backup og meta

ข้อควรรู้เกี่ยวกับ วัคซีนโรตา ทางเลือกในการปกป้องลูกน้อย จากเชื้อไวรัสในของเล่น

ข้อควรรู้เกี่ยวกับ วัคซีนโรตา ทางเลือกในการปกป้องลูกน้อย จากเชื้อไวรัสในของเล่น

วัคซีนโรตา คือวัคซีนที่มีไว้สำหรับป้องกัน ไวรัสโรตา (Rotavirus) ซึ่งเป็นไวรัสที่อาจส่งผลให้ทารกและเด็กเล็กมีอาการท้องเสีย อาเจียน เป็นไข้ ซึ่งเป็นวัคซีนที่พบได้ในอุจจาระและสามารถแพร่กระจายได้ผ่านทางพื้นผิวต่าง ๆ เช่น ลูกบิดประตู โต๊ะ ประตู ของเล่น ดังนั้น จึงควรศึกษาเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของการฉีดวัคซีนโรตา หรือปรึกษาคุณหมอก่อนฉีดวัคซีน

[embed-health-tool-bmi]

วัคซีนโรตา สำคัญอย่างไร

วัคซีนโรตาหรือวัคซีนป้องกันไวรัสโรตานั้น มีจุดประสงค์หลักคือการป้องกันร่างกายของผู้รับวัคซีน ไม่ให้ติดเชื้อไวรัสโรตา ไวรัสที่อาจทำให้ทารกและเด็กเล็ก เกิดอาการท้องเสียและอาเจียน ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดภาวะขาดน้ำ (Dehydration) และมีไข้สูงได้ หากไม่ได้รับการรักษาดูแลอย่างถูกต้องและทันท่วงที

ไวรัสโรตา (Rotavirus) นั้นเป็นไวรัสที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วมาก โดยเรามักจะสามารถพบไวรัสเหล่านี้ได้ในอุจจาระของผู้ที่ติดเชื้อ และอาจไม่ระวังเรื่องความสะอาด อาจทำให้เชื้อโรคนี้ปนเปื้อนไปสู่พื้นผิวต่างๆ เช่น โต๊ะ ประตู ลูกบิด และของเล่นเด็ก ที่เด็กอาจจะนำเข้าสู่ปาก ทำให้ติดเชื้อเป็นรายต่อไปได้

ทั่วโลกนั้นจะพบผู้ป่วยฉุกเฉินที่ติดเชื้อไวรัสโรตากว่า 2 ล้านราย และส่งผลให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ต้องเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโรตานี้ไม่ต่ำกว่า 500,000 รายต่อปี ในทางกลับกัน เด็กโต วัยรุ่น และผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสโรตา อาจจะมีอาการที่รุนแรงน้อยกว่า แต่ก็ยังสามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสไปให้ผู้อื่นได้อยู่ดี

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ (Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC) ได้ให้คำแนะนำว่า เด็กทารกควรจะได้รับวัคซีนโรตาเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรตา โดยมักจะเริ่มต้นให้วัคซีนเมื่อทารกมีอายุครบ 2 เดือน แล้วอาจจะต้องให้เพิ่มอีก 2-3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนโรตา

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากวัคซีนโรตา

โดยปกติแล้ว เด็กทารกส่วนใหญ่ที่ได้รับวัคซีนโรตานั้นจะไม่มีผลข้างเคียงอะไร แต่บางคนก็อาจจะเกิดผลข้างเคียงในระดับเบา และมักจะหายไปได้เองโดยไม่จำเป็นต้องทำการรักษาแต่อย่างใด ส่วนในกรณีหายาก ก็อาจจะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้

ผลข้างเคียงในระดับเบา

  • มีอาการหงุดหงิด งุ่นง่าน อยู่ไม่สุข
  • ท้องเสียเล็กน้อย
  • อาเจียน

ผลข้างเคียงในระดับรุนแรง

  • โรคลำไส้กลืนกัน (Intussusception) เป็นภาวะลำไส้อุดตันชนิดหนึ่ง จำเป็นต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาล และอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

ความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง อย่างภาวะลำไส้กลืนกันนั้นมีค่อนข้างน้อย โดยปกติแล้วมักจะเกิดภายใน 1 สัปดาห์ หลังจากได้รับวัคซีนโรตาครั้งที่ 1 หรือครั้งที่ 2 โดยมีความเสี่ยงที่ประมาณ 1 ใน 20,000-100,000 คน

ใครบ้างที่ไม่ควรได้รับวัคซีนนี้

แม้ว่าวัคซีนโรตานี้จะเป็นวัคซีนสำคัญ ที่ทารกส่วนใหญ่ควรได้รับ แต่ก็มีบางเงื่อนไขที่อาจทำให้ทารกคนนั้นไม่เหมาะกับการได้รับวัคซีนโรตาได้ ก่อนพาลูกไปรับวัคซีนโรตา อย่าลืมปรึกษาแพทย์ก่อนว่าลูกของคุณเหมาะที่จะได้รับวัคซีนโรตาหรือไม่

ทารกที่ไม่ควรได้รับวัคซีนโรตา มีดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรง หลังจากได้รับวัคซีนโรตาในรอบแรก
  • ผู้ที่มีโรคภูมิแพ้อย่างรุนแรง ต่อส่วนประกอบในวัคซีนโรตา เช่น แพ้ยาง โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนรับวัคซีนโรตาว่าลูกของคุณมีอาการแพ้อะไรบ้าง
  • หากทารกนั้นมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอหรือผิดปกติ เช่น มีเชื้อเอชไอวี หรือใช้ยาสเตียรอยด์ เป็นต้น
  • หากทารกคนนั้นเคยมีภาวะลำไส้กลืนกันมาก่อน

ทารกที่กำลังป่วยหนัก หรือป่วยรุนแรงในระดับปานกลาง ควรรอให้หายดีก่อนแล้วจึงค่อยรับวัคซีน ทารกที่มีอาการป่วยในระดับเบาสามารถรับวัคซีนได้ตามปกติ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Rotavirus (RV) Vaccine https://www.webmd.com/children/vaccines/rotavirus-rv-vaccine#1

Rotavirus Vaccination: What Everyone Should Know https://www.cdc.gov/vaccines/vpd/rotavirus/public/index.html

Rotavirus vaccine overview https://www.nhs.uk/conditions/vaccinations/rotavirus-vaccine/

Rotavirus Vaccine: What You Need to Know (VIS) https://www.healthychildren.org/English/safety-prevention/immunizations/Pages/Rotavirus-Vaccine-What-You-Need-to-Know.aspx

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/12/2022

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ลูก 2 เดือน ฉีดวัคซีน เป็นไข้ ควรดูแลอย่างไรบ้าง

ฉีด วัคซีน ทารก 2 เดือน ต้องฉีดวัคซีนอะไรบ้าง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 01/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา