เชื้อทอกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) นอกจากจะติดต่อสู่คนได้ผ่านการรับประทานเนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หมู สัตว์ปีก เช่น นก ไก่ ได้แล้ว ยังสามารถแพร่เชื้อผ่านอุจจาระแมวหรือสัตว์ตระกูลแมวได้ด้วย ฉะนั้น หญิงมีครรภ์จึงควรหลีกเลี่ยงการอุ้มแมว เล่นกับแมว หรือล้างถาดอุจจาระแมว