backup og meta

ลูกไม่ยอมนอน คุณพ่อคุณแม่ควรรับมืออย่างไร

ลูกไม่ยอมนอน คุณพ่อคุณแม่ควรรับมืออย่างไร

ลูกนอนไม่หลับ อาจเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นยังอายุน้อยเกินไป ซึ่งในช่วง 2 เดือนแรก ทารกแรกเกิดมักจะหลับ ๆ ตื่น ๆ ประมาณ 12-18 ชั่วโมง/วัน และจะนอนหลับสนิทตลอดทั้งคืนเมื่ออายุ 9 เดือนขึ้นไป นอกจากนั้น ยังอาจเกิดจากการที่เด็กเหนื่อยมากเกินไป ความวิตกกังวล รวมไปถึงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องสังเกตลูกน้อย เพื่อหาสาเหตุที่เกิดขึ้น

เหตุผลที่ทำให้ ลูกไม่ยอมนอน

ส่วนใหญ่แล้ว เด็กที่อยู่ในช่วงวัยประถมประมาณ 20-30% พยายามที่จะนอนให้หลับตลอดทั้งคืน แต่ความวิตกกังวลบางอย่าง อาจทำให้พวกเขาไม่ยอมนอน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ลูกไม่ยอมนอนอาจมีดังนี้

  • ลูกยังเด็กเกินไป

โดยปกติแล้วมีทารกเพียงไม่กี่คนที่นอนหลับสนิทตลอดทั้งคืน ในช่วง 2 เดือนแรก ทารกแรกเกิดมักจะหลับ ๆ ตื่น ๆ ประมาณ 12-18 ชั่วโมง/วัน และจะนอนหลับสนิทตลอดทั้งคืนเมื่ออายุ 9 เดือนขึ้นไป ซึ่งการนอนหลับตลอดทั้งคืนของทารกนั้น หมายถึง 5-6 ชั่วโมงติดต่อกัน

  • เหนื่อยมากไป

เด็กวัยหัดเดินและเด็กก่อนวัยเรียนต้องการการนอนหลับ 11-14 ชั่วโมง ซึ่งเวลาที่เด็กต้องการนั้นรวมถึงตอนกลางคืนและงีบหลับด้วย ดังนั้น กิจวัตรประจำวันของเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร และการเล่น จึงอาจเป็นตัวกำหนดเรื่องการนอนหลับ หรือนอนไม่หลับของลูกน้อย หากคุณพ่อคุณแม่ให้พวกเขาทำกิจกรรมมากเกินไป ลูกอาจจะมีอาการเหนื่อยมากจนไม่ยอมนอนได้

  • ความวิตกกังวล

เด็กบางคนอาจเกิดความวิตกกังวลจากการกลัวความมืด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กวัยหัดเดิน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่อย่าพยายามให้กำลังใจด้วยการพูดคุย ร้องเพลง หรือให้อาหารเสริม เพราะในช่วงอายุประมาณ 6 เดือน คือ ช่วงที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำให้ลูกน้อยสามารถกลับไปนอนหลับด้วยตัวเอง วิธีที่ดีที่สุด คือ เมื่อลูกเกิดความวิตกกังวล ให้พูดเบา ๆ แล้วเอามือลูบหลังเพื่อเป็นการปลอบ

  • ไม่มีกิจวัตรก่อนนอน

การทำกิจวัตรเดิม ๆ ซ้ำก่อนนอน อาจช่วยทำให้ลูกรู้ว่าถึงเวลานอนแล้ว การสร้างกิจวัตรก่อนนอนก็เพื่อให้พวกเขารู้ว่าถึงเวลาพักผ่อน และรู้สึกผ่อนคลาย แต่หากไม่มีกิจวัตรก่อนเข้านอน ลูก ๆ อาจไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ที่ควรเวลาเข้านอน จนอาจทำให้ลูกไม่ยอมนอน กิจวัตรก่อนเข้านอนควรเหมือนกันทุกคืน และควรสิ้นสุดลงในห้องนอน ช่วงที่ควรเริ่มทำกิจวัตรก่อนนอนมากที่สุด คือ ภายในช่วง 4 เดือน

  • ช่วงเวลาของการงีบหลับไม่เพียงพอ

การนอนงีบระหว่างวันของเด็กเล็กที่ไม่เพียงพอ อาจก่อให้เกิดปัญหาลูกไม่ยอมนอนในตอนกลางคืน ทารกส่วนใหญ่มักจะต้องการนอนงีบ 2-3 ครั้ง/วัน ส่วนเด็กในช่วงวัยหัดเดิน ต้องการงีบอย่างน้อย 1 ครั้ง/วัน เด็กส่วนใหญ่มักจะนอนงีบหลังมื้ออาหารกลางวันจนถึงอายุ 5 ปี ดังนั้น ควรให้พวกเขานอนงีบได้อย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันการไม่ยอมนอนในช่วงกลางคืน

  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

แม้เกิดขึ้นได้ยาก แต่เด็กบางคนอาจจะไม่ยอมนอนเพราะเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เนื่องจากมีการอุดตันของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับนั้นมักจะกรนเสียงดัง เพราะหายใจลำบากและนอนไม่หลับ ซึ่งมักจะส่งผลกระทบต่อเด็กประมาณ 1 ใน 100 และพบมากที่สุดในทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่ 3-7 ปี

สาเหตุที่พบได้บ่อยของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อาจเกิดจากต่อมทอนซิล และโรคเนื้องอกในจมูกมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งวิธีการรักษา คือ ให้เด็กสวมหน้ากาก CPAP ในช่วงเวลากลางคืน หรืออาจจะต้องทำการผ่าตัด

  • การกรน

เด็กที่นอนกรนจะพบได้ประมาณ 1 ใน 100 ซึ่งการนอนกรนนั้น เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคภูมิแพ้ตามฤดูกาล แต่หากพวกเขาได้รับการรักษาจากกุมารแพทย์ ปัญหาการนอนกรนหรือปัญหายใจก็อาจจะหายไป

  • ฝันร้าย

บางครั้งเด็ก ๆ อาจจะนอนฝันร้าย ซึ่งนั่นถือเป็นเรื่องปกติ และฝันร้ายก็ไม่ได้เป็นอันตรายแต่อย่างใด เมื่อลูกฝันร้ายสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ คือ การปลอบประโลมพวกเขาหลังจากฝันร้าย และตรวจสอบให้แน่ใจว่าพวกเขาได้รับการนอนหลับที่เพียงพอ แต่ถ้าหากพวกเขายังไม่หยุดฝันร้าย การไปพูดคุยกับกุมารแพทย์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นก็ถือเป็นเรื่องที่ควรทำ

  • เดินขณะหลับหรือเดินละเมอ

เด็กบางคนอาจจะมีอาการนอนละเมอ ซึ่งนั่นหมายถึงพวกเขายังไม่ตื่น แต่อาจจะมีการเดิน พูดคุย นั่งบนเตียง หรือทำสิ่งอื่น ๆ ในขณะที่ดวงตายังปิดอยู่ และไม่รู้สึกตัว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ คือ อย่าปลุกให้พวกเขาตื่นจากการละเมอ เพราะมันอาจทำให้พวกเขารู้สึกกลัวได้ ควรจะพยายามค่อย ๆ นำตัวพวกเขากลับไปนอน และควรดูแลรักษาบริเวณที่เขาชอบเดินละเมอให้ปลอดภัย ไม่มีสิ่งของระเกะระกะ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเกิดอันตรายระหว่างเดินละเมอ

  • ภูมิแพ้ หอบหืด และอื่น ๆ

ปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น อาการคัดจมูก อาการภูมิแพ้ อาการหวัด โรคหอบหืด อาจทำให้เด็ก ๆ หายใจลำบาก จนอาจทำให้ไม่ยอมนอนได้ นอกจากนั้น อาหารปวดหู และอาการปวดฟัน ก็อาจทำให้ลูกไม่ยอมนอนได้เช่นกัน ดังนั้น การปรึกษากุมารแพทย์ จึงเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด

วิธีทำให้ลูกนอนหลับ

สำหรับวิธีที่จะทำให้ลูกนอนหลับได้อย่างสนิท อาจทำได้ดังนี้

  • พาลูกออกไปทำกิจกรรมข้างนอก

การให้ลูก ๆ ออกไปทำกิจกรรมข้างนอกบ้าน เช่น วิ่งเล่น ออกกำลังกาย ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะพวกเขาจะได้ใช้พลังงาน และเตรียมความพร้อมก่อนเข้านอน การที่ร่างกายมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นจากการทำกิจกรรมข้างนอก และอุณหภูมิลดลงเมื่อหยุดทำกิจกรรม อาจช่วยทำให้เด็ก ๆ หลับได้งานขึ้น ระยะเวลาสำหรับการออกกำลังกาย รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับเด็ก คือ 60 นาที

  • ตั้งเวลาเข้านอนและตื่นนอน

สำหรับเด็กในวัยเรียนต้องการเวลานอน 9-11 ชั่วโมงทุกคืน แต่สิ่งที่ทำให้เกิดการนอนไม่หลับมีมากมาย ดังนั้น การตั้งเวลาในการเข้านอนและตื่น เป็นการแก้ไขปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะทำ เพราะเด็กส่วนใหญ่จะมีรูปแบบการเข้านอนและการตื่นนอนที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก การตั้งเวลาเข้านอนจะทำให้พวกเขารู้ว่าถึงเวลาเข้านอน และการตั้งเวลาตื่นนอน ก็จะทำให้พวกเขารู้สึกสดชื่นหลังจากตื่นนอนอีกด้วย

  • อย่าพูดคุยมากเกินไป

การนั่งอยู่บนเตียงของเด็ก ๆ หรือกอดเข้าไว้ข้าง ๆ ตัว แล้วพูดถึงสิ่งที่อยู่ในใจควรจะต้องมีขีดจำกัด คุณพ่อคุณแม่บอกลูกล่วงหน้าว่าต้องการใช้เวลาพิเศษกับพวกเขาเมื่อถึงเวลาที่จำเป็น นอกจากนั้น การพูดมากคุยเกินไปเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง พยายามเป็นผู้ฟัง เพื่อให้เด็ก ๆ ได้พูดถึงความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยหาวิธีการแก้ปัญหา ทุกครั้งที่ได้รับโอกาสจากพวกเขา ลองหาคำพูดที่ดี ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการฟัง การทำเช่นนี้คุณพ่อคุณแม่จะกลายเป็นฮีโร่ของพวกเขา

  • สร้างกิจวัตรก่อนนอน

กิจวัตรก่อนนอนถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับทารก เด็กวัยหัดเดิน และเด็กก่อนวัยเรียน การทำกิจวัตรก่อนนอนเป็นประจำ เช่น อาบน้ำ เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ถือเป็นสิ่งที่ควรทำ จากนั้นการปลอบโยนและทำให้พวกเขาผ่อนคลาย อาจเป็นการช่วยให้บรรยากาศในการนอนสมบูรณ์แบบ จากนั้นร่างกายของเด็ก ๆ ก็จะเริ่มง่วงโดยอัตโนมัติ เมื่อเริ่มต้นทำกิจวัตรก่อนนอนเป็นประจำ

  • ปิดทีวีอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน

หน้าจอโทรทัศน์ หน้าจอโทรศัพท์ หรือจอคอมพิวเตอร์ อาจรบกวนการผลิตฮอร์โมนเมลาโทนิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวงจรการนอนหลับที่สำคัญได้ เมื่อระดับเมลาโทนินอยู่ในระดับสูงสุด คนส่วนใหญ่มักจะะรู้สึกง่วงนอนและพร้อมเข้านอน แต่การเปิดทีวีหรือเล่นโทรศัพท์เพียงครึ่งชั่วโมงก่อนนอน อาจรบกวนการหลั่งเมลาโทนินได้ ดังนั้น การทำให้ห้องนอนเป็นเขตปลอดหน้าจอ และหน้าจอทั้งหมดควรมืดสนิทในเวลานอน ถือเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรตรวจสอบ แต่ทางที่ดีการเอาสิ่งเหล่านี้ออกจากห้องนอนตอนกลางคืนจะเป็นการดีที่สุด

  • สอนลูกให้เลิกกังวล

ลองสอนลูกให้ระบายความวิตกกังวลไปยังวัตถุที่ไม่มีชีวิต เช่น สัตว์ ตุ๊กตา เป็นอีกหนึ่งวิธีอาจช่วยให้ลูก ๆ ระบายความวิตกกังวลได้ หากพวกเขาไม่อยากบอกกับคุณพ่อคุณแม่ หากพวกเขาไม่มีความวิตกกังวลก็จะทำให้หลับสนิทได้

  • เล่านิทานก่อนนอน

การเล่านิทานก่อนนอนอาจดึงความสนใจของเด็ก ๆ ให้เข้าไปสู่โลกจิตนาการที่เป็นความคิดบวก นอกจากนั้นยังอาจช่วยให้ลืมความกังวลต่าง ๆ การอ่านออกเสียงให้เด็ก ๆ ฟังถือว่าเป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการของพวกเขา และช่วงเวลาก่อนนอนถือเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการอ่านหนังสือให้เด็ก ๆ ฟังอีกด้วย

แต่หากลูกยังไม่ยอมนอน ควรปรึกษากับกุมารแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ และวิธีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะเป็นการดีที่สุด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Sleep Anxiety in Children: 10 Ways to Stop the Worrying and Get Your Child to Sleep. https://childrensmd.org/browse-by-age-group/toddler-pre-school/sleep-anxiety-children-10-ways-stop-worrying-get-child-sleep-2/. Accessed March 04, 2020

Sleep Strategies for Kids. https://www.sleepfoundation.org/articles/sleep-strategies-kids. Accessed March 04, 2020

Top Reasons Your Child Can’t Sleep, Including You. https://www.webmd.com/children/ss/children-sleep-problems. Accessed March 04, 2020

Childhood Insomnia and Sleep Problems. https://www.helpguide.org/articles/sleep/childhood-insomnia-and-sleep-problems.htm. Accessed January 25, 2022

What to Do if You Can’t Sleep. https://kidshealth.org/en/kids/cant-sleep.html. Accessed January 25, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

25/01/2022

เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

5 สาเหตุสำคัญ ที่อาจทำให้คุณเป็น โรคนอนไม่หลับ

จัดการอย่างไรกับอาการ นอนไม่หลับเพราะสมองไม่ยอมหยุดนิ่ง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 25/01/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา