เด็กนอนกัดฟัน เป็นภาวะที่เด็กขบฟันกรามซี่บนเข้ากับซี่ล่างในขณะนอนหลับเป็นประจำ จนเกิดเสียงดัง และอาจทำให้ฟันสึกและมีอาการปวดฟันและกรามตามมาได้ เด็กอาจเริ่มนอนกัดฟันตั้งแต่ช่วงที่ฟันแท้เริ่มขึ้นหรือตอนอายุประมาณ 6 ขวบ คุณพ่อคุณแม่อาจได้ยินเสียงฟันกรามกระทบหรือขบกันเมื่อเด็กนอนหลับในเวลากลางคืน หรือสังเกตเห็นความผิดปกติของฟัน เช่น ฟันแตก ฟันบิ่น หากพบว่าการนอนกัดฟันส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือกังวลว่าฟันหรือสุขภาพช่องปากของเด็กจะมีปัญหา ควรพาเด็กไปพบทันตแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ สาเหตุ และรับการรักษาที่เหมาะสม
เด็กนอนกัดฟันเกิดจากอะไร
สาเหตุที่ทำให้เด็กนอนกัดฟัน อาจมีดังนี้
- ปัญหาสุขภาพฟัน การมีฟันขึ้นซ้อนเก ฟันห่าง ความสูงของฟันผิดปกติ รวมไปถึงการติดเครื่องมือจัดฟันภายในช่องปาก อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กนอนกัดฟันได้
- ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาในกลุ่มยาต้านเศร้าเอสเอสอาร์ไอ (Selective serotonin reuptake inhibitors หรือ SSRIs) ที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล เป็นต้น ยาในกลุ่มนี้จะไปปรับระดับสารเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งอาจส่งผลต่อพฤติกรรมในขณะนอนหลับได้
- พันธุกรรม เด็กที่นอนกัดฟันอาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรม หากสมาชิกในครอบครัวมีประวัตินอนกัดฟัน ก็อาจทำให้เด็กมีอาการนี้ได้เช่นกัน
- ความเครียดในชีวิตประจำวัน เมื่อเครียดหรือวิตกกังวล ร่างกายจะหลั่งสารอะดรีนาลีนและคอร์ติซอลออกมามาก ส่งผลให้กล้ามเนื้อหดเกร็งโดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาจเป็นเหตุที่ทำให้เด็กนอนกัดฟันได้
- ปัญหาด้านการนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ภาวะต่อมอะดีนอยด์โต ภาวะหายใจทางปากขณะหลับ อาจส่งผลให้เด็กนอนกัดฟันได้
- ปัญหาด้านสุขภาพร่างกายอื่น ๆ เช่น ภาวะชัก โรคลมชักบางชนิด อาจมีอาการแสดงในลักษณะเคี้ยวปาก กัดฟัน
สัญญาณที่บ่งบอกว่า เด็กนอนกัดฟัน
อาการที่เป็นสัญญาณว่าเด็กมีปัญหานอนกัดฟัน อาจมีดังนี้
- เคลือบฟันกร่อน
- ฟันของเด็กดูสึกหรอ มีรอยบิ่นผิดปกติ
- ฟันที่เคยอุดไว้เสียหาย
- ปวดบริเวณขากรรไกรหรือขยับขากรรไกรไม่ค่อยได้
- รู้สึกเสียวฟันเมื่อดื่มน้ำที่ร้อนและเย็น
- เจ็บกล้ามเนื้อกราม
- มีเสียง “คลิก” หรือ “กรอบแกรบ” เวลาอ้าปากหรือขยับขากรรไกร
- ได้ยินเสียงเด็กนอนขบหรือบดฟันในเวลากลางคืน
- มีอาการปวดศีรษะ หรือปวดข้อต่อกระดูกขากรรไกรไปถึงบริเวณหู โดยเฉพาะช่วงตื่นนอน
- นอนหลับไม่เต็มอิ่ม
วิธีแก้ปัญหา เด็กนอนกัดฟัน
การนอนกัดฟันไม่มียาที่ใช้รักษาโดยเฉพาะ ทันตแพทย์อาจรักษาตามอาการ หรือตามสาเหตุที่ส่งผลให้เด็กนอนกัดฟัน
การรักษาด้วยวิธีการทางการแพทย์
- ใส่เฝือกสบฟันหรือฟันยางกันกระแทก ทันตแพทย์อาจแนะนำให้ติดเครื่องมือทางทันตกรรมที่เป็นอะคริลิคใสภายในช่องปาก เพื่อป้องกันฟันสึก โดยให้ใช้เฉพาะเวลากลางคืนเท่านั้น เหมาะกับเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป
- ทำศัลยกรรมช่องปาก ในกรณีที่ฟันเสียหายรุนแรง ฟันที่สึกอาจทำให้เสียวฟันหรือเคี้ยวอาหารลำบาก หมอฟันอาจจำเป็นต้องกรอฟันหรือครอบฟัน เพื่อซ่อมแซมฟันที่เสียหายจากการกัดฟัน
- ปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง ในกรณีที่สงสัยว่ามีภาวะชัก
การรักษาด้วยการปรับพฤติกรรม
- จัดการความเครียดและวิตกกังวล หากอาการกัดฟันเกิดจากความเครียดของเด็ก อาจหาวิธีจัดการความเครียด เช่น ทำกิจกรรมผ่อนคลาย พาเด็กไปพบนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์เด็กเพื่อระบายหรือบรรเทาความเครียดหรือวิตกกังวลที่เกิดขึ้น
- เปลี่ยนยารักษาโรค หากอาการกัดฟันเกิดจากการใช้ยารักษาโรค คุณหมออาจแนะนำให้เปลี่ยนไปใช้ยาที่ไม่ส่งผลข้างเคียงต่อการนอนหลับ
- นอนอย่างมีคุณภาพ คุณพ่อคุณแม่ควรสนับสนุนให้เด็กนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เข้านอนดึกเกินไป นอกจากนี้ การดูแลสภาพแวดล้อมในห้องนอนให้เหมาะสม เช่น หรี่ไฟให้มืด เลือกห้องที่อากาศถ่ายเทได้ดี อาจช่วยให้เด็กหลับสบายขึ้นและลดอาการนอนกัดฟันได้
- บริหารกรามด้วยตัวเอง เช่น ยืดกล้ามเนื้อกรามโดยการอ้าปากให้กว้างที่สุด ทำซ้ำ 10 ครั้ง วันละครั้งหรือสองครั้ง
- บรรเทาอาการปวดด้วยการประคบเย็น หากเด็กปวดกราม คุณพ่อคุณแม่อาจใช้น้ำแข็งห่อด้วยผ้าสะอาดแล้วประคบกล้ามเนื้อที่ปวดหรือบวมเป็นเวลา 20-30 นาที
[embed-health-tool-vaccination-tool]