หัวเข่า เป็นข้อต่อในบริเวณที่กระดูกขาส่วนบน เชื่อมต่อกับกระดูกขาส่วนล่าง หัวเข่ามีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความยืดหยุ่น ความแข็งแรง และการทรงตัว สำหรับการยืน การเดิน การย่อตัว การกระโดด และการวิ่ง อย่างไรก็ดี มีปัญหาเกี่ยวกับหัวเข่าหลายประการที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน Hello คุณหมอมีบทความเกี่ยวกับ หัวเข่า มาให้อ่านกันค่ะ เราจะมาเรียนรู้เกี่ยวกับประเภทของ ปัญหาหัวเข่า และวิธีป้องกัน เพื่อประโยชน์ในการดูแลตัวเอง และรักษาสุขภาพของหัวเข่าให้แข็งแรงกันค่ะ
ประเภทของ ปัญหาหัวเข่า คุณรู้มากน้อยแค่ไหน
ปัญหาหัวเข่า มักพบได้บ่อยมาก ซึ่งเกิดขึ้นได้ในกับคนทุกวัย โดยปกติแล้ว ปัญหาเกี่ยวกับหัวเข่าเกิดจากโรคหรืออาการบาดเจ็บบางอย่าง เช่น
โรคที่ทำให้หัวเข่าบาดเจ็บ
- ข้ออักเสบ เช่น ข้อเสื่อม ข้ออักเสบรูมาตอยด์ เกาต์
- โรคแพ้ภูมิตัวเอง
- โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด
- โรคสะเก็ดเงินข้ออักเสบ
- ข้ออักเสบรีแอคทีฟ (reactive arthritis)
- โรคคอนโดรมาลาเชีย (chondromalacia) เช่น โรคคอนโดรมาลาเชียของกระดูกสะบ้า (chondromalacia patellae) โรคกระดูกหัวเข่าปูด (Osgood-Schlatter)
- กลุ่มอาการเจ็บเส้นเอ็นรอบนอกหัวเข่า (iliotibial band syndrome)
- โรคออสติโอคอนไดรติส ดีสซิแคนส์ (Osteochondritis dissecans)
- กลุ่มอาการพลิกา (plica syndrome)
อาการบาดเจ็บเรื้อรัง
เป็นอาการบาดเจ็บเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ในระยะเวลานาน ประเภทของอาการบาดเจ็บ ได้แก่ อาการบาดเจ็บที่หมอนรองข้อ การบาดเจ็บเส้นเอ็นไขว้หน้าหัวเข่า อาการบาดเจ็บที่เส้นเอ็นด้านในและด้านข้างข้อเข่า และอาการบาดเจ็บเส้นเอ็น
วิธีป้องกัน ปัญหาหัวเข่า
ในผู้ป่วยบางราย ปัญหาเกี่ยวกับหัวเข่าเกิดจากอุบัติเหตุ ดังนั้น จึงไม่สามารถทราบได้ล่วงหน้า หรือไม่สามารถป้องกันได้ แต่ผู้ป่วยสามารถป้องกันปัญหาเกี่ยวกับหัวเข่าได้ โดยมีเคล็ดลับดังต่อไปนี้
- ควบคุมน้ำหนัก คุณอาจจะไม่ทราบว่า หัวเข่ามีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างการทรงตัว และความแข็งแรง เพื่อรองรับน้ำหนักร่างกายของคุณ หากคุณมีน้ำหนักเกิน อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดข้อเสื่อม โดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคอ้วน ดังนั้น พยายามควบคุมน้ำหนักของคุณให้เหมาะสมกับอายุและขนาดร่างกาย เพื่อช่วยลดแรงกดที่หัวเข่า
- สวมใส่รองเท้าที่ดีและเหมาะสมกับเท้า รองเท้าที่เหมาะสมจะช่วยสร้างความสมดุล และการจัดแนวเท้าให้ถูกตำแหน่ง เมื่อคุณต้องการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ อย่างเช่น การเดินหรือวิ่ง และลดอัตราการบาดเจ็บที่หัวเข่า
- อบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกาย ให้หมั่นอบอุ่นร่างกาย และยืดเส้นยืดสาย จะช่วยป้องกันอาการตึงที่เส้นเอ็น และลดแรงกดทับที่หัวเข่าในระหว่างออกกำลังกาย
- ออกกำลังกาย มีการออกกำลังกายหลายประเภทที่คุณสามารถเลือกได้ เช่น เดิน ว่ายน้ำ หรือโยคะ อย่างไรก็ดี ให้ปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกายใดๆ แพทย์อาจแนะนำการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับคุณ ตามสภาพร่างกาย อายุ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายที่น้อยลง ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการบาดเจ็บได้ง่าย
- อย่าเปลี่ยนความหนักในการออกกำลังกายเร็วเกินไป คุณควรจะเพิ่มความหนักในการออกกำลังกายขึ้นไปทีละน้อย เพื่อหลีกเลี่ยงอาการปวดหัวเข่า
- ใช้เทคนิคหรือท่าออกกำลังกายที่ถูกต้องในขณะออกกำลังกาย เพื่อไม่ให้เกิดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ที่นำไปสู่อาการบาดเจ็บได้
- อย่ายกวัตถุที่หนักเกินไป มันสามารถทำให้เกิดแรงกดที่เข่าได้
- กายภาพบำบัด นักกายภาพบำบัดอาจช่วยให้คุณมีแผนการออกกำลังกายที่เหมาะสม หากคุณมีอาการบาดเจ็บที่หัวเข่า
- การใช้ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) ในบางกรณี แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ เพื่อบรรเทาอาการอักเสบและอาการระคายเคืองที่หัวเข่า คุณอาจหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป หรือเป็นยาตามที่แพทย์สั่ง
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]