พัฒนาการ ทารก ในช่วงขวบปีแรก นับตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 12 เดือน ถือเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากละเลยอาจทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้ากว่าวัย และส่งผลต่อการใช้ชีวิตในอนาคตได้ การดูแลเอาใจใส่ของคนในครอบครัวในด้านต่าง ๆ เช่น อาหารสำหรับทารก กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่อาจส่งเสริมให้เด็กทารกมีพัฒนาการและการเจริญเติบโตที่สมวัย
[embed-health-tool-child-growth-chart]
พัฒนาการ ทารก ช่วงขวบปีแรก
พัฒนาการของทารกช่วงขวบปีแรก แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่
- ทารกอายุ 0-3 เดือน
ทารกแรกเกิดอาจยังไม่รู้ว่าบุคคลที่อยู่ตรงหน้าคือใคร แต่เมื่อทารกอายุได้ประมาณ 1 เดือน อาจเริ่มมีพัฒนาการ ดังต่อไปนี้
-
- จดจำเสียงและใบหน้าของคุณพ่อคุณแม่ และตอบสนองต่อเสียงที่ได้ยินได้ เช่น รู้จักยิ้มตอบ
- มองตามวัตถุที่เคลื่อนไหวไปมา
- เอื้อมมือจับของเล่นที่ห้อยอยู่ได้ หรือหากวางสิ่งของไว้ในมือทารก ทารกอาจกำของสิ่งนั้นไว้แน่น
- หัดยกศีรษะและดันตัวขึ้น
- เอามือเข้าปาก ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่าทารกกำลังหิว
- ทารกอายุ 4-6 เดือน
อาจมีการตอบสนองหรือการแสดงอารมณ์ออกมาให้คุณพ่อคุณแม่รับรู้ รวมถึงมีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ ดังนี้
-
- หัวเราะ ยิ้ม ร้องไห้
- ส่งเสียงอ้อแอ้เพื่อสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่
- เอื้อมมือออกไปหยิบจับสิ่งของที่อยู่ตรงหน้า เช่น เส้นผม ของเล่น
- เริ่มรู้จักควบคุมศีรษะ และอาจเริ่มพลิกตัวจากนอนหงายเป็นเป็นนอนคว่ำ จากนอนคว่ำเป็นนอนหงายตัวด้วยตัวเอง
- นอนหลับได้นานขึ้น
- ทารกอายุ 7-9 เดือน
เป็นช่วงครึ่งหลังของขวบปีแรก ซึ่งทารกมักมีพัฒนาด้านร่างกาย สติปัญญา และการเรียนรู้ ดังนี้
-
- เริ่มนั่งตัวตรงพิงกับโซฟา หรือกำแพงได้เป็นเวลานาน
- เคลื่อนที่ด้วยการคลานโดยใช้มือและเข่า เด็กบางคนอาจเริ่มตั้งไข่ คือ พยายามหาที่จับและพยุงตัวขึ้น
- ส่งเสียงเรียกพ่อแม่เป็นคำ แต่อาจยังไม่ชัดเจนนัก
- เข้าใจความหมายภาษามือและจดจำท่าทางได้ เช่น โบกมือบ๊ายบาย
- ทารกอายุ 10-12 เดือน
ถือเป็นช่วงสุดท้ายของขวบปีแรก และเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยเด็กหัดเดิน เด็กจะรู้จักสังเกตและมีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ที่มากขึ้น ดังนี้
-
- พูดสื่อสารได้มากกว่า 1-2 คำ
- นิ้วมือเริ่มแข็งแรงขึ้น ควบคุมนิ้วมือในการหยิบจับสิ่งต่าง ๆ หรือหยิบอาหารเข้าปากเองได้
- เริ่มหัดเดิน ด้วยการก้าวขาเล็ก ๆ ระยะสั้น 2-3 ก้าว พร้อมจับเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ไปด้วย เพื่อให้ยืนได้มั่นคงขึ้น
- จดจำ และเลียนแบบพฤติกรรม เช่น แกล้งคุยโทรศัพท์
ปัญหาพัฒนาการทารกที่พบบ่อย
ปัญหาพัฒนาการของทารกที่พบบ่อย คือ พัฒนาการล่าช้า ที่ส่งผลกระทบด้านการสื่อสาร การเคลื่อนไหว ความคิด อารมณ์ นำไปสู่ความผิดปกติของระบบประสาท ความพิการทางพัฒนาการ โดยอาจมาจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
- สมองพิการ
- สมาธิสั้น
- ภาวะสูญเสียการได้ยิน การมองเห็น
- โรคออทิสติก
- ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ที่คุณแม่ดื่มระหว่างตั้งครรภ์
- กลุ่มอาการโครโมโซมเอกซ์เปราะ (Fragile X syndrome หรือ FXS)
- ความพิการทางสติปัญญา
- ดีซ่าน
- ความผิดปกติทางการเรียนรู้ด้านภาษา
- กล้ามเนื้อเสื่อม
- โรคฮีโมฟีเลีย หรือโรคเลือดไหลไม่หยุด (Hemophilia)
- โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle Cell Disease หรือ SCD)
- ความบกพร่องของกระดูกไขสันหลัง (Spina bifida)
- โรคทูเร็ตต์ (Tourette Syndrome หรือ TS)
วิธีกระตุ้น พัฒนาการทารก
วิธีที่อาจช่วยกระตุ้นพัฒนาการทารกได้ มีดังนี้
- พูดคุยกับทารกบ่อย ๆ
- อุ้มและโอบกอดทารกด้วยความรัก
- ร้องเพลง เปิดเพลง อ่านหนังสือให้ทารกฟัง
- ฝึกการเรียนรู้และการสังเกตให้ทารก ด้วยการทำปากเป็นตัว O หรือแลบลิ้น หากทารกทำตาม อาจมีความหมายว่าทารกพัฒนาการด้านการเรียนรู้ สังเกต และจดจำ
- กระตุ้นการเคลื่อนไหว การได้ยิน และการมองเห็น ด้วยของเล่นที่ดึงดูดความสนใจ เพื่อให้ทารกมองตามและเอื้อมมือมาจับ
- พาทารกนั่งรถเข็นเด็กออกไปเดินเล่นนอกบ้าน เพื่อฟังเสียงธรรมชาติ เรียนรู้สิ่งแปลกใหม่
การดูแลทารกช่วงขวบปีแรก
วิธีดูแลทารกช่วงขวบปีแรก เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของทารก มีดังนี้
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนสัมผัสทารก เนื่องจากทารกแรกเกิดยังมีระบบภูมิคุ้มกันไม่สมบูรณ์ เสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย
- ขณะอุ้มหรือยกทารก ควรประคองศีรษะทารกให้ดี เพราะกระดูกคอของทารกยังไม่แข็งแรงนัก
- ไม่ควรเล่นกับทารกรุนแรง เช่น การเขย่า การอุ้มโยน เพราะอาจส่งผลให้ทารกเลือดออกในสมอง และเสียชีวิตได้
- ให้ทารกกินนมจากเต้าคุณแม่ทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง เป็นเวลา 10-15 นาที หรือหากเป็นนมผง ควรชงให้ทารกเริ่มกินครั้งละ 2-3 ออนซ์ และเพิ่มปริมาณตามความต้องการของแต่ละช่วงวัย
- ควรทำให้ทารกเรอหลังรับประทานอาหารหรือนม โดยการอุ้มทารกพาดไหล่ พยุงศีรษะ แล้วใช้มืออีกข้างตบหลังทารกเบา ๆ เพื่อไล่แก๊สหรืออากาศที่เข้าไปในท้องระหว่างดูดนม ป้องกันทารกอาเจียน หรือเป็นกรดไหลย้อน
- ควรให้ทารกนอนหลับอย่างเพียงพอ ปกติแล้วทารกมักใช้เวลานอนมากกว่า 16 ชั่วโมง แต่อาจสะดุ้งตื่นทุก ๆ 2-3 ชั่วโมงเมื่อรู้สึกหิว เนื่องจากกระเพาะอาหารของทารกมีขนาดเล็กและนมแม่ย่อยเร็ว จึงอาจทำให้ทารกหิวบ่อย
- ไม่ควรสวมเสื้อผ้าหรือห่มผ้าหนา ๆ ให้ทารก เพราะอาจทำให้ทารกหายใจไม่ออก เสี่ยงเสียชีวิตกะทันหัน
- เปลี่ยนท่านอนให้ทารกบ้าง เช่น ให้ทารกนอนตะแคงซ้ายขวาสลับกันไป เพื่อป้องกันศีรษะไม่สมส่วน เนื่องจากกระดูกของทารกอาจไม่แข็งแรง หากนอนท่าใดท่าหนึ่งติดต่อกันนาน ๆ อาจทำให้ศีรษะด้านใดด้านหนึ่งแบนราบได้
- ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ทารกทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง หรือเมื่อมีการอุจจาระหรือปัสสาวะ เพื่อป้องกันการหมักหมม การเกิดผื่นผ้าอ้อม การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และควรทำความสะอาดอวัยวะเพศและก้นของทารกให้สะอาดก่อนใส่ผ้าอ้อมทุกครั้ง
- ห่อตัวทารก เพื่อเพิ่มความอบอุ่นและอาจทำให้ทารกรู้สึกปลอดภัย หรือสบายใจขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการห่อตัวเมื่อทารกอายุได้ 2 เดือนขึ้นไป เพราะทารกจะเริ่มพลิกตัว การห่อตัวจึงเป็นการปิดกั้นการกระตุ้นพัฒนาการ และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตกะทันหันได้
- สำหรับทารกที่สายสะดือยังไม่หลุด คุณแม่ควรใช้ฟองน้ำค่อย ๆ เช็ดตัวให้ทารก โดยให้สายสะดือเปียกน้ำน้อยที่สุดจนกว่าสายสะดือหลุดออก หรือหากสายสะดือเปียกให้ใช้ไม้พันสำลีซับให้แห้ง
- ดูแลสายสะดือทารกให้สะอาด ด้วยการเช็ดทำความสะอาดให้แห้ง จนกว่าสายสะดือทารกจะหลุดออก หากสะดือทารกมีสีแดง มีกลิ่นเหม็น และหนองไหล ควรปรึกษาคุณหมอทันที
- ให้ทารกอาบน้ำอุ่น และควรทดสอบอุณหภูมิน้ำก่อนนำทารกลงไปในอ่าง น้ำในอ่างไม่ควรลึกเกิน 2-3 นิ้ว ควรประคองลำตัวและศีรษะทารกตลอดการอาบน้ำ