backup og meta

โรคดื้อต่อต้าน ในเด็กและวัยรุ่น มีวิธีสังเกตและรับมืออย่างไร

โรคดื้อต่อต้าน ในเด็กและวัยรุ่น มีวิธีสังเกตและรับมืออย่างไร

โรคดื้อต่อต้าน เป็นภาวะผิดปกติทางพฤติกรรมที่มักพบในเด็กที่เริ่มโต หรือวัยรุ่น เด็กมักแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว  เอาแต่ใจ พูดไม่ฟัง ชอบสร้างความขัดแย้ง หาเรื่องผู้อื่น จนสร้างปัญหาให้ตัวเองและผู้คนรอบข้าง โรคนี้เป็นโรคทางพฤติกรรมที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็ว เพราะหากปล่อยไว้ อาจนำไปสู่พฤติกรรมที่อาจเป็นอันตรายถึงถึงชีวิต และส่งผลต่อการใช้ชีวิตในสังคมได้

[embed-health-tool-vaccination-tool]

โรคดื้อต่อต้าน คืออะไร

โรคดื้อต่อต้าน (Oppositional Defiant Disorder หรือ ODD) คือ ความผิดปกติทางพฤติกรรมที่เริ่มต้นในช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่น เด็กที่เป็นโรคนี้จะแสดงพฤติกรรมต่อต้าน เมินเฉย ไม่เชื่อฟัง ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำร้องขอจากผู้อื่น เพราะคิดว่าคำสั่งหรือคำขอเหล่านั้นไร้เหตุผล จึงรู้สึกโมโห และแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมา โดยเด็กที่เป็นโรคดื้อต่อต้านมักจะมีอาการของโรคสมาธิสั้น โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้าร่วมด้วย

การที่เด็กดื้อรั้น หรือไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่บ้างบางครั้งนับเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะเมื่อเด็กรู้สึกเหนื่อย อารมณ์เสีย หรือไม่ได้ดั่งใจ แต่เด็กที่เป็นโรคดื้อต่อต้าน จะแสดงพฤติกรรมเหล่านี้เป็นประจำ และพฤติกรรมจะรุนแรงขึ้น จนเป็นปัญหารบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของเด็กและผู้คนรอบข้าง

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคดื้อต่อต้านมีทั้งปัจจัยทางชีวภาพ จิตใจ และสังคม เช่น

  • กรรมพันธุ์
  • ความขัดแย้งภายในครอบครัว
  • พ่อแม่หย่าร้าง
  • การใช้ความรุนแรงในครอบครัว
  • คนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคทางจิตเวช
  • ครอบครัวมีผู้ติดยาเสพติดหรือแอลกอฮอล์
  • การเลี้ยงลูกผิดวิธี
  • การถูกรังแกหรือถูกละเลย
  • ครอบครัวมีฐานะยากจน หรือมีปัญหาทางการเงิน

พฤติกรรมแบบใดเข้าข่ายเป็นโรคดื้อต่อต้าน

หากเด็กมีอาการเหล่านี้เป็นเวลานานกว่า 6 เดือน อาจเข้าข่ายเป็นโรคดื้อต่อต้าน

สัญญาณทางความคิด

  • ไม่มีสมาธิ หรือสมาธิสั้น
  • ไม่รู้จักคิดก่อนพูด

สัญญาณทางพฤติกรรม

  • โมโหร้าย ระงับความโกรธไม่ค่อยได้
  • เถียงผู้ใหญ่แบบเอาเป็นเอาตาย
  • ชอบยั่วโมโหผู้อื่น
  • โทษผู้อื่นในเรื่องที่ตัวเองทำผิด
  • ชอบสร้างความขัดแย้ง หรือทะเลาะเบาะแว้งกับผู้อื่นเป็นประจำ
  • จงใจไม่เชื่อฟัง ต่อต้าน และเพิกเฉยต่อกฎระเบียบหรือคำสั่ง
  • พูดจาหยาบคาย และอาฆาตมาดร้ายเวลาโกรธ
  • ไม่รู้จักประนีประนอม หรือไม่รับฟังข้อต่อรอง

สัญญาณทางจิตและสังคม

ทั้งนี้ เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงมักแสดงพฤติกรรมของโรคดื้อต่อต้านต่างกัน เด็กผู้ชายจะแสดงพฤติกรรมภายนอก (Overt Behavior) อย่างโจ่งแจ้งและสังเกตได้ง่าย เช่น ทะเลาะวิวาท ชกต่อย ส่วนเด็กผู้หญิงมักจะแสดงพฤติกรรมภายใน (Covert Behavior) ซึ่งเกี่ยวข้องกับจิตใจ และสังเกตได้ยากกว่า เช่น จงใจทำลายมิตรภาพ ปล่อยข่าวลือให้ผู้อื่นเสียหาย ยุยงหรือก่อให้เกิดการขัดแย้ง

โรคดื้อต่อต้าน ส่งผลกระทบอย่างไร

หากเด็กเป็นโรคดื้อต่อต้านแล้วรับไม่ได้รับการรักษาหรือดูแลอย่างถูกต้องและทันท่วงที โรคดื้อต่อต้านอาจส่งผลกระทบด้านต่าง ๆ ดังนี้

  • ทำให้เป็นคนต่อต้านและแปลกแยกจากสังคม
  • มีปัญหาด้านความสัมพันธ์ หาเพื่อนไม่ได้ เพราะไม่มีใครต้องการคบด้วย
  • ส่งผลกระทบต่อการเรียน ไม่สนใจเรียน ต่อต้านหรือแหกกฎระเบียบ
  • มีปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์ อาจทำให้ทะเลาะวิวาทและบาดเจ็บตามมา
  • เสี่ยงติดสารเสพติดและแอลกอฮอล์ จนนำไปสู่การก่ออาชกรรมได้
  • มีแนวโน้มฆ่าตัวตาย เพราะรู้สึกขัดแย้งกับตัวเองและผู้อื่น

โรคดื้อต่อต้าน สามารถรักษาให้หายได้หรือไม่

เด็กก่อนวัยเรียนที่เป็นโรคดื้อต่อต้านส่วนใหญ่จะหายจากโรคนี้ได้ตอนอายุประมาณ 8 ปี ในขณะที่บางคนอาจยังเป็นโรคนี้ไปจนถึงช่วงวัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ โดยบางอาการของโรคดื้ออาจหายขาด แต่บางอาการยังคงอยู่

ลูกเป็นโรคดื้อต่อต้าน พ่อแม่ช่วยได้อย่างไร

ปัจจุบันการรักษาโรคดื้อต่อต้านมีทั้งการเยียวยาจิตใจและรักษาด้วยยา แต่ก็ยังไม่มีวิธีใดที่รับรองว่าเห็นผลแน่นอน วิธีง่าย ๆ ในการลดความเสี่ยงโรคดื้อต่อต้านในเด็กและวัยรุ่น อาจทำได้ดังนี้

  • มองโลกแง่ดีเข้าไว้ การเสริมแรงทางบวก รับมืออย่างใจเย็น ไม่ทำโทษอย่างรุนแรงเมื่อเด็กทำผิด รวมทั้งไม่จับผิด ถือเป็นวิธีที่ดีในการรับมือกับเด็กที่เป็นโรคดื้อต่อต้าน พ่อแม่ไม่ควรตอกย้ำว่าเด็กทำผิด แต่ควรหาโอกาสชื่นชมเวลาที่เด็กประพฤติตัวเหมาะสม
  • ให้รางวัล เวลาเด็กประพฤติตัวดี อาจต้องแสดงความสนใจ และให้รางวัลหรือแสดงความยินดีด้วยท่าทาง เช่น การกอด การแปะมือไฮไฟฟ์ แทนคำพูด เพื่อให้เด็ก ๆ มีกำลังใจในการทำดีต่อไป และรู้สึกว่าได้รับการยอมรับจากสังคม
  • อย่าตะคอก เวลารับมือกับเด็กที่เป็นโรคดื้อต่อต้าน สิ่งที่ห้ามทำเด็ดขาด คือ การตะคอก เพราะจะยิ่งทำให้เหตุการณ์แย่ลงกว่าเดิม พ่อแม่ควรควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้ พูดคุยด้วยเหตุผลอย่าใช้อารมณ์ และไม่ควรเจ้ากี้เจ้าการเกินไป เพราะจะเป็นการเสริมแรงทางลบทำให้เด็กดื้อและต่อต้านหนักกว่าเดิม

ทั้งนี้ หากพบว่าลูกเข้าข่ายเป็นโรคดื้อต่อต้าน ควรปรึกษาคุณหมอ จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา เพื่อจะได้หาวิธีรับมืออย่างถูกต้องและตรงจุดที่สุด ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ หรือพยายามใช้วิธีบังคับหรือทำโทษอย่างเดียว

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Oppositional defiant disorder (ODD). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/oppositional-defiant-disorder/symptoms-causes/syc-20375831. Accessed February 17, 2022.

A Guide for Families by the American Academy of Child and Adolescent Psychiatry. https://www.aacap.org/app_themes/aacap/docs/resource_centers/odd/odd_resource_center_odd_guide.pdf. Accessed February 17, 2022.

Signs & Symptoms of Oppositional Defiant Disorder. https://www.valleybehavioral.com/disorders/odd/signs-symptoms-causes/. Accessed February 17, 2022.

Oppositional defiant disorder (ODD): children 5-12 years. https://raisingchildren.net.au/school-age/health-daily-care/mental-health/odd. Accessed February 17, 2022.

Oppositional Defiant Disorder (ODD) in Children. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/oppositional-defiant-disorder#:~:text=ODD%20in%20children-,Oppositional%20defiant%20disorder%20(ODD)%20is%20a%20type%20of%20behavior%20disorder,the%20behaviors%20may%20be%20learned. Accessed October 27, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

21/11/2022

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

เด็กบูลลี่เพื่อน ในโรงเรียน ควรดูแลอย่างไร

วิธีฝึกวินัยให้ลูก ตั้งแต่วัยเตาะแตะ ทำได้อย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 21/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา