backup og meta

คีโตโปรเฟน (Ketoprofen)

ข้อบ่งใช้

ยาคีโตโปรเฟน ใช้สำหรับ

ยา คีโตโปรเฟน (Ketoprofen) เป็นยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดจากสภาวะต่าง ๆ ยานี้ยังใช้ลดอาการปวด อาการบวม และอาการข้อต่อแข็งเกร็งจากโรคข้ออักเสบ (arthritis) ยาคีโตโปรเฟนทำงานโดยการปิดกั้นไม่ให้ร่างกายสร้างสารบางชนิด ที่ทำให้เกิดการอักเสบ ยานี้ช่วยลดอาการบวม อาการปวด หรือไข้ นอกจากนี้ ยาคีโตโปรเฟนยังอาจใช้เพื่อรักษาอาการเกาต์กำเริบได้อีกด้วย

สำหรับการใช้งานอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในฉลากยา ต้องได้รับความเห็นชอบจากแพทย์เท่านั้น

วิธีใช้ยา คีโตโปรเฟน

ก่อนใช้ยาคีโตโปรเฟน ไม่ว่าจะเป็นยาที่หาซื้อได้เอง หรือยาที่แพทย์สั่ง คุณควรอ่านคู่มือการใช้ยาให้เข้าใจ และใช้ยาตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด หากคุณมีข้อสงสัยใดๆ โปรดสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร

รับประทานยาคีโตโปรเฟน โดยปกติคือวันละ 3 ถึง 4 ครั้ง พร้อมกับดื่มน้ำเต็มแก้ว (8 ออนซ์ หรือ 240 มล.) หรือตามที่แพทย์กำหนด หลังรับประทานยาคีโตโปรเฟน ควรรออย่างน้อย 10 นาทีจึงค่อยล้มตัวลงนอน ในช่วงที่กำลังใช้ยาคีโตโปรเฟน หากเกิดอาการท้องไส้ปั่นป่วน ควรรับประทานยาพร้อมกับอาหาร นม หรือยาลดกรด

ขนาดยาขึ้นอยู่กับสภาวะทางการแพทย์ และการตอบสนองต่อการรักษา เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการเลือดออกในกระเพาะอาหารและผลข้างเคียงอื่นๆ ควรใช้ยาคีโตโปรเฟนในขนาดที่ต่ำที่สุดเท่าที่มีประสิทธิภาพ เป็นเวลาสั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

อย่าเพิ่มขนาดยา ใช้ยาบ่อย หรือนานกว่าที่กำหนด อย่าใช้ยาที่หาซื้อเองนานกว่า 10 วัน เว้นแต่จะได้รับคำสั่งให้ทำเช่นนั้น สำหรับสภาวะเรื้อรังอย่างโรคข้ออักเสบ ควรใช้ยาคีโตโปรเฟนอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์กำหนด โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงให้ดีก่อนใช้ยาทุกครั้

หากคุณกำลังใช้ยาเท่าที่จำเป็น (ไม่ได้ใช้เป็นประจำ) โปรดจำไว้ว่า ยาแก้ปวดคีโตโปรเฟนนั้นจะได้ผลดีที่สุด หากรับประทานเมื่อเริ่มมีสัญญาณของอาการปวด หากคุณรอจนอาการปวดรุนแรง ยาอาจจะได้ผลไม่ดีนัก

หากคุณใช้ยาคีโตโปรเฟนเพื่อรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน และอาการปวดนั้นไม่บรรเทาลง หรืออาการรุนแรงขึ้นหลังจากใช้ยาครั้งแรก โปรดติดต่อแพทย์ทันที

สำหรับสภาวะบางชนิด เช่นโรคข้ออักเสบ อาจต้องรับประทานยาเป็นประจำนานถึง 2 สัปดาห์กว่าจะได้ประโยชน์จากยาอย่างเต็มที่

หากอาการของคุณแย่ลง มีอาการใหม่เกิดขึ้น หรือคุณสงสัยว่าอาจมีปัญหาสุขภาพที่รุนแรง โปรดเข้ารับการรักษาในทันที

การเก็บรักษายาคีโตโปรเฟน

ยาคีโตโปรเฟนควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง ให้พ้นแสงและความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเสื่อมสภาพ ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาคีโตโปรเฟนบางยี่ห้ออาจมีวิธีเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรอ่านคำแนะนำบนบรรจุภัณฑ์หรือสอบถามเภสัชกรเสมอ และโปรดเก็บยาให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเพื่อความปลอดภัย

ไม่ควรทิ้งยาคีโตโปรเฟนลงในชักโครก หรือเทยาลงในท่อระบายน้ำ เว้นแต่จะได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น หากยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยา ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้อง โดยสามารถสอบถามข้อมูลวิธีกำจัดยาที่ถูกต้องได้จากเภสัชกร

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยาคีโตโปรเฟน

ก่อนใช้ยาคีโตโปรเฟน โปรดแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบ หาก

  • คุณแพ้ต่อยาคีโตโปรเฟน ยาแอสไพริน หรือยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์อื่นๆ เช่น ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) อย่างแอดวิล (Advil) และยานาพรอกเซน (naproxen) อย่างอะลีฟ (Aleve) หรือนาโพรซิน (Naprosyn) และยาคีโตโปรเฟนอื่นๆ รวมถึงส่วนผสมไม่ออกฤทธิ์ของยาคีโตโปรเฟนรูปแบบแคปซูล หรือยาแคปซูลออกฤทธิ์นาน โปรดสอบถามเภสัชกรสำหรับรายชื่อส่วนผสมที่ไม่ออกฤทธิ์
  • คุณกำลังใช้ยาอื่นอยู่ หรือมีแผนจะใช้ยาอื่น เช่น ยาคีโตโปรเฟนตามใบสั่งแพทย์หรือหาซื้อเอง วิตามิน อาหารเสริม สมุนไพร
  • คุณเป็นหรือเคยเป็นโรคใดๆ รวมถึงโรคหอบหืด โดยเฉพาะหากคุณมีอาการคัดจมูกหรือน้ำมูกไหลหรือริดสีดวงจมูก (nasal polyps) อาการบวมที่มือ แขน ขา ข้อเท้า หรือขาส่วนล่าง หรือโรคตับหรือโรคไตเป็นประจำ
  • คุณตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ รวมถึงหากคุณวางแผนในการมีบุตร หรือกำลังให้นมบุตรด้วย และหากคุณทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์ขณะที่กำลังใช้ยาคีโตโปรเฟน โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • คุณมีกำลังจะเข้ารับการผ่าตัด รวมถึงการผ่าตัดทำฟัน

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ เกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อหาประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยานี้

ยาคีโตโปรเฟนจัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์ ประเภท C โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้

  • A = ไม่มีความเสี่ยง
  • B = ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C = อาจจะมีความเสี่ยง
  • D = มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X = ห้ามใช้
  • N = ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยาคีโตโปรเฟน

รับการรักษาพยาบาลฉุกเฉินทันที หากคุณมีสัญญาณของอาการแพ้ ได้แก่

  • ลมพิษ
  • หายใจติดขัด
  • บวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ

หยุดใช้ยาคีโตโปรเฟน และรับการรักษาหรือติดต่อแพทย์ทันที หากเกิดผลข้างเคียง ได้แก่

  • ปวดหน้าอก หายใจลำบาก พูดไม่ชัด
  • มีปัญหากับการมองเห็นหรือการทรงตัว
  • อุจจาระสีดำ มีเลือด หรือคล้ายถ่านหิน
  • ไอเป็นเลือดหรืออาเจียนคล้ายกากกาแฟ
  • สับสน สั่นเทาหรือสั่นเทิ้ม
  • ปัสสาวะสีคล้ำ ปัสสาวะน้อยกว่าปกติหรือไม่ปัสสาวะเลย
  • คลื่นไส้ ปวดท้อง เป็นไข้ต่ำ เบื่ออาหาร
  • ดีซ่าน (ดวงตาหรือผิวหนังเป็นสีเหลือง)
  • เป็นไข้ เจ็บคอ และปวดศีรษะ พร้อมกับแผลพุพองระดับรุนแรง ผิวลอก และผื่นผิวหนังสีแดง
  • มีรอยช้ำ มีอาการเหน็บ ชา ปวด กล้ามเนื้ออ่อนแรงอย่างรุนแรง

ผลข้างเคียงที่รุนแรงน้อยกว่า มีดังนี้

  • ท้องไส้ปั่นป่วน แสบร้อนกลางอก หรือปวดท้องระดับเบา ท้องร่วง ท้องผูก ท้องอืด มีแก๊ส
  • วิงเวียน ปวดศีรษะ ประหม่า
  • มีอาการคันหรือผื่นที่ผิวหนัง
  • ปากแห้ง
  • เหงื่อออกเพิ่มขึ้น น้ำมูกไหล
  • มองเห็นไม่ชัด
  • มีเสียงอื้อในหู

ผลข้างเคียงที่กล่าวมาข้างต้น อาจไม่ได้เกิดกับทุกคน หรือบางคนอาจมีอาการอื่นนอกเหนือจากนี้ หากคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ยาคีโตโปรเฟนอาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรด้วยว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง สมุนไพร เป็นต้น และเพื่อความปลอดภัย คุณไม่ควรเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาเองโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณกำลังใช้ยาต่อไปนี้

  • ยาไซตาโลแพรม (citalopram) เช่น เซเลซา (Celexa)
  • ยาดูโลเซทีน (duloxetine) เช่น ซิมบาลทา (Cymbalta)
  • ยาเอสซิทาโลแพรม (escitalopram) เช่น เลซาโปร (Lexapro)
  • ยาฟลูโอเซทีน (fluoxetine) เช่น โพรแซค (Prozac) ซาราเฟม (Sarafem) ซิมไบแอกซ์ (Symbyax)
  • ยาฟลูโวซามีน (fluvoxamine) เช่น ลูวอกซ์ (Luvox)
  • ยาพาโรเซทีน (paroxetine) เช่น ฟาซิล (Paxil)
  • ยาเซอร์ทราลีน (sertraline) เช่น โซลอฟ (Zoloft)
  • ยาเวนลาฟาซีน (venlafaxine) เช่น เอฟเฟคเซอร์ (Effexor)
  • ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) เช่น เจนกราฟ (Gengraf) นีโอรอล (Neoral) แซนดิมมูน (Sandimmune)
  • ยาลิเทียม (Lithium) เช่น เอสคาลิท (Eskalith) ลิโทบิด (Lithobid)
  • ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) เช่น รูมาเทรกซ์ (Rheumatrex) เทรซอล (Trexall)
  • ยาโพรเบเนซิด (Probenecid) เช่น เบเนมิด (Benemid)
  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาฟาริน (warfarin) อย่างคูมาดิน (Coumadin) หรือยาต้านเกล็ดเลือดคีโตโปรเฟน เช่น ยาโคลพิโดเกรล (clopidogrel) อย่างพลาวิกซ์ (Plavix) ยาไดไพริดาโมล (dipyridamole) อย่างเพอซ์แซนทีน (Persantine) ยาทิโคลพิดีน (ticlopidine) อย่างทิคลิด (Ticlid)
  • ยาสเตียรอยด์ (Steroids) เช่น เพรดนิโซน (prednisone)
  • ยาแอสไพริน หรือยาในกลุ่มยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์อื่นๆ เช่น ยาไดโคลเฟแนค (diclofenac) อย่างโวลทาเรน (Voltaren) ยาเอโทโดแลค (etodolac) อย่างโลดีน (Lodine) ยาเฟโนโพรเฟน (fenoprofen) อย่างนาลฟอน (Nalfon) ยาเฟลอร์ไบโพรเฟน (flurbiprofen) อย่างแอนเซด (Ansaid) ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) อย่างแอดวิล (Advil) หรือมอทริน (Motrin) ยาอินโดเมทาซิน (indomethacin) อย่างอินโดซิน (Indocin) ยาคีโตโรแลค (ketorolac) อย่างโทราดอล (Toradol) กรดเมเฟนามิค (mefenamic acid) อย่างพอนสเทล (Ponstel) ยาเมโลซิแคม (meloxicam) อย่างโมบิค (Mobic) ยานาบูเมโทน (nabumetone) อย่างเรลาเฟน (Relafen) ยานาโพรเซน (naproxen) อย่างอะลีฟ (Aleve) หรือนาโพรซิน (Naprosyn) ยาไพโรซิแคม (piroxicam) อย่างเฟลดีน (Feldene)

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาคีโตโปรเฟนอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาคีโตโปรเฟนอาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ

ปัญหาทางสุขภาพบางอย่างอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ยานี้ โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณมีปัญหาสุขภาพใดๆ โดยเฉพาะ

  • ภาวะโลหิตจาง
  • โรคหอบหืด
  • ปัญหาเกี่ยวกับเลือดออก
  • ลิ่มเลือด
  • ภาวะบวมน้ำ
  • เคยหัวใจวาย
  • โรคหัวใจ เช่น โรคหัวใจล้มเหลว
  • ความดันโลหิตสูง
  • โรคไต
  • โรคตับ เช่น โรคตับอักเสบ
  • แผลหรือเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้
  • เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (ควรใช้ยาอย่างระมัดระวัง ยานี้อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น)
  • เคยมีปฏิกิริยาไวต่อแอสไพริน (ไม่ควรใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีสภาวะนี้)
  • การผ่าตัดหัวใจ เช่น การผ่าตัดบายพาสหัวใจ (ไม่ควรใช้ยานี้เพื่อบรรเทาอาการปวดทันทีก่อนหรือหลังจากการผ่าตัด)

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยาคีโตโปรเฟนสำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคข้อเสื่อม

  • ยาคีโตโปรเฟน 75 มก. : รับประทานวันละ 3 ครั้ง หรือ 50 มก. รับประทานวันละ 4 ครั้ง ขนาดยาสูงสุดที่แนะนำคือ 300 มก./วัน
  • ยาคีโตโปรเฟนแบบออกฤทธิ์นาน 200 มก. : รับประทานวันละครั้ง

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

  • ยาคีโตโปรเฟน 75 มก. : รับประทานวันละ 3 ครั้ง หรือ 50 มก. รับประทานวันละ 4 ครั้ง ขนาดยาสูงสุดที่แนะนำคือ 300 มก./วัน
  • ยาคีโตโปรเฟนแบบออกฤทธิ์นาน 200 มก. : รับประทานวันละครั้ง

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคเกาต์เฉียบพลัน

  • ยาคีโตโปรเฟน 100 มก. : รับประทานหนึ่งครั้ง ตามด้วย 50 มก. ทุก ๆ 6 ชั่วโมงจนกระทั่งอาการเกาต์กำเริบเฉียบพลันนั้นหายไป โดยปกติมักจะนาน 2 ถึง 3 วัน

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาอาการปวด

  • ยาคีโตโปรเฟนขนาด 25 ถึง 50 มก. : รับประทานทุกๆ 6 ถึง 8 ชั่วโมง อาจเพิ่มขนาดยาขึ้นไปสูงสุดที่ 75 มก.

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาไข้

  • ยาคีโตโปรเฟนขนาด 12.5 มก. : รับประทานทุกๆ 4 ถึง 6 ชั่วโมง อาจให้ยาเพิ่มเติมหากอาการไข้ไม่ดีขึ้นภายใน 1 ชั่วโมง
  • ขนาดยาสูงสุดต่อวันไม่ควรเกิน 75 มก.

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาอาการปวดประจำเดือน

  • ยาคีโตโปรเฟนขนาด 25 ถึง 50 มก. : รับประทานทุก ๆ 6 ถึง 8 ชั่วโมงเพื่อบรรเทาอาการปวด ควรปรับขนาดยาเพื่อให้ได้รับการตอบสนองจากผู้ป่วย และขนาดยาไม่ควรเกิน 300 มก./24 ชั่วโมง

ขนาดยาคีโตโปรเฟนสำหรับเด็ก

ยังไม่มีการพิสูจน์ความความปลอดภัยและประสิทธิภาพของขนาดยานี้สำหรับผู้ป่วยเด็ก ยานี้อาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้ ดังนั้น จึงควรทำความเข้าใจกับความปลอดภัยของยาก่อนการใช้ยา  สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อกับแพทย์หรือเภสัชกร

รูปแบบของยา

ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้

  • ยาแคปซูลสำหรับรับประทาน : 50 มก. และ 75 มก.
  • ยาแคปซูลออกฤทธิ์นานสำหรับรับประทาน : 200 มก.

กรณีฉุกเฉินหรือการใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติ ไม่ควรเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่า

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Ketoprofen (Oral Route). http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/ketoprofen-oral-route/description/drg-20069709. Accessed June 26, 2016.

Ketoprofen | Side Effects, Dosage, Uses & More. http://www.healthline.com/drugs/ketoprofen/oral-capsule#Highlights1. Accessed June 26, 2016.

Ketoprofen. https://www.drugs.com/mtm/ketoprofen.html. Accessed June 26, 2016.

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ สัญญาณและอาการที่บอกได้ว่าไม่ใช่แค่ปวดประจำเดือน

8 อาหารต้านข้ออักเสบ ที่อาจช่วยคุณป้องกันโรคนี้ได้


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์

ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา