เมื่อเด็กมีพฤติกรรมหรือการแสดงออกทางอารมณ์ที่แปลกไปจากเดิม อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าเด็กมีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญและไม่ควรปล่อยผ่าน คุณพ่อคุณแม่ควรพาเด็กไปพบคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ หรือ จิตแพทย์ เด็ก เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์ให้เป็นปกติ ทั้งนี้ ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมและความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้าบ่อยครั้ง ไม่ยอมเข้าสังคม ผลการเรียนแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด หากพบควรรีบพาเด็กไปเข้ารับการวินิจฉัยปัญหาสุขภาพจิต และรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้แก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดมากที่สุด
[embed-health-tool-vaccination-tool]
ปัญหาสุขภาพจิตในเด็กที่พบได้บ่อย
ปัญหาสุขภาพจิตที่พบได้บ่อย อาจมีดังนี้
โรคซึมเศร้า เป็นภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ที่อาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเด็ก ทั้งในเรื่องการเรียน การเข้าสังคม ชีวิตที่บ้าน และงานอดิเรก โรคนี้มักส่งผลให้เด็กแยกตัวออกจากสังคม อาจมีอารมณ์แปรปรวน หรือเศร้าหมอง มองโลกในแง่ร้าย และอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เด็กรู้สึกอยากทำร้ายตัวเองหรืออยากตาย สาเหตุอาจเกิดจากสภาพแวดล้อมรอบตัว เช่น ครอบครัวมีการทะเลาะวิวาทหรือใช้ความรุนแรงเป็นประจำ โดนเพื่อนที่โรงเรียนรังแกอย่างหนัก เด็กกังวลเรื่องเรียน ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดอาการซึมเศร้าและพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งถือเป็นโรครุนแรงที่ไม่ควรปล่อยผ่าน หรือรอให้หายเอง จำเป็นต้องพาเด็กเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน
โรควิตกกังวล เช่น อาการแพนิก อาการย้ำคิดย้ำทำ โรคกลัวกิจกรรมทางสังคม (Social phobia) เป็นภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ที่มักเกิดจากความเครียดและวิตกกังวลที่เด็กต้องเผชิญ ทำให้เด็กรู้สึกไม่ปลอดภัย เครียด และวิตกกังวล ซึ่งกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน สาเหตุอาจเกิดได้จากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่รุมเร้า เช่น ความกดดันเรื่องผลการเรียน ความเครียดกับการปรับตัวเมื่อต้องเรียนออนไลน์ในช่วงที่โรคโควิด-19 กำลังระบาดอย่างต่อเนื่อง หรือความกังวลเกี่ยวกับปัญหาส่วนตัว เช่น เรื่องเพื่อน เรื่องครอบครัว นอกจากนี้ การทำงานของสมองที่ผิดปกติก็อาจส่งผลให้เด็กเกิดโรควิตกกังวลได้ ทั้งนี้ การรักษาโรควิตกกังวลด้วยวิธีการที่เหมาะสมจะช่วยให้เด็กกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติและมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นได้
โรคสมาธิสั้น เป็นภาวะความบกพร่องทางสมองที่อาจทำให้เด็กขาดความสามารถในการควบคุมตัวเอง และมีพฤติกรรมบางประการแตกต่างไปจากเด็กปกติ เช่น ขาดสมาธิ อยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น วู่วาม สาเหตุอาจมาจากพันธุกรรม ปัญหาระหว่างตั้งครรภ์ เช่น แม่สูบบุหรี่หรือได้รับสารพิษระหว่างตั้งครรภ์ เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาตามลักษณะอาการของเด็กแต่ละคน
โรคดื้อต่อต้าน (Oppositional Defiant Disorder หรือ ODD) เป็นภาวะความผิดปกติด้านพฤติกรรมที่พบได้มากในเด็กอายุ 8 ขวบขึ้นไป เด็กจะมีพฤติกรรมไม่เชื่อฟังที่รุนแรงกว่าเด็กทั่วไป มักใช้อารมณ์โกรธในการตอบโต้หรือแสดงออกถึงความต้องการของตัวเอง สาเหตุอาจมาจากพื้นฐานนิสัยของเด็กเอง หรือการเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีและกระทบต่อภาวะทางอารมณ์ของเด็ก เช่น มีปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โรคดื้อต่อต้านเป็นภาวะสุขภาพเด็กที่ไม่ควรละเลย ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและให้จิตแพทย์รักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับเด็กมากที่สุด
เมื่อไหร่ที่ควรพาเด็กไปพบ จิตแพทย์ เด็ก
พฤติกรรมของเด็กที่อาจเป็นสัญญาณว่าควรไปพบจิตแพทย์เด็ก อาจมีดังนี้
- ไม่กระตือรือร้นในการเรียน ผลการเรียนเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด
- ฝันร้ายเป็นประจำ
- ไม่เข้าสังคม แยกตัวออกจากผู้อื่น
- มีภาวะอารมณ์รุนแรง ก้าวร้าวกว่าเด็กทั่วไป
- มีอาการดื้อต่อต้าน ไม่เชื่อฟัง และแสดงออกด้วยอารมณ์โกรธเป็นหลัก
- มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการนอนเปลี่ยนไป
- กลัวน้ำหนักขึ้นโดยไม่จำเป็น ไม่ยอมกินข้าว พยายามอาเจียนอาหารออกมา
- ไม่ยอมไปโรงเรียน
- มีอาการป่วยทางกายที่ไม่ทราบสาเหตุ
- ไม่อยู่นิ่ง เคลื่อนไหวตลอดเวลา ไม่สามารถควบคุมตัวเองให้อยู่นิ่งได้
- วิตกกังวลหรือรู้สึกกลัว จนกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน
- มีภาวะซึมเศร้า มองโลกในแง่ลบ
- มีการใช้สารเสพติด หรือเริ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- พยายามทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย
เมื่อพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็กมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อาจต้องพาเด็กไปพบจิตแพทย์เด็ก หรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เด็กเข้ารับการประเมินเพื่อหาสาเหตุที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเด็ก จิตแพทย์เด็กจะช่วยวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับอาการของเด็กมากที่สุด การหาสาเหตุของปัญหาสุขภาพจิตของเด็กต้องอาศัยข้อมูลเพิ่มเติมจากคุณพ่อคุณแม่ด้วย คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ความสนใจและหมั่นสังเกตพฤติกรรมของเด็กอย่างใกล้ชิด หากพบความผิดปกติใด ๆ จะได้รีบพาเด็กไปพบจิตแพทย์เด็ก และสามารถแก้ไขปัญหาที่เจอได้โดยเร็ว
วิธีดูแลเด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิต
การดูแลเด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิต อาจทำได้ดังนี้
ดูแลเด็กให้มีความมั่นใจในตัวเอง
- ใช้เวลาร่วมกับเด็กเป็นประจำ การเอาใจใส่และให้เวลาอาจทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองสำคัญ ไม่ถูกทอดทิ้งหรือละเลย การใช้เวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันได้
- จิตใจที่เข้มแข็งทำให้เด็กมีความสุขมากขึ้นได้ โดยเฉพาะเมื่อเด็กมีทัศนคติที่ดีต่อตัวเอง จะช่วยส่งเสริมให้มีการตัดสินใจที่ดีในเรื่องต่าง ๆ ทั้งยังสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้เด็กโอนเอนไปตามอิทธิพลของคนรอบข้างหรือแรงกดดันจากเพื่อนวัยเดียวกัน (Peer pressure) ที่อาจส่งผลเสียหรือสร้างความรู้สึกไม่ดีให้กับตัวเด็ก เช่น ไม่คล้อยตามเพื่อนเมื่อมีการชักชวนให้โดดเรียน สามารถตอบโต้กับเด็กที่เข้ามารังแกได้
ดูแลเด็กให้มีสุขภาพจิตที่ดี
- รับฟังความคิดเห็นของเด็ก เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความรู้สึกหรือความต้องการของตัวเองอย่างเต็มที่ โดยไม่ปิดกั้นหรือตัดสินว่าเป็นเรื่องที่ผิดหรือถูก อาจช่วยให้เด็กรู้สึกเชื่อใจ กล้าแบ่งปันเรื่องราวในชีวิตประจำวัน และเปิดโอกาสให้คุณพ่อคุณแม่มีส่วนร่วมกับชีวิตของเขามากขึ้น
- สอนให้เด็กเรียนรู้วิธีจัดการอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง กระตุ้นให้เด็กมีมุมมองว่าสถานการณ์หรืออุปสรรคที่พบเจอในชีวิตเป็นเรื่องสามารถผ่านไปได้ในที่สุด หรือสอนให้มีทัศนคติในทางบวก ซึ่งอาจมีส่วนช่วยหล่อหลอมให้เด็กมีสติเมื่อเผชิญกับปัญหา และสามารถหาทางแก้ไขปัญหาได้อย่างมีสติและใจเย็น
ดูแลเด็กให้รู้สึกปลอดภัย
- สอนให้เด็กรู้จักขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง เพราะไม่ว่าการช่วยเหลือด้วยการรับฟังหรือการลงมือช่วย ก็อาจทำให้เด็กไม่ต้องเผชิญกับปัญหาตามลำพัง และทำให้คุณพ่อคุณแม่ทราบปัญหาของเด็กและหาทางช่วยเหลือได้ทันท่วงที
- ให้เด็กทำกิจวัตรประจำวันที่คล้ายคลึงกันอย่างสม่ำเสมอ อาจช่วยลดความเครียดและทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยเมื่อได้ทำกิจกรรมที่คุ้นเคยในทุกวัน เช่น การใช้เวลารับประทานอาหารร่วมกันในตอนเย็นของทุกวัน