ทารกแหวะนม สามารถเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว โดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรก เนื่องจากเด็กกำลังปรับตัวเข้ากับการกินอาหาร และร่างกายกำลังค่อยๆ พัฒนาขึ้น ส่วนใหญ่มักจะหายไปภายใน 6-24 ชั่วโมง โดยที่ไม่ต้องทำอะไรเป็นพิเศษ นอกจากดูให้แน่ใจว่า ลูกไม่ขาดน้ำเท่านั้น แต่ต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่า ลูกแหวะนม ไม่ใช่การอาเจียนอย่างต่อเนื่อง เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงได้
ทารกแหวะนมหรืออาเจียน
ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้องรู้จักความแตกต่างระหว่างการอาเจียนจริงๆ กับการแหวะอาหารของเด็ก การอาเจียนเป็นการที่อาหารที่อยู่ในกระเพาะพุ่งออกมาโดยไม่สามารถบังคับได้ ขณะที่การแหวะ (ที่พบบ่อยให้เด็กวัยต่ำกว่าหนึ่งขวบ) เป็นการที่เด็กขย้อนเอาอาหารออกมาทางปาก ปกติแล้วมักจะมาพร้อมกับอาการเรอ
การอาเจียนเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหน้าท้องและกระบังลมเกร็งอย่างรุนแรง ในขณะที่กล้ามเนื้อกระเพาะอาหารหย่อนตัว ปฏิกิริยาสะท้อนนี้ถูกกระตุ้นจาก “ศูนย์ควบคุมการอ้วก” ในสมอง หลังจากที่มันถูกกระตุ้นโดยเส้นประสาทจากกระเพาะอาหารและลำไส้ ที่อาจเกิดจากสาเหตุเหล่านี้
- ระบบย่อยอาหารระคายเคืองหรือบวมขึ้น เนื่องจากอาการติดเชื้อหรือเกิดการอุดตัน
- สารเคมีในเลือด (อย่างเช่นจากยา)
- การถูกกระตุ้นทางประสาทสัมผัส เช่น ภาพหรือกลิ่น
- การกระตุ้นจากประสาทหูส่วนกลาง (อย่างเช่น การอาเจียนที่เกิดจากการวิงเวียน)
สาเหตุของทารกแหวะนม
สาเหตุที่พบได้บ่อยของการแหวะหรืออาเจียนในเด็ก แตกต่างกันไปตามช่วงอายุ เช่น ในช่วงสองสามเดือนแรก ทารกส่วนใหญ่จะแหวะนมเล็กน้อยออกมา ปกติแล้วจะเป็นในช่วงชั่วโมงแรกหลังป้อนนม ปกติจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว อาการนี้จะลดน้อยลงเมื่อเด็กโตขึ้น แต่อาจยังปรากฏอยู่บ้างเล็กน้อยจนอายุ 10-12 เดือน ซึ่งถ้าไม่มีอาการอื่น และไม่ทำให้เด็กน้ำหนักลดลง ก็ถือว่าไม่ผิดปกติ แต่หากเด็กมีอาการอาเจียนต่อเนื่อง อาจมีสาเหตุต่างๆ ดังนี้
โรคลำไส้อุดตัน
ในช่วงอายุสองสัปดาห์จนถึงสี่เดือน การอาเจียนอย่างต่อเนื่องอาจมีสาเหตุมาจาก การที่กล้ามเนื้อบริเวณทางออกของกระเพาะอาหารหนาตัวขึ้น ทำให้เกิดการอุดตัน จนอาหารไม่สามารถผ่านเข้าไปสู่ลำไส้ได้ นี่เป็นอาการร้ายแรงที่ต้องรักษาอย่างทันท่วงทีด้วยการผ่าตัด เพื่อเปิดทางที่ถูกอุดตันนี้ สัญญาณสำคัญของอาการนี้คือ อาการอาเจียนพุ่งเกิดขึ้นทุก 15-30 นาทีหรือน้อยกว่านั้น ทุกครั้งหลังการป้อนอาหาร ถ้าเป็นเช่นนี้ควรรีบไปหาหมอทันที
กรดไหลย้อน หรือภาวะไหลย้อนในเด็ก
บางครั้งการที่ทารกแหวะนมในช่วงสองสามสัปดาห์แรกจนถึงหลายเดือน อาจแย่ลงแทนที่จะดีขึ้น แม้จะไม่ใช่การอาเจียนแบบพุ่ง แต่หากเกิดขึ้นตลอดเวลาเนื่องจากกล้ามเนื้อส่วนล่างของหลอดอาหารหย่อนตัวมากเกินไป ทำให้อาหารจากกระเพาะไหลย้อนกลับข้นมาได้ อาการนี้เรียกอีกอย่างว่า กรดไหลย้อน (GERD) หรือ ภาวะไหลย้อนในเด็ก (Infant Reflux) อาการนี้ปกติแล้วควบคุมได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- อย่าป้อนนมเด็กมากเกินไป หรือเปลี่ยนมาป้อนครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยขึ้นแทน
- ให้เด็กเรอทุกครั้งหลังป้อนนม
- ประคองให้ทารกอยู่ในท่าหลังตรงอย่างน้อย 30 นาทีหลังป้อนนม
- ถ้าทำแบบนี้แล้วไม่ได้ผล อาจต้องรับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่อไป
การติดเชื้อ
สาเหตุของการที่ทารกแหวะนมมักเกิดจากการติดเชื้อที่กระเพาะอาหารหรือลำไส้ ส่วนใหญ่เกิดจากไวรัส แต่บางครั้งก็อาจเกิดจากแบคทีเรียหรือแม้แต่พยาธิ อาการติดเชื้อยังอาจทำให้เด็กมีไข้ ท้องเสีย คลื่นไส้ และปวดท้องร่วมด้วย
ไวรัสโรต้า เป็นสาเหตุที่พบบ่อยในการทำให้ทารกแหวะนมและเด็กเล็กอาเจียน โดยมักจะมีอาการท้องเสียและมีไข้ตามมาด้วย ไวรัสเหล่านี้ติดต่อได้ แต่อาจพบได้น้อยลงในปัจจุบัน เนื่องจากมีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคนี้ได้ นอกเหนือจากไวรัสโรต้าที่เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดอาการอักเสบของกระเพาะอาหารและลำไส้แล้ว ยังมีไวรัสชนิดอื่น อย่างเช่น โนโรไวรัส เอนเทอโรไวรัส และอะดีโนไวรัส
บางครั้งการติดเชื้อนอกระบบย่อยอาหารอาจทำให้เกิดการอาเจียนได้ เช่น การติดเชื้อระบบหายใจ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หูชั้นกลางอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และไส้ติ่งอักเสบ อาการเหล่านี้ต้องได้รับการรักษาทันที ฉะนั้น ควรระวังสัญญาณอันตรายเหล่านี้ให้ดี
- มีเลือดหรือน้ำดี (สีเขียว) ปนออกมาในอาเจียน
- ปวดท้องอย่างหนัก
- อาเจียนต่อเนื่องอย่างหนัก
- ท้องบวมโต
- อาการง่วงซึม หรือหงุดหงิดผิดปกติ
- อาการชัก
- สัญญาณของการขาดน้ำต่างๆ เช่น ปากแห้ง ไม่มีน้ำตา ปัสสาวะน้อย
- ไม่ยอมดื่มน้ำ
- อาเจียนต่อเนื่องมากกว่า 24 ชั่วโมง
ถ้าทารกแหวะนม ควรจับตาดูอย่างใกล้ชิด และจงเชื่อสัญชาตญาณตัวเอง และติดต่อหมอโดยด่วนหากไม่แน่ใจ
การดูแลทารกแหวะนมที่บ้าน
ในกรณีส่วนใหญ่ หากทารกแหวะนมออกมาก็ดูแลและหมั่นสังเกตอาการได้ที่บ้าน สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การดูให้แน่ใจว่าลูกน้อยได้ดื่มน้ำอย่างเพียงพอเพื่อที่จะไม่ขาดน้ำ
หากทารกแหวะนม สามารถให้นมต่อไปได้ทั้งนมแม่หรือนมขวด แต่ถ้าเด็กเริ่มมีสัญญาณของอาการขาดน้ำ ให้ปรึกษาหมอหรือเภสัชกรว่า ควรให้เกลือแร่เพื่อป้องกันอาการขาดน้ำแก่ลูกได้หรือไม่ ผงเกลือแร่จะช่วยทดแทนน้ำและเกลือที่สูญเสียไป เนื่องจากการอาเจียนและท้องเสีย
ในเด็กที่โตขึ้นหน่อย ให้เด็กจิบน้ำบ่อยๆ แต่ควรหลีกเลี่ยงน้ำผลไม้หรือน้ำที่มีแก๊ส จนกว่าเด็กจะรู้สึกดีขึ้น ถ้าเด็กไม่ขาดน้ำ และยังกินอาหารได้ ควรให้กินอาหารตามปกติ แต่ถ้าเด็กมีอาการขาดน้ำ ควรปรึกษาหมอเรื่องการให้เกลือแร่เพิ่มเติม
ถ้าเด็กมีอาการท้องเสียและอาเจียน ควรให้หยุดเรียนหรือไม่ไปที่สถานรับเลี้ยงเด็ก จนกว่าจะครบ 48 ชั่วโมงของการอาเจียนหรือท้องเสียครั้งสุดท้าย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังเด็กอื่น
[embed-health-tool-vaccination-tool]