การตั้งครรภ์ชวงไตรมาสที่ 2 หมายถึงช่วงสัปดาห์ที่ 14-27 ของการตั้งครรภ์ หรือประมาณเดือนที่ 4-6 ของการตั้งครรภ์ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์การเปลี่ยนแปลงในไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์นี้อาจมีทั้งขนาดหน้าท้องของคุณแม่ที่ขยายใหญ่มากขึ้น บางคนอาจมีอาการปวดท้อง ปวดหลัง หรือเป็นตะคริวมากขึ้น แต่อาการแพ้ท้องอาจบรรเทาลง สำหรับทารกในครรภ์อาจสามารถบ่งบอกเพศของทารกได้แล้ว รวมถึงลูกอาจจะเริ่มดิ้น ดังนั้น จึงควรใส่ใจการดูแลสุขภาพทั้งสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์
[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]
การเปลี่ยนแปลงในไตรมาสที่ 2 ของคุณแม่ตั้งครรภ์ มีอะไรบ้าง
เมื่อเข้าสู่ช่วง การตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ย่อมเกิดขึ้นกับคุณแม่ตั้งครรภ์อย่างแน่นอน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ มีดังต่อไปนี้
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย
สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นทางร่างกายของ คุณแม่ตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2 ได้แก่
- หน้าท้องและหน้าอกที่ใหญ่ขึ้น เมื่อหน้าอกของคุณแม่ขยายใหญ่ขึ้น จำเป็นจะต้องหาเสื้อชั้นในที่ช่วยพยุงเต้านมของคุณได้ดี รวมไปถึงเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย
- รู้สึกปวดในช่องท้องส่วนล่าง เกิดขึ้นเมื่อมดลูกมีการขยายตัวในระหว่างตั้งครรภ์ ลองอาบน้ำอุ่นและออกกำลังกายเพื่อผ่อนคลาย ซึ่งอาจลดอาการนี้ได้ ถ้าปวดหน่วงท้องน้อยมากสามารถใช้เข็มขัดพยุงครรภ์เพื่อช่วยลดอาการได้
- ปวดหลัง เนื่องจากน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ซึ่งน้ำหนักส่วนใหญ่ควรเพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 1-2 กก.
- ปวดขา หรือการเป็นตะคริว อาจถือเป็นเรื่องปกติที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องประสบพบเจอ โดยสามารถเกิดในช่วงกลางดึก อาจเกิดจากการขาดแคลเซียมหรือแม็กนีเซียม ซึ่งสามารถลดอาการเหล่านี้โดยรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและแม็กนีเซียมสูงหรือกินยาบำรุงแคลเซียมหรือแม็กนีเซียมก็ได้คุณแม่อาจจะเลือกสวมรองเท้าที่สบายรองรับน้ำหนักตัวได้ดี และทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการสวมใส่ส้นสูง
- เวียนหัว หรือวิงเวียนศีรษะ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระบบไหลเวียนโลหิต แนะนำให้ดื่มน้ำเพิ่มขึ้น หลีกเลี่ยงการยืนเป็นระยะเวลานาน และระวังเวลาลุกนั่งเร็ว ๆ ร่างกายจะปรับความดันไม่ทันทำให้เวียนหัวหรือหน้ามืดได้
- การเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง เกิดจากเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนที่กระตุ้นให้เซลล์สร้างเม็ดสี (เมลานิน) ในผิวเพิ่มขึ้น รวมถึงอาจมีหน้าท้องลายขึ้น
- ปัญหาทางทันตกรรม อาจมีเลือดออกตามไรฟันได้ง่ายขณะแปรงฟัน ควรเปลี่ยนไปใช้แปรงสีฟันที่มีความนุ่มมากขึ้น ควรพบทัตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟัน และขูดหินปูนในไตรมาสสองด้วย
- ตกขาว หากตกขาวมีลักษณะเหนียว ใส หรือขาวนี่เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้ามีกลิ่นแรง หรือเปลี่ยนเป็นสีอื่น ควรรีบปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์
- Braxton hicks contraction อาจจะเริ่มมีความรู้สึกว่าท้องแข็ง ตึงท้อง โดยเฉพาะหลังจากเดินนานๆ หรือมีเพศสัมพันธ์ แต่ถ้าอาการเป็นถี่ขึ้นหรือ สม่ำเสมอขึ้นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันภาวะคลอดก่อนกำหนด
การเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์
โดยในช่วง การตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 คุณแม่อาจจะรู้สึกเหนื่อยน้อยลง และเริ่มมีเวลาเตรียมตัวสำหรับลูกน้อยมากขึ้น แต่บางครั้งอาจมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการคลอดลูก การเลี้ยงลูก ซึ่งความรู้สึกวิตกกังวลไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดขึ้น แต่ถ้าหากมีรู้สึกถึงความผิดปกติทางอารมณ์มากขึ้น ควรรีบปรึกษาคุณหมอ
การเปลี่ยนแปลงไตรมาสที่ 2 ของทารกในครรภ์
พัฒนาการทารกในครรภ์ช่วงไตรมาสที่ 2 จะเริ่มนับตั้งแต่การตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 14 โดยอาจมีความเปลี่ยนแปลงดังนี้
- ขนาดทารกในครรภ์จะยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร
- นิ้วมือนิ้วเท้าพัฒนาขึ้นจนเป็นรูปเป็นร่างอย่างเห็นได้ชัด
- อวัยวะเพศเริ่มพัฒนา อาจสามารถบอกได้ว่าเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย
- ลูกอาจเริ่มดิ้น ซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์อาจสามารถสังเกตได้จากแรงสั่นสะเทือนภายในท้อง