backup og meta

ตะคริวตอนวิ่ง ฝันร้ายของนักวิ่งที่ป้องกันได้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย pimruethai · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    ตะคริวตอนวิ่ง ฝันร้ายของนักวิ่งที่ป้องกันได้

    ตะคริว เป็นฝันร้ายของเราหลายคน โดยเฉพาะสำหรับนักวิ่ง ลองนึกภาพที่คุณกำลังจะเข้าเส้นชัยในการแข่งวิ่ง ห่างเพียงแค่ห้าเมตร แล้วทันใดนั้นก็เกิดเป็นตะคริวที่ขาขึ้นมา จนทำให้กล้ามเนื้อขาของคุณสั่นระริก สุดท้ายก็แข็งเกร็งจนก้าวขาไม่ออก นักวิ่งทั้งหลายจึงไม่มีใครอยากเป็น ตะคริวตอนวิ่ง กันอย่างแน่นอน เพราะกลัวว่าอาจส่งผลร้ายแรงที่สร้างความเสียหายไปตลอดชีวิต

    ถึงแม้ความคิดอย่างนั้นจะฟังดูเกินจริงไปหน่อย แต่การเป็นตะคริวที่ขาในขณะวิ่ง ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติในหมู่นักวิ่ง แม้แต่คนปกติ ก็มักต้องเจออาการแบบนี้อย่างน้อยครั้งหรือสองครั้งในชีวิต เพราะฉะนั้น หากเป็นตะคริวตอนวิ่งหรือตอนไหนๆ ก็ไม่ต้องตกใจไป

    ถึงแม้วิทยาศาสตร์ยังไม่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง ในการป้องกันการเกิดตะคริว หรือเยียวยาอาการให้หายไปโดยสิ้นเชิง แต่ก็มีวิธีการที่จะช่วยให้เรามือกับอาการนี้ได้ และสามารถทำให้มันกลับสู่ปกติได้เร็วที่สุด

    ตะคริวคืออะไร

    ก่อนอื่น มาทำความรู้จักกับตะคริวกันสักหน่อย ทฤษฎีเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดตะคริวนั้นมีหลากหลาย ทั้งการขาดน้ำ การสูญเสียอิเล็กโทรไลต์ในร่างกาย การขาดโซเดียม ความอ่อนล้าของกล้ามเนื้อ และอีกหลายๆอย่าง แต่อาการอ่อนล้าของกล้ามเนื้อ เป็นอาการที่เชื่อกันว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดตะคริวมากที่สุด แม้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนจะยังไม่ลงความเห็นว่า มันคือสาเหตุที่แท้จริงก็ตาม

    อาการอ่อนล้าของกล้ามเนื้อ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายมากเวลาคุณออกกำลังกาย ซึ่งในกรณีของนักวิ่งก็คือ การวิ่งมากกว่าที่คุณควรจะวิ่ง พูดอีกอย่างก็คือ การออกกำลังกายมากเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อของคุณอ่อนแรง จึงเพิ่มโอกาสที่จะเกิดตะคริวตอนวิ่ง รวมถึงหลังวิ่งด้วย

    ป้องกัน ตะคริวตอนวิ่ง ได้อย่างไร

    • ออกกำลังกายเป็นประจำ และค่อยๆ เพิ่มการออกกำลังกายของคุณขึ้นไปทีละน้อยอย่างสมเหตุสมผล สามารถช่วยป้องกันการเกิดตะคริวตอนวิ่งได้ ถ้าคุณอยากจะวิ่งให้ได้วันละ 10 กิโลเมตร ก็ควรเริ่มจากวิ่งวันละหนึ่งหรือสองกิโลเมตรก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มระยะทางขึ้นไปสัปดาห์ละครั้ง หรืออาจจะเดือนละครั้ง
    • แบ่งการวิ่งออกเป็นช่วงสั้นๆ แล้วพัก 3-5 นาที ในระหว่างแต่ละช่วง แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาของแต่ละช่วงให้ยาวออกไป
    • อย่าวิ่งเร็วเกินไปในทันที ค่อยออกตัววิ่งช้าๆ ก่อน แล้วจึงค่อยเพิ่มความเร็วขึ้น โดยเฉพาะในช่วงแรกของการวิ่ง
    • อย่าออกกำลังหนักเกินไปท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัด และหากวิ่งหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง ควรจิบน้ำเป็นระยะ เพื่อป้องกันอาการขาดน้ำด้วย
    • ก่อนเริ่มออกกำลังกาย ให้แน่ใจว่าคุณอบอุ่นกล้ามเนื้อดีพอ และอย่าลืมยืดกล้ามเนื้อให้ดี หลังจบการออกกำลังกายด้วย การอบอุ่นกล้ามเนื้อหรือการวอร์มอัพก่อนเริ่ม เป็นการเตรียมกล้ามเนื้อของคุณให้พร้อมสำหรับกิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้น ขณะที่การยืดกล้ามเนื้อหรือการคูลดาวน์ เป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่อ่อนล้าหลังออกกำลังกาย ทั้งสองสิ่งนี้สามารถช่วยคุณป้องกันตะคริวตอนวิ่ง และตอนออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาต่างๆ ได้มาก

    เป็นตะคริวขณะวิ่ง ควรทำอย่างไรดี

    แล้วถ้าหากคุณเกิดโชคร้าย เป็นตะคริวขึ้นมาในขณะที่กำลังวิ่งอยู่ ควรแก้ปัญหานี้อย่างไรดี แน่นอนว่า การร้องครวญครางไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น สิ่งแรกสุดที่คุณควรทำก็คือ หยุดวิ่ง หายใจเข้าลึกๆ และเริ่มยืดกล้ามเนื้อ การเป็นตะคริวหมายความว่ากล้ามเนื้อของคุณกำลังอ่อนล้า จนไม่สามารถคลายการเกร็งของกล้ามเนื้อได้ตามธรรมชาติ (กล้ามเนื้อของคนเรามีการหดและเกร็งในขณะใช้งานตามปกติ) เพราะฉะนั้น คุณต้องช่วยให้กล้ามเนื้อสามารถคลายการหดเกร็งนั้นให้ได้

    คุณสามารถคลายกล้ามเนื้อแบบง่ายๆ และเร่งด่วนได้ด้วยการนวดเบาๆ ในบริเวณที่เกิดตะคริว พร้อมเหยียดขาให้ตรง ตั้งเท้าตรง (นิ้วเท้าชี้ขึ้นด้านบน) เพื่อให้กล้ามเนื้อที่น่องผ่อนคลาย ถ้ามีเพื่อนอยู่กับคุณด้วย คุณอาจขอให้เพื่อนดึงขาคุณให้เหยียดตรง พร้อมกับช่วยกดเท้าให้ตั้งตรง (นิ้วเท้าชี้ขึ้นด้านบน) ค้างอยู่ในท่านี้สักครู่ จนกว่าอาการเกร็งหรือตะคริวที่น่องจะหายไป

    จริงๆ แล้วการเกิดตะคริวเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ไม่ยาก ถ้าคุณเข้าใจในสาเหตุของตะคริวที่เป็น ดังที่ยกตัวอย่างไปแล้วข้างต้น หากไม่อยากเกิดตะคริวตอนวิ่งออกกำลังกาย คุณไม่ควรออกกำลังมากเกินไป แม้คุณจะวิ่งเพื่อลดน้ำหนัก และอยากเห็นผลลัพธ์เร็วๆแต่ก็ควรออกกำลังกายแบบค่อยเป็นค่อยไป การผลักดันตัวเองมากเกินไป  ไม่เพียงแต่ทำให้คุณเกิดเป็นตะคริว แต่ยังอาจทำให้คุณบาดเจ็บ จนทำให้ต้องหยุดออกกำลังกาย และแผนการลดน้ำหนักของคุณก็จะล้มเหลวอย่างช่วยไม่ได้เลย

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย pimruethai · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา