เด็กติดน้ำหวาน เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่พบได้มาก จากข้อมูลของสมาคมต่อมไร้ท่อเด็กและวัยรุ่นไทย พบว่า เมื่อปี พ.ศ. 2562 มีจำนวนของเด็กที่มีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนกว่าร้อนละ 1.6-2.3 และเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 กว่าร้อยละ 15.3 อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปัญหาเด็กติดน้ำหวานอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งเพิ่มความเสี่ยงโรคอ้วน โรคเบาหวาน ทำลายสุขภาพฟัน และอาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของเด็ก ดังนั้น ผู้ปกครองจึงควรจัดการกับปัญหาการติดน้ำหวานของเด็กให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
[embed-health-tool-bmi]
ติดน้ำหวาน อันตรายอย่างไร
- อาจทำให้อ้วน มีงานวิจัยมากกว่า 90 ชิ้น ที่บอกว่าน้ำหวานกับปัญหาน้ำหนักตัวของเด็กเกี่ยวข้องกัน การกินน้ำหวานวันละ 1 แก้วหรือ 2 แก้วต่างก็ทำให้เกิดปัญหาได้ การให้ลูกๆ กินน้ำหวาน นอกจากจะแคลอรี่สูงแล้ว ยังไม่ช่วยทำให้อิ่มอีกด้วย เด็กๆ จะรู้สึกอยากกินอย่างอื่นเพิ่มอีกเวลาที่กินน้ำหวาน มีงานวิจัยที่พบว่า เด็กผู้หญิงที่กินน้ำหวานมากๆ ในวัย 3-9 ขวบ ตอนที่อายุ 13 ปี เด็กผู้หญิงกลุ่มนี้จะมีน้ำหนักตัวมากกว่าเพื่อนๆ แถมยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวาน หรือโรคหัวใจและหลอดเลือด เพราะเด็กๆ มีรอบเอวหนา มีความดันสูง และมีไขมันดี (HDL) ต่ำ
- ทำลายสุขภาพฟัน นอกจากนี้น้ำหวานประเภทน้ำอัดลม ยังทำลายฟันของเด็กๆ สมาคม American Academy of Pediatrics ได้กล่าวไว้ว่า น้ำอัดลมเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพช่องปาก เพราะว่ามีน้ำตาลเยอะ และความเป็นกรดของน้ำอัดลมจะทำลายผิวฟัน ซึ่งจะทำให้ฟันผุได้ในอนาคต
- อาจทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ The Journal of Pediatrics ได้ทำการวิจัยกับเด็กอายุ 5 ขวบ จำนวน 3,000 คน จากเมืองต่างๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ผลการวิจัยพบว่า พฤติกรรมก้าวร้าวของเด็ก และปัญหาเรื่องสมาธิในเด็ก เกี่ยวข้องกับการดื่มน้ำอัดลมของเด็กๆ เด็กที่ดื่มน้ำอัดลมมากกว่า 4 แก้วต่อวัน หรือมากกว่านั้น มีแนวโน้มที่จะทำลายข้าวของของคนอื่น หาเรื่องเพื่อน หรือชอบมีปัญหากับเพื่อนที่โรงเรียน
วิธีแก้ปัญหาลูกติดน้ำหวาน
การแก้ปัญหาอาการติดน้ำหวานของลูก อาจไม่สามารถแก้ได้ในทันที แต่ว่าอาการติดน้ำหวานจะค่อยๆ ดีขึ้นได้ ถ้าผู้ปกครองทำดังต่อไปนี้
- ให้ดื่มน้ำผลไม้คั้นสดแทนน้ำหวาน ให้ลูกดื่มน้ำผลไม้แทนน้ำหวาน เช่น น้ำส้มคั้นสด หรือถ้าลูกติดความซ่าของน้ำอัดลม คุณพ่อคุณแม่อาจนำน้ำผลไม้มาผสมกับโซดาเพื่อเพิ่มความซ่าก็ได้
- ไอศกรีมผลไม้ก็น่าสนใจ ลูกติดน้ำหวานเพราะหวานเย็นชื่นใจ ลองนำแตงโมไปแช่เย็น หรือชวนลูกทำไอศกรีมผลไม้ เพราะผลไม้จะมีแคลอรี่จะต่ำกว่าการกินน้ำหวาน แถมยังมีวิตามินจากผลไม้อีกด้วย
- เลือกเครื่องดื่มน้ำตาลน้อย ค่อยๆ ให้ลูกได้ลองเครื่องดื่มน้ำตาลน้อย และลดปริมาณน้ำหวานในบ้านลง ก็จะทำให้ลูกรู้สึกว่าเขายังได้กินน้ำหวาน น้ำอัดลมเหมือนเดิม แต่ปริมาณน้ำตาลน้อยกว่าเดิม
- ค่อยๆ ลดปริมาณ ไม่ควรสั่งห้ามไม่ให้ลูกกินน้ำหวานอีก เพราะจะทำให้เด็กๆ เครียดได้ คุณพ่อคุณแม่อาจค่อยๆ ลดปริมาณน้ำหวานลงเรื่อยๆ ทุกวัน ก็จะช่วยทำให้เขากินน้ำหวานน้อยลงได้