พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 25 เป็นช่วงที่ทารกในครรภ์อาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอาจมีขนาดตัวเท่ากับมะเขือยาว หัวใจเต้นประมาณ 140 ครั้ง/นาที นอกจากนี้ ประสาทสัมผัส สมอง ปอด และระบบย่อยอาหารจะเริ่มพัฒนา อย่างไรก็ตาม ปอดจะยังพัฒนาไม่เต็มที่
[embed-health-tool-due-date]
พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 25
ทารกในครรภ์จะเติบโตอย่างไร
สำหรับพัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 25 นี้ จะมีน้ำหนักประมาณ 680 กรัม และสูงประมาณ 376 เซนติเมตร โดยวัดจากศีรษะถึงปลายเท้า
ส่วนใหญ่แล้วทารกน้อยในครรภ์จะหลับอยู่ตลอดเวลา แต่บางครั้งก็อาจสังเกตได้ว่าทารกตื่นอยู่ โดยคุณแม่ตั้งครรภ์จะรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ได้ง่ายขึ้นเมื่ออยู่นิ่ง ๆ ตอนนี้ทารกในครรภ์สามารถได้ยินเสียง ซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์สามารถพูดคุยและเปิดเพลงให้ทารกในครรภ์ฟังได้ อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงเสียงดังจนเกินไป
ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและรูปแบบการใช้ชีวิต
ร่างกายจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
ปัญหาที่คุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่พบในช่วงนี้ คือ ปัญหาเกี่ยวกับการย่อยอาหาร ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนไม่เพียงแต่ทำให้ท้องว่าง แต่ยังทำให้ลิ้นปิดเปิดกระเพาะอาหารคลายตัว จึงทำให้กระเพาะอาหารปิดไม่สนิท อาจส่งผลให้อาหารที่กินเข้าไปและกรดจากกระเพาะอาหารเคลื่อนตัวไปยังหลอดอาหาร จนเกิดอาการกรดไหลย้อน หรืออาการแสบร้อนกลางอก จนรู้สึกทรมาน อึดอัด ไม่สบายตัว
นอกจากนั้น ในสัปดาห์ที่ 25 นี้ ถือเป็นการตั้งครรภ์เกินครึ่งทางแล้ว ดังนั้น กระเพาะอาหารอาจถูกมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นกดทับ ควรแบ่งอาหารเป็นหลายมื้อ แต่รับประทานอาหารแต่ละมื้อให้น้อยลง และควรหลีกเลี่ยงอาหารมันหรือรสจัด
ควรระมัดระวังอะไรบ้าง
คุณแม่ตั้งครรภ์อาจรู้สึกอ่อนเพลีย ดังนั้น หากต้องการออกกำลังกายควรเลือกประเภทการออกกำลังกายให้เหมาะสม เช่น โยคะคนท้อง เดินในน้ำ และควรรับประทานอาหารว่าง เช่น ผลไม้แห้ง โยเกิร์ตปั่น เพื่อเติมพลังก่อนออกกำลังกาย และเป็นการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือน้ำตาล และไม่ควรออกกำลังกายหักโหมเกินไป
การพบคุณหมอ
ควรปรึกษาคุณหมออย่างไรบ้าง
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรตรวจสอบการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น โดยในช่วงเช้าลูกน้อยจะเคลื่อนไหวน้อยกว่าในตอนกลางคืน โดยใช้วิธีตั้งนาฬิกาจับเวลา แล้วเริ่มนับการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นการถีบ การเตะ การดิ้น การสะบัด การเขย่า หรือการกลิ้งตัว นับได้ถึง 10 แล้วหยุด พร้อมจดเวลาเอาไว้ด้วย
โดยปกติ ทารกในครรภ์จะเคลื่อนไหว 10 ครั้งใน 10 นาที หรือบางครั้งอาจมากกว่านั้น แต่หากคุณแม่ตั้งครรภ์นับได้ไม่ครบ 10 ครั้งใน 10 นาที อาจดื่มน้ำผลไม้หรือกินอะไรเบา ๆ ลุกเดินไปเดินมาเล็กน้อยและลูบหน้าท้องไปด้วย จากนั้นเอนกายนอน ทำตัวตามสบายแล้วลองนับต่อ ถ้า 2 ชั่วโมงผ่านไปแล้วยังนับได้ไม่ถึง 10 ครั้ง ควรรีบปรึกษาคุณหมอทันที ยิ่งใกล้วันครบกำหนดคลอด อาจต้องหมั่นเช็คการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์สม่ำเสมอ
สุขภาพและความปลอดภัย
ปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อให้สุขภาพดีและปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์
ระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถยกสิ่งของต่าง ๆ ได้ แต่ไม่ควรหนักเกินไป หรือหากต้องการออกกำลังกายด้วยการยกน้ำหนักอาจปรึกษาคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญถึงท่าทางที่ถูกต้อง การออกกำลังกายเป็นประจำย่อมส่งผลดีต่อร่างกายหลังคลอด รวมถึงรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดีและเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงอีกด้วย
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ต้องการบำรุงหรือดูแลผิวด้วยการทำทรีตเมนต์ในสปา ไม่ควรทำสปาที่ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น เช่น การอาบโคลน การอาบส่าหร่าย ซาวน่า การแช่น้ำร้อน เพราะอาจทำให้ร่างกายร้อนเกินไป และอาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากจนเข้าสู่ภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับคุณแม่และทารกในครรภ์