backup og meta

อาหารเด็ก ที่ดีต่อร่างกาย และปริมาณสารอาหารสำหรับเด็ก

อาหารเด็ก ที่ดีต่อร่างกาย และปริมาณสารอาหารสำหรับเด็ก

อาหารเด็ก ควรมีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการ และควรเริ่มให้เด็กหัดรับประทานอาหารที่หลากหลาย โดยโภชนาการสำหรับเด็กใช้หลักการเดียวกับโภชนาการสำหรับผู้ใหญ่ ควรประกอบไปด้วยสารอาหารที่หลากหลายและครบ 5 หมู่ แต่อาจแตกต่างกันด้านปริมาณและสัดส่วนที่ควรได้รับ 

อาหารเด็ก คืออะไร 

เมื่อเด็กอายุครบ 6 เดือน นมแม่อาจให้สารอาหารได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของเด็ก จึงอาจต้องเริ่มให้เด็กได้ลองรับประทานอาหารเด็ก หรืออาหารแข็ง เพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารเพิ่มขึ้น และครบ 5 หมู่ ทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน และแร่ธาตุ เพราะสารอาหารเหล่านี้สำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก 

โภชนาการที่ดีสำหรับเด็ก 

โภชนาการเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งในการช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโต และพัฒนาการตามวัยของเด็ก โดยเด็กแต่ละช่วงวัย อาจต้องการอาหารเด็กและพลังงานในปริมาณต่อไปนี้

เด็กอายุ 2-4 ปี

เด็กผู้หญิงอายุ 2-4 ปี เด็กผู้ชายอายุ 2-4 ปี 
โปรตีน 56-113 กรัม  โปรตีน 56-142 กรัม 
ผลไม้ 1-1.5 ถ้วย ผลไม้ 1-1.5 ถ้วย
ผัก 1-1.5 ถ้วย ผัก 1-1.5 ถ้วย
ธัญพืช 85-142 กรัม  ธัญพืช 85-142 กรัม 
ผลิตภัณฑ์นม 2-2.5 ถ้วย ผลิตภัณฑ์นม 2-2.5 ถ้วย 

เด็กอายุ 5-8 ปี

เด็กผู้หญิงอายุ 5-8 ปี  เด็กผู้ชายอายุ 5-8 ปี 
โปรตีน 85-142 กรัม โปรตีน 85-156 กรัม
ผลไม้ 1-1.5 ถ้วย ผลไม้ 1-2 ถ้วย
ผัก 1.5-2.5 ถ้วย ผัก 1.5-2.5 ถ้วย
ธัญพืช 113-170 กรัม  ธัญพืช 113-170 กรัม
ผลิตภัณฑ์นม 2.5 ถ้วย ผลิตภัณฑ์นม 2.5 ถ้วย

เด็กอายุ 9-13 ปี

เด็กผู้หญิงอายุ 9-13 ปี  เด็กผู้ชายอายุ 9-13 ปี 
โปรตีน 113-170 กรัม โปรตีน 142-184 กรัม
ผลไม้ 1.5-2 ถ้วย ผลไม้ 1.5-2 ถ้วย
ผัก 1.5-3 ถ้วย ผัก 2-3.5 ถ้วย
ธัญพืช 142-198 กรัม  ธัญพืช 142-255 กรัม
ผลิตภัณฑ์นม 3 ถ้วย ผลิตภัณฑ์นม 3 ถ้วย

เด็กและวัยรุ่นอายุ 14-18 ปี

เด็กผู้หญิงอายุ 14-18 ปี  เด็กผู้ชายอายุ 14-18 ปี 
โปรตีน 142-184 กรัม โปรตีน 156-198 กรัม
ผลไม้ 1.5-2 ถ้วย ผลไม้ 2-2.5 ถ้วย
ผัก 2.5-3 ถ้วย ผัก 2.5-4 ถ้วย
ธัญพืช 170-227 กรัม  ธัญพืช 170-283 กรัม
ผลิตภัณฑ์นม 3 ถ้วย ผลิตภัณฑ์นม 3 ถ้วย 

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโภชนาการสำหรับเด็ก สามารถขอคำปรึกษาจากนักโภชนาการ กุมารแพทย์โภชนาการ หรือคุณหมอประจำตัวเด็กได้

ควรเริ่มให้อาหารเด็กเมื่อไร

คุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มป้อนอาหารเด็ก หรืออาหารแข็งได้ เมื่อเด็กอายุประมาณ 6 เดือน แต่สถาบันการแพทย์บางแห่งอาจแนะนำให้เด็กเริ่มรับประทานอาหารแข็งได้ตั้งแต่อายุ 4 เดือน โดยพิจารณาตามความพร้อมของเด็กแต่ละคน หรือตามดุลยพินิจของกุมารแพทย์ โดยเด็กควรเริ่มกินอาหารแข็งควบคู่ไปกับการกินน้ำนมแม่ซึ่งเป็นแหล่งสารอาหารสำคัญ เด็กวัยนี้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงต้องการพลังงานและสารอาหารเพิ่มขึ้น และการดื่มน้ำนมแม่อย่างเดียวอาจให้สารอาหารที่จำเป็นได้ไม่เพียงพอ เด็กจึงจำเป็นต้องได้รับสารอาหารเพิ่มจากแหล่งอื่น 

อาหารที่เด็กควรได้รับและควรเลี่ยง 

อาหารที่เหมาะสำหรับเด็ก

สารอาหารต่อไปนี้ อาจช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโต และพัฒนาการของเด็กได้ 

  • โปรตีน สามารถพบได้ในเนื้อไก่ เนื้อปลา ไข่ ถั่วเหลือง เต้าหู้ จำเป็นต่อการทำงานของระบบประสาท และสมอง รวมถึงช่วยสร้างมวลกล้ามเนื้อ หากได้รับโปรตีนไม่เพียงพออาจส่งผลกระทบต่อเซลล์สมอง จนเด็กอาจเรียนรู้ได้ช้า 
  • ผัก และผลไม้ อุดมด้วยวิตามิน เช่น วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี และแร่ธาตุ ที่ช่วยเสริมความแข็งแรงและพัฒนาการทางร่างกาย เด็กควรได้รับผักและผลไม้หลากชนิด ให้ครบทั้ง 5 สี โดยคุณพ่อคุณแม่ควรนึ่งผักให้สุก และบดผักผลไม้ให้ละเอียด ก่อนนำไปปรุงอาหาร เพื่อป้องกันเด็กสำลักอาหาร
  • ธัญพืช เลือกธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ขนมปังโฮลวีต ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ซีเรียล ลูกเดือยต้มสุก ควินัว เพราะอุดมด้วยคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนที่ให้พลังงาน มีกากใยช่วยในระบบขับถ่าย และมีวิตามินบีบำรุงสมอง เป็นต้น

อาหารเด็กที่ควรหลีกเลี่ยง 

แม้คุณพ่อคุณแม่จะสามารถลองป้อนอาหารเด็กได้เมื่อลูกมีอายุครบ 6 เดือน แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด ดังต่อไปนี้ 

  • น้ำตาล เด็กอายุน้อยกว่า 24 เดือนควรหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาล เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ เพราะอาจทำให้ฟันผุ 
  • น้ำผึ้ง เด็กอายุต่ำกว่า 12 เดือน ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำผึ้ง เพราะอาจมีเชื้อแบคทีเรีย และอาจทำให้เกิดโรคโบทูลิซึม (Botulism) ซึ่งเกิดจากสารพิษที่ผลิตโดยแบคทีเรียคลอสติเดียมโบทูลินัม (Clostridium Botulinum) ที่อาจทำให้ท้องเสีย
  • เกลือและอาหารแปรรูป ควรจำกัดอาหารที่มีส่วนผสมของเกลือ อาหารกระป๋อง และเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น เบคอน แฮม ไส้กรอก เพราะไม่ดีต่อไตของเด็กซึ่งยังพัฒนาไม่เต็มที่และทำงานได้ไม่สมบูรณ์นัก เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีควรได้รับเกลือน้อยกว่า 1 กรัมต่อวัน และเด็กอายุ 1-3 ปี ควรได้รับเกลือไม่เกิน 2 กรัมต่อวัน
  • นมวัว UHT หรือนมพาสเจอร์ไรส์ เด็กอายุต่ำกว่า 12 เดือน ไม่ควรดื่มนมวัว เนื่องจากในนมวัวมีโปรตีนและแร่ธาตุมากเกินกว่าที่ลำไส้ และไตของเด็กจะจัดการได้ อีกทั้งนมวัวอาจมีสารอาหารที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 เดือนด้วย 
  • อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ เช่น น้ำผลไม้ น้ำนมดิบ เพราะอาจมีจุลินทรีย์ก่อโรค ที่อาจส่งผลให้เด็กท้องเสีย หรือท้องร่วงได้ 

เคล็ดลับในการป้อนอาหารเด็ก 

  • บดอาหารให้ละเอียดก่อนป้อน เพื่อลดความเสี่ยงที่เด็กจะสำลักอาหาร ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก ควรเริ่มให้เด็กกินอาหารกึ่งข้นกึ่งเหลวก่อนเพื่อกระตุ้นให้กลืนง่าย เมื่อเห็นว่าเด็กกลืนอาหารได้คล่องและไม่มีปัญหา จึงค่อย ๆ เพิ่มความข้นของอาหารบดได้
  • ควรป้อนอาหารทีละเล็กน้อย ด้วยช้อนสำหรับเด็ก
  • ขณะเด็กรับประทานอาหาร ควรคอยสังเกตให้ดี อย่าให้คลาดสายตา 
  • หากเด็กสามารถนั่งรับประทานอาหารเองได้ ควรฝึกให้นั่งบนเก้าอี้เด็ก ไม่ควรให้วิ่งเล่นขณะรับประทานอาหาร เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุ อาหารติดคอ หรือสำลัก 
  • หากเด็กไม่ยอมรับประทานอาหารชนิดใหม่ หรือคายอาหาร ไม่ควรบังคับให้เด็กรับประทานอาหารนั้น ๆ เพราะอาจทำให้เด็กรู้สึกไม่ดีกับการรับประทานอาหาร และไม่ยอมรับประทานอาหารชนิดนั้นอีก ควรเน้นให้เด็กรับประทานอย่างมีความสุข

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Foods to avoid giving babies and young children. https://www.nhs.uk/conditions/baby/weaning-and-feeding/foods-to-avoid-giving-babies-and-young-children/. Accessed October 8, 2021

Foods and Drinks to Avoid or Limit. https://www.cdc.gov/nutrition/infantandtoddlernutrition/foods-and-drinks/foods-and-drinks-to-limit.html. Accessed October 8, 2021

Nutrition for kids: Guidelines for a healthy diet. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/childrens-health/in-depth/nutrition-for-kids/art-20049335. Accessed October 8, 2021

Kid’s Healthy Eating Plate. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/kids-healthy-eating-plate/. Accessed October 8, 2021

Food Safety Tips for Young Children. https://www.eatright.org/homefoodsafety/safety-tips/food-poisoning/food-safety-tips-for-young-children. Accessed October 8, 2021

Feeding your baby: 6–12 months. https://www.unicef.org/parenting/food-nutrition/feeding-your-baby-6-12-months. Accessed October 8, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

29/09/2022

เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

สารอาหารสำหรับทารก ที่ควรกินมีอะไรบ้าง

อาหารพัฒนาสมองเด็กก่อนวัยเรียน เสริมสร้างพัฒนาการให้เฉียบแหลม


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 29/09/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา