RDS (Respiratory Distress Syndrome) คือ กลุ่มอาการหายใจลำบากที่พบได้บ่อยในทารกคลอดก่อนกำหนด เนื่องจากปอดของทารกยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ เช่น หายใจตื้น หายใจเร็ว แลกเปลี่ยนออกซิเจนไม่ได้ และอาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่รุนแรงถึงแก่ชีวิตได้
[embed-health-tool-vaccination-tool]
RDS คือ อะไร
RDS คือ กลุ่มอาการหายใจลำบากที่พบได้บ่อยในทารกคลอดก่อนกำหนด เนื่องจากการที่ปอดของทารกยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ทำให้ทารกมีอาการหายใจผิดปกติ และเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคปอดเรื้อรัง ภาวะปอดรั่ว ถุงลมโป่งพอง เลือดออกในสมองหรือช่องปอด พัฒนาการล่าช้า ความบกพร่องทางสติปัญญา และสูญเสียการมองเห็น บางรายที่อาการรุนแรงอาจเสียชีวิตได้
สาเหตุที่ทำให้เกิด RDS
RDS เกิดจากการที่ปอดของทารกพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้มีสารลดแรงตึงผิวในปอดไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลต่อการขยายตัวของถุงลมเวลาหายใจ โดยปกติสารลดแรงตึงผิวนี้จะเริ่มสร้างเมื่อทารกในครรภ์อายุได้ 24-28 สัปดาห์ แต่หากทารกคลอดก่อนกำหนด ก็อาจทำให้สารลดแรงตึงผิวไม่เพียงพอ ทำให้ถุงลมพองตัวได้ยากขึ้น และส่งผลให้ทารกต้องหายใจแรงขึ้นเพื่อพยายามขยายถุงลมในปอด ทำให้ทารกหายใจเหนื่อย
ทั้งยังส่งผลให้ทารกมีออกซิเจนในเลือดน้อย และมีการสะสมของคาร์บอนไซด์ในเลือดเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด (Acidosis) และส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
อาการของ RDS
อาการของ RDS มีดังนี้
- มีปัญหาการหายใจผิดปกติ เช่น หายใจเร็ว หายใจตื้น หายใจมีเสียงหวีด และอาจหยุดหายใจชั่วขณะ
- ซี่โครงบริเวณหน้าอกยุบลงเมื่อหายใจ
- รูจมูกบานขณะหายใจ
- มีอาการตัวเขียวเนื่องจากการขาดออกซิเจน
- ปัสสาวะน้อยลง
ภาวะแทรกซ้อนของ RDS
ภาวะแทรกซ้อนของ RDS มีดังนี้
- เลือดออกภายในปอด กลุ่มอาการหายใจลำบากอาจทำให้เกิดอาการเลือดออกในปอดและสมองได้ ซึ่งคุณหมอจะรักษาด้วยการใช้แรงดันอากาศร่วมกับให้ออกซิเจนจากเครื่องช่วยหายใจเพื่อให้เลือดหยุดไหลและเพิ่มประสิทธิภาพการหายใจ
- ภาวะปอดรั่ว อาจส่งผลให้มีอากาศขังอยู่ในบริเวณหน้าอก และกดทับปอด ทำให้ปอดขยายตัวไม่ได้ หากเป็นมากจะกดทับหัวใจ ทำให้ความดันตก มีภาวะช็อคตามมา
- ถุงลมโป่งพอง ส่งผลให้ทารกมีอาการหายใจตื้น หายใจถี่ และหายใจเร็ว ซึ่งจำเป็นต้องได้รับออกซิเจนเพิ่มโดยการใช้เครื่องช่วยหายใจ
- พัฒนาการล่าช้า โรค RDS อาจส่งผลให้ทารกมีพัฒนาการของสมองล่าช้า เนื่องจากภาวะขาดออกซิเจน หรือภาวะเลือดออกในสมอง นำไปสู่ปัญหาการเคลื่อนไหว การเรียนรู้ การได้ยิน และการมองเห็นที่ล่าช้า
วิธีรักษา RDS
วิธีรักษา RDS ในเด็กทารก มีดังนี้
**ทารกแรกเกิดที่มีภาวะ RDS ทุกราย ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดวิกฤต (NICU)
- รักษาด้วยออกซิเจน คุณหมอจะให้ออกซิเจนกับทารก โดยใช้หน้ากากขนาดเล็ก ๆ ครอบบริเวณจมูก หรือสอดท่อเข้าไปในโพรงจมูก เพื่อควบคุมการหายใจของทารก (ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ) และทำให้ทารกได้รับออกซิเจนเพิ่มมากขึ้น แก้ไขภาวะพร่องออกซิเจน
- ใช้สารลดแรงตึงผิวเทียม สำหรับทารกที่มีความเสี่ยงเกิดโรค RDS สูง คุณหมออาจให้สารลดแรงตึงผิวผ่านท่อช่วยหายใจ
- เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก (CPAP) คือเครื่องช่วยหายใจที่ช่วยดันอากาศหรือออกซิเจนเข้าสู่ทางเดินหายใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเปิดช่องอากาศภายในปอด และให้ทารกหายใจได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
การป้องกัน RDS
สำหรับคุณแม่ที่มีความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด คุณหมออาจให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เพื่อกระตุ้นการพัฒนาของปอด ซึ่งเป็นการเตรียมปอดทารก และช่วยลดความเสี่ยงอาการรุนแรงของอาการหายใจลำบากในทารกได้ โดยจะฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ให้คุณแม่ก่อนคลอด และอาจได้รับการฉีดเข็มที่ 2 หลังจากฉีดเข็มแรกไปแล้ว 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของสูติแพทย์