backup og meta

การวางแผนครอบครัว คืออะไร มีจุดประสงค์เพื่ออะไร

การวางแผนครอบครัว คืออะไร มีจุดประสงค์เพื่ออะไร

การวางแผนครอบครัว คือ การที่คู่รักหรือคู่แต่งงานกำหนดเป้าหมายร่วมกันเกี่ยวกับการสร้างครอบครัว เช่น จะมีลูกหรือไม่ จะมีลูกเมื่อใด จะมีลูกกี่คน เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะสุขภาพและการเงิน รวมถึงการปรับตัวเข้าหากันของคู่สมรส การตกลงบทบาทหน้าที่กันภายในครอบครัว ซึ่งอาจช่วยให้สามารถเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น สุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตใจ สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย ให้เหมาะสมกับการมีลูกหรือการสร้างครอบครัว

[embed-health-tool-ovulation]

การวางแผนครอบครัว คืออะไร

การวางแผนครอบครัว คือ การที่คู่รักหรือคู่แต่งงานปรึกษาและกำหนดเป้าหมายร่วมกันเกี่ยวกับการสร้างครอบครัว เช่น เรื่องการมีลูก ว่าจะมีลูกหรือไม่มี จะมีลูกกี่คน จะมีลูกเมื่อใด จะมีลูกห่างกันกี่ปี รวมถึงการเลือกวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสม เช่น การนับวันปลอดภัย การรับประทานยาคุมกำเนิด การทำหมัน เพื่อให้สร้างครอบครัวได้ตามเป้าหมาย โดยอาจต้องคำนึงถึงภาวะสุขภาพของทั้งคู่ สภาพทางการเงิน และสภาพสังคมด้วย 

จุดประสงค์ของการวางแผนครอบครัว

การวางแผนครอบครัวอาจมีจุดประสงค์ ดังนี้ 

  • หลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์
  • ช่วยให้ตั้งครรภ์เมื่อพร้อมที่จะมีลูก 
  • เพื่อให้สามารถมีลูกตามจำนวนที่เหมาะสมกับสภาพคล่องทางการเงิน เพื่อให้สามารถเลี้ยงลูกจนเติบโตได้ 
  • ช่วยให้กำหนดระยะห่างในการมีลูกแต่ละคนได้อย่างเหมาะสม 
  • อาจส่งเสริมให้มีลูกในอายุที่เหมาะสม
  • ช่วยให้สามารถเลือกวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมได้ 

ประโยชน์ของการวางแผนครอบครัว

การวางแผนครอบครัวอาจมีประโยชน์ ดังนี้ 

  • ประโยชน์ด้านสุขภาพ
    • สุขภาพของคู่รักหรือคู่แต่งงาน ทำให้คู่รักหรือคู่แต่งงานมีเวลาเตรียมพร้อมในการมีลูก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกายหรือจิตใจ โดยเฉพาะฝ่ายหญิง ซึ่งการวางแผนมีลูกอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตหรือทุพพลภาพของคุณแม่และลูกน้อย รวมถึงยังอาจช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยงสูง เช่น คุณแม่ตั้งครรภ์อายุน้อยหรือมากเกินไป ตั้งครรภ์ถี่ มีโรคประจำตัว 
    • สุขภาพของเด็ก การเว้นระยะห่างในการมีลูกอย่างน้อย 18 เดือน โดยเฉพาะในคุณแม่วัยรุ่น และคุณแม่ที่มีบุตรเกิน 4 คน อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด และทารกน้ำหนักแรกเกิดน้อยได้
  • ประโยชน์ด้านสภาพครอบครัว การมีลูกน้อย หรือมีลูกห่างกันตามเวลาที่เหมาะสม อาจช่วยลดปัญหาสภาพคล่องทางการเงินหรืออาจช่วยให้บริหารการเงินในครอบครัวได้ดีกว่าการมีลูกโดยไม่วางแผนครอบครัว ทั้งยังอาจช่วยส่งเสริมด้านการเลี้ยงดูลูก ให้ลูกได้รับการศึกษาที่ดี คุณพ่อคุณแม่มีเวลาดูและทำกิจกรรมร่วมกับลูกได้อย่างเต็มที่ 

คำแนะนำในการวางแผนครอบครัว

การวางแผนครอบครัวที่ดีอาจต้องคำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้

  • การเลือกคู่ครองที่เหมาะสม เช่น มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน รู้จักประนีประนอมกัน รู้จักปรับตัวเข้าหากัน พร้อมเรียนรู้และให้อภัยซึ่งกันและกัน อาจเป็นปัจจัยแรกที่ควรคำนึงถึงเมื่อต้องการสร้างครอบครัว เพราะหากขาดปัจจัยเหล่านี้อาจก่อให้เกิดปัญหาหย่าร้างขึ้นในอนาคตได้ 
  • การคุมกำเนิด ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงหากยังไม่พร้อมจะมีลูก หรือไม่อยากมีลูกเพิ่มแล้ว ซึ่งการคุมกำเนิดมีหลายวิธี เช่น การรับประทานยาคุมกำเนิด การฝังเข็มยาคุมกำเนิด การใช้ถุงยางอนามัย การนับวันปลอดภัย การทำหมัน อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสม 
  • การวางแผนมีลูก หากทั้ง 2 ฝ่ายเตรียมพร้อมที่จะมีลูก ควรวางแผนว่าต้องการมีลูกกี่คน และควรเว้นระยะห่างในการมีลูกกี่ปี เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูและมีเวลาเลี้ยงดูและเอาใจใส่ลูกคนก่อนได้อย่างเต็มที่
  • การเตรียมเป็นพ่อแม่ที่ดี พ่อแม่ควรมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ พร้อมจะอบรมสั่งสอนลูกด้วยความรัก ความเอาใจใส่ และไม่ใช้ความรุนแรง นอกจากนี้ ควรมีเวลาใกล้ชิดหรือทำกิจกรรมร่วมกับลูก สามารถให้คำปรึกษากับลูก และเป็นแบบอย่างที่ดีให้เขาได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Family planning/contraception methods. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/family-planning-contraception. Accessed December 30, 2021 

Family Planning. https://www.healthypeople.gov/2020/topics-objectives/topic/family-planning. Accessed December 30, 2021 

2 Overview of Family Planning in the United States. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK215219/. Accessed December 30, 2021 

คู่มือการให้บริการวางแผนครอบครัว. http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER17/DRAWER002/GENERAL/DATA0000/00000168.PDF. Accessed December 30, 2021 

การวางแผนครอบครัวและวิธีคุมกำเนิด. http://nurse.pbru.ac.th/th/wp-content/uploads/2020/05/บทเรียนที่-4-การวางแผนครอบครัวและคุมกำเนิ.pdf. Accessed December 30, 2021 

เวอร์ชันปัจจุบัน

15/02/2023

เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

วรรณกรรมเยาวชน แนะนำเล่มไหนดีที่จะช่วยปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน

หย่าร้าง ปัญหาครอบครัวกับวิธีรับมือสำหรับคนเป็นลูก


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 15/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา