ยาแก้ไอที่ขายตามร้านขายยาทั่วไปถึงแม้จะหาซื้อได้ง่าย แต่อาจไม่เหมาะให้เด็กรับประทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปี หากลูกมีอาการหวัดเล็กน้อยหรือไอ ควรบรรเทาด้วย วิธีแก้ไอ สำหรับเด็ก ที่เหมาะสมและปลอดภัย ไม่เสี่ยงเกิดผลข้างเคียง ทั้งนี้ หากบรรเทาอาการไอแล้วอาการของเด็กยังไม่ดีขึ้นหรือยิ่งแย่ลง ควรพาไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยอาการและรับการรักษาอย่างเหมาะสม
วิธีแก้ไอ สำหรับเด็ก โดยไม่ต้องใช้ยา
1. น้ำผึ้ง
น้ำผึ้ง เป็นสารให้ความหวานจากธรรมชาติที่สามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ ทั้งยังมีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียและช่วยป้องกันการติดเชื้อ แต่อย่างไรก็ตามน้ำผึ้งกลับไม่ปลอดภัยสำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่าหนึ่งปีเพราะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคโบทูลิซึม
การให้ลูกกินน้ำผึ้งหนึ่งช้อน หรือให้ลูกกินน้ำผึ้งบ่อยตามความต้องการ สามารถทำได้กับเด็กที่อายุ 1 ปีขึ้นไปเท่านั้น และควรระวังไม่ให้มีการกินน้ำผึ้งมากจนเกินไปเพราะในน้ำผึ้งมีสารประกอบของน้ำตาลฟรุกโตสที่อาจส่งผลให้มีอาการท้องเสีย คุณพ่อคุณแม่สามารถผสมน้ำผึ้งในน้ำอุ่นเพื่อให้ลูกสามารถกินน้ำผึ้งได้ง่ายขึ้น หรืออาจมีการผสมน้ำผึ้งกับน้ำมะนาวหรือน้ำขิง เพื่อเพิ่มวิตามินซี
2. การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ
การใช้น้ำเกลือล้างจมูก ทำให้เด็กสามารถสั่งน้ำมูกได้ง่ายขึ้น เพราะการใช้น้ำเกลือล้างจมูกเป็นการขจัดน้ำมูกที่ขวางกั้นอยู่ในทางเดินหายใจ คุณอาจซื้อน้ำเกลือจากร้านขายยาทั่วไป หรืออาจทำเอง โดยผสมเกลือที่ไม่มีไอโอดีนและเบคกิ้งโซดากับน้ำ แล้วนำสารละลายที่ได้นี้ บรรจุในหลอดฉีดยาหรือขวดฉีดพ่นสำหรับล้างจมูก
แต่สำหรับเด็กวัยหัดเดิน คุณพ่อคุณแม่อาจมีการพาลูกนั่งลงในอ่างน้ำอุ่นก็สามารถช่วยให้เด็กจมูกโล่งขึ้นได้ หรืออาจทำหลังจากที่มีการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ
3. ทาวาโปรับ
วาโปรับ (Vapor rub) เป็นยาที่ออกแบบมาเพื่อบรรเทาอาการคัดจมูก ส่วนผสมของวาโปรับ ประกอบด้วยสารกดอาการไอและยาบรรเทาปวดเฉพาะที่ เช่น การบูร เมนทอล และน้ำมันยูคาลิปตัส ดังนั้น หากคุณใช้วิธีนี้เพื่อบรรเทาอาการไอกับลูก ควรทายาชนิดนี้บางๆ บนหน้าอกและลำคอ เพื่อให้เด็กสามารถหายใจเอายาที่ระเหยออกมาเข้าไป แต่อย่างไรก็ตามกุมารแพทย์บางท่านอาจแนะนำให้ทาบริเวณเท้ามากกว่าบริเวณหน้าอกเพื่อความปลอดภัยที่มากกว่า โดยเฉพาะกับเด็กในวัยทารก
4. ดื่มน้ำให้มากขึ้น
เมื่อมีไข้ หรือมีอาการเจ็บคอ การดื่มน้ำมากๆ มีส่วนช่วยให้อาการดีขึ้นได้ เพราะน้ำช่วยลดอาการคอแห้งหรือคันคอ ทั้งยังช่วยในการเจือจางเสมหะให้เบาบางลง อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีเสมหะในลำคอ การดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ ก็ช่วยให้เสมหะเจือจางลงได้ด้วยเช่นกัน
เมื่อไหร่ที่ควรพาเด็กไปพบคุณหมอ
แม้ว่าจะมีวิธีง่ายๆในการช่วยบรรเทาอาการไอให้กับลูก แต่อย่างไรก็ตามหากเกิดอาการหรือสัญญาณบางอย่างที่แสดงให้เห็นว่าลูกมีอาการแย่ลง หรือไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ดังนี้ ควรไปพบคุณหมอ
- มีปัญหาในการหายใจหรือหายใจลำบาก
- หายใจเร็วกว่าปกติ
- ริมฝีปาก ใบหน้า และลิ้นมีสีซีด
- มีไข้สูง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าลูกของคุณกำลังไอ แต่ไม่มีอาการน้ำมูกไหลหรือคัดจมูก)
- หากลูกของคุณมีอายุน้อยกว่า 3 เดือนและมีไข้ ควรพาลูกไปพบคุณหมอ
- หากลูกมีอายุน้อยกว่า 3 เดือน และมีอาการไอมานานกว่าสองสามชั่วโมง ควรพาลูกไปพบคุณหมอ
- มีเสียงคล้ายเสียง “กรน” เวลาหายใจเข้าหลังจากการไอ
- ไอออกมาเป็นเลือด
- มีเสียงแหบ
- เมื่อหายใจเข้าและหายใจออก มีดังเสียงฮืด ๆ
- อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย
- อาการอื่นๆ เช่น มีอาการวิงเวียนศีรษะ ง่วงนอน ปากแห้งหรือเหนียว ร้องไห้น้อยหรือไม่มีน้ำตา หรือไม่ค่อยปัสสาวะ
[embed-health-tool-vaccination-tool]