backup og meta

ลูกติดน้ำอัดลม ดื่มน้ำอัดลมบ่อย คุณพ่อคุณแม่จะรับมืออย่างไรดี

ลูกติดน้ำอัดลม ดื่มน้ำอัดลมบ่อย คุณพ่อคุณแม่จะรับมืออย่างไรดี

น้ำอัดลมเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมในคนทุกวัย เพราะมีรสชาติหวาน ดื่มแล้วรู้สึกสดชื่น แต่หาก ลูกติดน้ำอัดลม จะส่งผลเสียต่อสุขภาพและพัฒนาการของลูกได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรช่วยให้ลูกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม ลดการดื่มน้ำอัดลม เพื่อให้ลูกมีสุขภาพดีขึ้น

[embed-health-tool-bmi]

ลูกติดน้ำอัดลม อันตรายอย่างไร

หากลูกติดน้ำอัดลมอาจมีผลเสียต่อสุขภาพ ดังนี้

เสี่ยงเกิดโรคอ้วน

เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงอย่างน้ำอัดลม มักให้แคลอรี่สูงแต่ให้สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพน้อย การดื่มน้ำอัดลมบ่อย ๆ จึงเสี่ยงทำให้ลูกได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน หรือได้รับสารอาหารบางชนิดมากเกินไป เช่น คาร์โบไฮเดรต ทั้งยังอาจทำให้ร่างกายสะสมแคลอรี่เอาไว้มากขึ้น หากลูกไม่ได้ทำกิจกรรมที่ช่วยเผาผลาญแคลอรี่ส่วนเกิน ก็อาจทำให้น้ำหนักขึ้น หรือเสี่ยงเกิดโรคอ้วนตั้งแต่อายุยังน้อย

เสี่ยงฟันผุ

น้ำอัดลมมีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูง หากคุณพ่อคุณแม่ไม่คอยดูแลให้เด็ก ๆ ดื่มน้ำอัดลมในปริมาณที่เหมาะสม และแปรงฟันหลังรับประทานอาหารและดื่มน้ำอัดลม ทำให้มีน้ำตาลสะสมตามผิวฟัน และนำไปสู่ปัญหาสุขภาพช่องปากอย่างฟันผุได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเด็กดื่มน้ำอัดลมในมื้อเย็นแล้วไม่แปรงฟัน ก็จะยิ่งเสี่ยงต่อฟันผุมากขึ้นไปอีก

เสี่ยงเกิดปัญหาในกระเพาะอาหาร

น้ำอัดลมนอกจากจะให้น้ำตาลสูงแล้ว ยังมีกรดจำพวกกรดคาร์บอนิก (Carbonic acid) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้น้ำอัดลมซ่า มีฟอง และมีรสออกเปรี้ยว แต่กรดชนิดนี้มีฤทธิ์กัดกร่อน หากลูกติดน้ำอัดลมและดื่มน้ำอัดลมบ่อย ๆ กรดคาร์บอนิกอาจทำให้จะทำให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร จนกระเพาะอาหารอักเสบ ทั้งยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคลำไส้อักเสบได้ด้วย

เสี่ยงเกิดภาวะกระดูกพรุน

น้ำอัดลมมีกรดฟอสฟอริก (Phosphoric acid) ซึ่งหากดื่มบ่อย ๆ เกิดการสะสมในร่างกายมากเกินไป จะเสี่ยงทำให้แคลเซียมในมวลกระดูกสูญสลาย ในระยะยาวอาจทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้

วิธีรับมือเมื่อ ลูกติดน้ำอัดลม

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของเด็ก ๆ ดังต่อไปนี้ อาจมีส่วนช่วยแก้ปัญหาลูกติดน้ำอัดลมได้

ลดปริมาณการดื่มน้ำอัดลม

การลดปริมาณการดื่มน้ำอัดลมของลูกลงทีละนิด โดยไม่ห้ามหรือหักดิบจนเกินไป อาจช่วยให้ลูกเลิกติดน้ำอัดลมได้ คุณพ่อคุณแม่ควรค่อย ๆ ลดปริมาณการดื่มน้ำอัดลมของลูกลงให้เหลือวันละครั้ง สองวันครั้ง หรือสามวันครั้ง จนลูกสามารถเว้นระยะห่างในการดื่มน้ำอัดลมหรือไม่ดื่มน้ำอัดลมเลยได้ในที่สุด โดยปริมาณน้ำอัดลมที่แนะนำต่อวันคือ ไม่เกิน 200-350 มิลลิลิตร (8-12 ออนซ์)

ให้ลูกดื่มน้ำเปล่าบ่อยขึ้น

คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกเลือกน้ำเปล่าเป็นเครื่องดื่มในการดับกระหาย แม้ว่าน้ำเปล่าจะไม่ให้รสชาติหรือความซ่าเหมือนกับน้ำอัดลม แต่ก็เป็นเครื่องดื่มที่มีส่วนช่วยรักษาสมดุลและกระตุ้นการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้ดีกว่าน้ำอัดลม

ให้ลูกดื่มนม

การให้ลูกดื่มนมแทนน้ำอัดลมอาจช่วยให้ลูกเลิกติดน้ำอัดลมได้ โดยคุณพ่อคุณแม่อาจให้ลูกพกนมกล่องติดตัวไว้ เมื่อรู้สึกอยากดื่มเครื่องดื่มขึ้นมา ก็ให้ดื่มนมที่เตรียมไว้แทน อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ดีต่อสุขภาพของลูก ควรเลือกนมที่ไม่มีน้ำตาล หรือมีน้ำตาลน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกได้รับน้ำตาลจากเครื่องดื่มมากเกินไป

ให้ลูกดื่มน้ำผลไม้คั้นสด

น้ำผลไม้คั้นสดมีความหวานจากธรรมชาติ อาจช่วยให้ลูกดื่มได้ง่ายกว่าน้ำเปล่าหรือนม อย่างไรก็ตาม ควรเป็นน้ำผลไม้ที่ไม่เพิ่มน้ำตาลหรือน้ำเชื่อมมากเกินไป หรือไม่ควรเพิ่มสารให้ความหวานอื่น ๆ เลย เพราะน้ำตาลธรรมชาติที่มีอยู่ในผลไม้ก็เพียงพอที่จะทำให้สัมผัสได้ถึงความหวานแล้ว

พกขวดน้ำ

เพื่อให้ลูกสามารถงดการดื่มน้ำอัดลมได้ง่ายขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจฝึกให้เด็กพกขวดน้ำส่วนตัว ยิ่งหากขวดน้ำมีลวดลายที่ลูกชอบ ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่ลูกจะหยิบขวดน้ำมาดื่มบ่อย ๆ วิธีนี้อาจช่วยให้เด็กดื่มน้ำเปล่าได้มากขึ้น และลดการดื่มน้ำอัดลมลง

ให้รางวัลที่เหมาะสม

เพื่อให้เป้าหมายในการเลิกดื่มน้ำอัดลมดูมีแรงจูงใจมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจกำหนดรางวัลความสำเร็จไว้กระตุ้นให้ลูกอยากเลิกดื่มน้ำอัดลมได้ไว ๆ เช่น ถ้าสัปดาห์นี้ดื่มน้ำอัดลมแค่เพียงครั้งเดียว จะพาไปสวนสนุก หรือถ้าสัปดาห์นี้ไม่ดื่มน้ำอัดลมเลย จะซื้อของเล่นที่ชอบให้ การให้รางวัลเมื่อเด็กทำเป้าหมายสำเร็จ มีส่วนช่วยผลักดันให้เด็กต้องการทำสิ่งต่าง ๆ ให้บรรลุได้ อย่างไรก็ตาม ควรเริ่มจากกรอบเวลาสั้น ๆ เช่น สามวัน หรือหนึ่งสัปดาห์ แล้วค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาให้นานขึ้น จนกระทั่งเด็กดื่มน้ำอัดลมได้น้อยลง ไม่ดื่มเลย หรือไม่กลับไป ติดน้ำอัดลม อีกแล้ว

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Lower sugar drinks for kids. https://www.nhs.uk/change4life/food-facts/healthier-snacks-for-kids/lower-sugar-drinks-for-kids-stop-tooth-decay. Accessed March8, 2021

Why no sweet drinks for children. https://www.education.vic.gov.au/Documents/childhood/professionals/support/nosweetdrinks.pdf. Accessed March8, 2021

Healthy Drinks for Kids. https://www.hopkinsallchildrens.org/Patients-Families/Health-Library/HealthDocNew/Healthy-Drinks-for-Kids. Accessed June 17, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

03/04/2023

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ลูกอาละวาด เกิดจากอะไร คุณพ่อคุณแม่ควรรับมืออย่างไร

ติดน้ำหวาน เป็นอันตรายอย่างไรต่อร่างกายของลูก


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 03/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา