ยาเป็นเครื่องมือหนึ่งที่แพทย์ใช้ในการรักษาโรค หรือควบคุมโรค และหากคุณอยากกินยาแล้วหายป่วย หรืออาการดีขึ้นได้จริง สิ่งแรกที่คุณควรทำก็คือ กินยาตามขนาดยาและช่วงเวลาที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำอย่างเคร่งครัด แต่แค่นั้นอาจยังไม่พอ เพราะเวลากินยาบางชนิด คุณก็ต้องระวังเรื่องอันตรกิริยาระหว่างยากับอาหารบางชนิดด้วย โดยอาหารที่ไม่ควรกินร่วมกับยานั้นมีมากมาย และหนึ่งในอาหารที่พบในคำเตือนเรื่องอันตรกิริยาของยากับอาหารบ่อยๆ ก็คือ ผลไม้จำพวกส้มโอ เกรปฟรุต แล้วทำไมผู้เชี่ยวชาญถึงห้าม กินยากับส้มโอ เกรปฟรุต หากเผลอกินเข้าไปพร้อมกันจะเป็นอะไรไหม เราไปหาคำตอบในบทความนี้กันดีกว่า
ความเกี่ยวข้องระหว่างส้มโอ เกรปฟรุต และยา
คนไทยเราคุ้นเคยกับผลไม้เปลือกหนาอย่างส้มโอ (Pomelo) กันดีอยู่แล้ว แต่อาจยังไม่ค่อยรู้จักเกรปฟรุต (Grapefruit) กันเท่าไหร่นัก เกรปฟรุตเป็นผลไม้ต่างประเทศที่มีต้นกำเนิดในหมู่เกาะแคริบเบียน โดยนักพฤกษศาสตร์ระบุว่าเกรปฟรุตเป็นพืชลูกผสมระหว่างส้มชนิดหนึ่งในกลุ่มส้มเช้งหรือส้มหวาน กับส้มโอของมาเลเซีย นั่นจึงทำให้ส้มโอและเกรปฟรุตเป็นพืชในสกุลส้ม (Citrus) เหมือนกัน
อันตรกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่อ กินยากับส้มโอ เกรปฟรุต
“อันตรกิริยาระหว่างยากับอาหาร” (Food-drug interactions) หมายถึง ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่อระดับยาหรือฤทธิ์ของยาในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปเมื่อได้รับอาหารบางชนิดร่วมด้วย โดยผลของการเกิดปฏิกิริยานี้ อาจทำให้ยาออกฤทธิ์มากขึ้นหรือน้อยลง หรืออาจทำให้ผลข้างเคียงของยารุนแรงขึ้นได้
ผู้เชี่ยวชาญพบว่าสารประกอบฟิวแรโนคูมาริน (Fluranocoumarins) อย่างสารเบอร์กามอททิน (Bergamottin) ที่มีมากในเกรปฟรุตเป็นสารสำคัญที่ทำให้เกิดอันตรกิริยากับยาต่างๆ เนื่องจากมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Cytochrome P450 ที่ช่วยในการกำจัดยาออกจากร่างกาย เมื่อร่างกายของเรากำจัดยาออกมาไม่ได้ตามปกติ เลยทำให้มียาเข้าสู่กระแสเลือดในปริมาณมากกว่าเดิม และอยู่ในร่างกายเรานานกว่าเดิม
และเนื่องจากเกรปฟรุตและส้มโอนั้นเป็นพืชสกุลเดียวกัน มีลักษณะใกล้เคียงกันมากที่สุด และมีสารประกอบฟิวแรโนคูมารินเหมือนกัน ผู้เชี่ยวชาญจึงสันนิษฐานว่า ส้มโอก็น่าจะก่อให้เกิดอันตรกิริยากับยาได้เช่นกัน
โดยนักวิจัยได้ทดลองให้ชายไทยสุขภาพดี 14 คน กินส้มโอพันธุ์ทองดี 250 กรัมเป็นเวลา 1 ชั่วโมงก่อนจะให้ยาไซโคลสปอรีน (Cyclosporine) ซึ่งเป็นยากดภูมิคุ้มกันหลังปลูกถ่ายอวัยวะ จากนั้นอีก 10 นาทีจึงให้กินส้มโออีก 250 กรัม แล้วรอจนครบ 24 ชั่วโมงจึงเจาะเลือดไปตรวจวัดระดับยา ผลออกมาว่า ส้มโอที่กินเข้าไปนั้น สามารถเพิ่มระดับยาไซโคลสปอรีนในเลือดได้ประมาณ 30% เลยทีเดียว
ถ้าไม่ได้กินพร้อมกัน จะเป็นอะไรไหม
ส้มโอและเกรปฟรุตสามารถก่อให้เกิดอันตรกิริยากับยาได้อยู่ได้นานถึง 3 วันหลังกิน ฉะนั้น ต่อให้คุณไม่ได้กินยาพร้อมส้มโอหรือเกรปฟรุต เช่น ดื่มน้ำเกรปฟรุต หรือกินส้มโอตอนเช้าวันนี้ แล้วไปกินยาตอนเย็นวันรุ่งขึ้น ก็อาจเกิดอันตรกิริยาระหว่างยากับส้มโอ เกรปฟรุตได้อยู่ดี
ยาอะไรบ้างที่ไม่ควรกินกับส้มโอ เกรปฟรุต
นี่คือตัวอย่างยาที่คุณไม่ควรกินกับส้มโอ เกรปฟรุต เพราะอาจทำให้เกิดอันตรกิริยาระหว่างกัน และส่งผลเสียต่อร่างกายได้
- ยาลดไขมันในเลือดในกลุ่มสแตติน เช่น ยาซิมวาสแตติน (Simvastatin) ยาอะทอร์วาสแตติน (Atorvastatin) ยาโลวาสแตติน (Lovastatin)
- ยารักษาความดันโลหิตสูง เช่น ยาไนเฟดิพีน (Nifedipine) ยาฟิโลดิปีน (Felodipine) ยาลอซาร์แทน (Losartan)
- ยากดภูมิคุ้มกันหลังปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ยาไซโคลสปอรีน (Cyclosporine)
- ยาสเตียรอยด์ที่ใช้รักษาโรคโครห์น (Crohn’s disease) และโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล (Ulcerative Colitis) เช่น ยาบูเดโซไนด์ (Budesonide)
- ยารักษาโรคทางอารมณ์ เช่น ยารักษาโรควิตกกังวล อย่างยาบิวสไปโรน (Buspirone) อย่างยาต้านซึมเศร้า เช่น ยาเซอร์ทราลีน (Sertraline)
- ยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดปกติ เช่น ยาอะมิโอดาโรน (Amiodarone) ยาโดรนดาโรน (Dronedarone)
- ยาต้านฮิสตามีน หรือยาแก้แพ้ เช่น ยาเฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine)
- ยารักษาอาการติดเชื้อ เช่น ต้านไวรัสเอชไอวี อย่างยาซาควินาเวียร์ (Saquinavir) ยารักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรีย อย่างยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ยาฆ่าพยาธิ อย่างอัลเบนดาโซล (Albendazole)
- ยารักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เช่น ยาซิลเดนาฟิล (Sildenafil)
- ยารักษาโรคต่อมลูกหมากโต เช่น ยาไซโลโดซิน (Silodosin)
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาเอพิซาแบน (apixaban) ยาไรวารอกซาแบน (rivaroxaban)
หากคุณไม่แน่ใจว่ายาที่ต้องใช้สามารถกินพร้อมกับส้มโอหรือเกรปฟรุตได้ไหม ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา การกินส้มโอในปริมาณพอเหมาะ คือประมาณ 2-3 กลีบ และไม่ได้กินทุกวัน ส่วนใหญ่แล้วไม่ก่อให้เกิดปัญหาอะไร แต่หากเป็นเกรปฟรุตอาจต้องระวังมากกว่านั้น เพราะเกรปฟรุตมีสารประกอบฟิวแรโนคูมารินมากกว่าส้มโอถึงสองเท่า
แต่หากคุณชอบกินส้มโอ เกรปฟรุต หรืออาหารที่มีผลไม้สองชนิดนี้เป็นส่วนประกอบหลัก และกินแทบจะทุกวันก็อาจต้องให้แพทย์เปลี่ยนเป็นยาตัวอื่นที่กินแล้วไม่เกิดอันตรกิริยากับผลไม้สองชนิดนี้ เพราะเพียงแค่คุณกินส้มโอหรือเกรปฟรุตในปริมาณเล็กน้อย ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ เลือดออกในช่องท้อง ปวดกล้ามเนื้อ ไตพัง ความดันโลหิตต่ำ หายใจลำบาก วิงเวียนศีรษะ
ต่อให้ไม่ กินยากับส้มโอ แล้วผลไม้อื่นๆ ล่ะ?
ผลไม้อื่นๆ ที่คุณต้องบริโภคอย่างระมัดระวังเมื่อต้องกินยาก็คือผลไม้สกุลส้มอื่นๆ เช่น มะนาว เลมอน มะกรูด ส้มเขียวหวาน ส้มเช้ง รวมถึงส้มกลุ่ม Seville orange ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างส้มโอกับส้มเปลือกล่อน นิยมใช้ทำแยมผิวส้ม ส้มกลุ่มนี้ที่รู้จักกันในไทย เช่น ส้มซ่า ถึงแม้งานวิจัยที่เกี่ยวกับอันตรกิริยาของพืชสกุลส้มเหล่านี้กับยาจะยังไม่มามาก แต่เนื่องจากเป็นพืชสกุลเดียวกับส้มโอและเกรปฟรุต เราจึงต้องระวังเช่นกัน และไม่ใช่แค่พืชสกุลส้ม เพราะมัลเบอร์รี่หรือลูกหม่อน แอปเปิ้ล องุ่น ทับทิม ราสเบอร์รี่ ก็มีสารที่สามารถขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ Cytochrome P450 ได้เช่นกัน
แม้ผลไม้เหล่านี้อาจส่งผลกระทบกับยาที่คุณกิน แต่ก็เป็นแหล่งของวิตามินซี และสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย แทนที่จะงดกินผลไม้เหล่านี้ทั้งหมด เราแนะนำให้คุณปรึกษาคุณหมอก่อนว่ายาที่คุณใช้นั้นสามารถกินร่วมกับผลไม้อะไรได้บ้าง และควรกินในปริมาณเท่าไหร่จึงจะปลอดภัย
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]