backup og meta

ลูกติดหวาน ควรทำอย่างไร

ลูกติดหวาน ควรทำอย่างไร

ลูกติดหวาน เป็นหนึ่งในปัญญาที่สร้างความหนักใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ เมื่อลูกเอาแต่รับประทานขนมหวาน ไม่ว่าจะเป็นลูกอม ไอศกรีม เค้ก โดนัท หรือน้ำอัดลม จนไม่ยอมกินข้าว ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน โรคขาดสารอาหาร โรคเบาหวาน ฟันผุ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรศึกษาวิธีรับมืออย่างเหมาะสมเมื่อลูกติดหวาน เพื่อช่วยดูแลสุขภาพของลูกให้แข็งแรง ห่างไกลโรค

[embed-health-tool-vaccination-tool]

สาเหตุที่ทำให้ลูกติดหวาน

น้ำนมแม่มีรสหวานอ่อน ๆ ทำให้เด็กชอบกินหวานมาตั้งแต่กำเนิด อีกทั้งต่อมรับรสของเด็กยังไวต่อสัมผัสมากกว่าผู้ใหญ่ เวลาได้กินอาหารรสชาติใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นเคย เด็กจึงรับรสได้มากกว่าผู้ใหญ่ และอาจรู้สึกแปลก ๆ เลยไม่ค่อยชอบรสชาติใหม่ที่ได้ลิ้มลองเท่าไหร่นัก

นอกจากนี้ เด็กยังมีสัญชาตญาณการเอาตัวรอดที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ทำให้ร่างกายของลูกโหยหาอาหารที่ให้พลังงานสูง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กจะชอบกินของหวาน เช่น แพนเค้ก โดนัท ลูกอม อมยิ้ม เพราะน้ำตาลเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายสามารถย่อยและนำไปใช้ได้ไวกว่าสารอาหารประเภทอื่น

แต่ถึงอย่างนั้น เด็กกินของหวานมากไปก็ไม่ใช่เรื่องดี โดยสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association หรือ AHA) แนะนำว่า เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีการเติมน้ำตาลโดยเด็ดขาด ส่วนเด็กอายุ 2-18 ปี ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกินวันละ 25 กรัม หรือ 6 ช้อนชา เนื่องจากการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีการเติมน้ำตาลปริมาณมากเป็นประจำตั้งแต่เด็ก เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคความดันโลหิตสูง และอาจทำให้เด็กหรือวัยรุ่นเป็นโรคหัวใจได้ด้วย

สิ่งที่ควรทำเมื่อ ลูกติดหวาน

เด็กกับของหวานจะเป็นของคู่กัน ธรรมชาติสร้างให้เด็กๆ ต้องการน้ำตาล การจะห้ามไม่ให้ลูกของคุณกินของหวานโดยเด็ดขาดคงเป็นไปไม่ได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถช่วยให้ลูกเรียนรู้ที่จะจำกัดปริมาณของหวานให้เป็น และฝึกให้เด็กกินของหวานแบบไม่เสียสุขภาพได้ด้วยวิธีง่ายๆ เหล่านี้

  • หยุดให้รางวัลหรือติดสินบนลูกด้วยขนมหวาน

เมื่ออยากให้ลูกยอมทำบางสิ่งบางอย่าง เช่น ช่วยทำงานบ้าน ตั้งใจอ่านหนังสือ เข้านอนแต่หัวค่ำ คุณพ่อคุณแม่มักใช้ของหวานเป็นรางวัลหรือสินบน เพราะสามารถหาซื้อได้ง่าย ราคาย่อมเยา เด็กส่วนใหญ่มักไม่ปฏิเสธและยอมปฏิบัติตามแต่โดยดี แต่การทำเช่นนี้เท่ากับคุณพ่อคุณแม่สนับสนุนให้ลูกติดหวาน นานไปย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพ ซ้ำร้ายยังอาจก่อนิสัยเอาแต่ใจ ทำเพื่อหวังผลรางวัลให้ลูกโดยไม่ตั้งใจอีกด้วย เมื่อลูกทำตัวน่ารัก คุณพ่อคุณแม่อาจเปลี่ยนจากการให้ของหวาน เป็นคำชม หรือของขวัญที่มีประโยชน์ เช่น เครื่องเขียน แทนก็ได้

  • รู้จักเบี่ยงเบนความสนใจ และเพิ่มปฏิสัมพันธ์

หากลูกของคุณร้องหาขนมหวาน คุณพ่อคุณแม่ควรเบี่ยงเบนความสนใจด้วยการชวนทำกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ เช่น เล่นเกมฝึกสมอง ต่อจิ๊กซอว์ ต่อบล็อกไม้ ร้องเพลง แต่ต้องไม่ทำให้ลูกรู้สึกว่าถูกบังคับ บางครั้งการที่เด็กต้องการของหวาน เป็นเพราะลูกแค่อยากเรียกร้องความสนใจ หรือรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่ได้หิวหรืออยากกินจริงๆ

  • ตัดของหวานออกจากมื้ออาหารประจำวัน

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรให้ขนมหวานเป็นส่วนหนึ่งของมื้ออาหาร หรือเป็นของว่างประจำวันสำหรับเด็ก เพื่อช่วยไม่ให้เด็กกินของหวานเป็นประจำจนติดเป็นนิสัย แต่ก็ไม่ควรห้ามลูกกินของหวานอย่างเด็ดขาดเช่นกัน เพราะหากยิ่งห้าม เด็กก็จะยิ่งอยากกินขนมหวาน คุณพ่อคุณแม่ควรจัดอาหารแต่ละวันให้ครบ 5 หมู่ และฝึกให้ลูกกินอาหารว่างที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ดาร์คช็อคโกแลต ผลไม้สด ผลไม้อบแห้ง น้ำผลไม้ปั่นหรือคั้นสด ถั่ว ธัญพืช

  • ให้ลูกกินขนมหวานได้เป็นบางโอกาส

อย่างที่บอกว่าการให้ลูกงดของหวานโดยเด็ดขาด จะยิ่งทำให้เด็กโหยหาขนมหวานและหากได้กิน และอาจกินจนไม่บันยะบันยัง คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ลูกกินขนมหวานได้ในปริมาณที่เหมาะสม ตามวาระโอกาสหรือวันพิเศษ เช่น วันเกิด ไม่ควรให้กินทุกวัน หรือทุกเวลาที่ลูกร้องขอ

อย่างไรก็ดี หากคุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้เด็กกินของหวานมากจนติดน้ำตาล หรือติดหวาน และหันมากินอาหารเพื่อสุขภาพ คุณพ่อคุณแม่และสมาชิกคนอื่น ๆ ในบ้านก็ควรลดน้ำตาลหรือลดกินของหวาน และหันมากินอาหารที่มีประโยชน์เช่นกัน เพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองถูกแบ่งแยกหรือถูกบังคับ และจะได้สุขภาพดีพร้อมกันทั้งครอบครัว

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

5 Tips To Help Children Be Mindful About Dessert. https://portlandpediatricnutrition.com/5-tips-help-children-mindful-dessert/. Accessed on December 7, 2016

How to stop your kid from obsessing over dessert. https://www.todaysparent.com/family/family-health/how-to-stop-your-kid-from-obsessing-over-dessert/. Accessed on December 7, 2016

How much sugar should children have?. http://www.bbcgoodfood.com/howto/guide/children-and-sugar-how-bad-it. Accessed on December 7, 2016

Sugar shock. http://www.parents.com/recipes/nutrition/kids/sugar-shock/. Accessed on December 7, 2016

The sweet danger of sugar. https://www.health.harvard.edu/heart-health/the-sweet-danger-of-sugar#:~:text=”The%20effects%20of%20added%20sugar,and%20stroke%2C”%20says%20Dr. Accessed October 2022

How Does Too Much Sugar Affect Your Body? https://www.webmd.com/diabetes/features/how-sugar-affects-your-body. Accessed October 2022

Sugar: the facts. https://www.nhs.uk/live-well/eat-well/food-types/how-does-sugar-in-our-diet-affect-our-health/. Accessed October 2022

How much sugar is too much?. https://www.heart.org/en/healthy-living/healthy-eating/eat-smart/sugar/how-much-sugar-is-too-much. Accessed October 2022

Quantification of Reducing Sugars Based on the Qualitative Technique of Benedict. https://pubs.acs.org/doi/10.1021/acsomega.0c04467. Accessed October 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

12/10/2022

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

เครื่องดื่มรสหวาน ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร

ลดน้ำตาล ลดโรค วิธีทำให้สุขภาพดีแสนง่าย


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 12/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา