backup og meta

คูมาดิน® (Coumadin®)

คูมาดิน® (Coumadin®)

ข้อบ่งใช้

คูมาดิน® (ยาวาร์ฟาริน) ใช้สำหรับ

คูมาดิน® (Coumadin®) เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulant) ประกอบด้วยตัวยาสำคัญคือ ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) ซึ่งช่วยลดการสร้างลิ่มเลือด

คูมาดิน® ใช้เพื่อรักษาหรือป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำหรือหลอดเลือดแดง ซึ่งสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือภาวะที่รุนแรงอื่นๆ ได้

คูมาดิน® ยังอาจใช้เพื่อจุดประสงค์อื่นนอกจากที่อยู่ในคู่มือการใช้ยาได้อีกด้วย

วิธีใช้คูมาดิน® (ยาวาร์ฟาริน)

รับประทานคูมาดิน® พร้อมกับอาหารหรือรับประทานแยกต่างหาก ตามที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด ควรทำตามวิธีการใช้ยาทั้งหมดบนฉลากยา ในบางครั้งแพทย์อาจจะเปลี่ยนขนาดยาเพื่อให้แน่ใจว่าคุณได้รับผลที่ดีที่สุด อย่าใช้ยานี้ในขนาดที่มากกว่า น้อยกว่า หรือนานกว่าที่แพทย์กำหนด

ใช้ยานี้เป็นประจำเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากยา เพื่อให้จำง่ายขึ้น ควรรับประทานในเวลาเดียวกันทุกวัน

ขณะที่กำลังใช้ยานี้ คุณอาจจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจไอเอ็นอาร์ (INR) หรือการตรวจโปรทรอมบินไทม์ (prothrombin time) เพื่อวัดระยะเวลาในการเกิดลิ่มเลือด ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถระบุขนาดยาที่ดีที่สุดสำหรับคุณได้

หากคุณได้รับยาวาร์ฟารินที่โรงพยาบาล แพทย์อาจนัดให้คุณเข้ารับการตรวจไอเอ็นอาร์ภายในระยะเวลา 3-7 วันหลังจากกินยา

โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบ หากคุณมีอาการป่วยพร้อมกับอาการท้องร่วง เป็นไข้ หนาวสั่น หรืออาการของไข้หวัด หรือน้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลง

คุณอาจจำเป็นต้องหยุดใช้คูมาดิน® เป็นเวลา 5-7 วันก่อนเข้ารับการผ่าตัดหรือทำฟัน หรืออาจต้องหยุดใช้ยานี้หากใช้ยาปฏิชีวนะ ต้องรับการเจาะน้ำไขสันหลัง (spinal tap) หรือให้ยาระงับความรู้สึกผ่านทางไขสันหลัง (epidural)

การเก็บรักษาคูมาดิน® (ยาวาร์ฟาริน)

ควรเก็บคูมาดิน® ที่อุณหภูมิห้อง ให้พ้นแสงและความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเสื่อมสภาพ ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง หากมีข้อสงสัยควรอ่านคำแนะนำบนบรรจุภัณฑ์หรือสอบถามเภสัชกรเสมอ และโปรดเก็บยาให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเพื่อความปลอดภัย

ไม่ควรทิ้งคูมาดิน® ลงในชักโครก หรือเทยาลงในท่อระบายน้ำ เว้นเสียแต่จะได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น หากยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยา ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้อง โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเภสัชกร

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้คูมาดิน® (ยาวาร์ฟาริน)

ก่อนใช้คูมาดิน® โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณมีภาวะดังต่อไปนี้

  • วางแผนตั้งครรภ์ กำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร เนื่องจากในช่วงที่ตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร ควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำเท่านั้น
  • กำลังใช้ยาอื่นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง สมุนไพร เป็นต้น
  • แพ้สารออกฤทธิ์หรือไม่ออกฤทธิ์ของคูมาดิน® หรือยาอื่นๆ
  • มีอาการป่วย มีความผิดปกติ หรือมีสภาวะทางการแพทย์อื่นๆ

ไม่ควรใช้คูมาดิน® หากมีสภาะเหล่านี้

  • อาการเลือดออกผิดปกติทั้งตามกรรมพันธุ์หรือเกิดจากโรคใดๆ เช่น โรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia)
  • เซลล์เม็ดเลือดผิดปกติ เช่น จำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดงหรือเกล็ดเลือดต่ำ
  • มีเลือดในปัสสาวะหรืออุจจาระ หรือหากคุณเคยมีอาการไอเป็นเลือด
  • การติดเชื้อที่เยื่อบุของหัวใจ เช่น เยื่อบุหัวใจอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (bacterial endocarditis)
  • เลือดออกหรือมีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้
  • ความดันโลหิตสูง
  • เพิ่งผ่านการผ่าตัดหรือกำลังจะเข้ารับการผ่าตัดที่สมอง ไขสันหลัง หรือตา
  • เพิ่งได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ หลอดเลือดโป่งพอง (aneurysm) หรือมีเลือดออกในสมอง
  • ต้องเข้ารับการเจาะน้ำไขสันหลัง หรือให้ยาระงับความรู้สึกผ่านทางไขสันหลัง

คุณไม่ควรใช้คูมาดิน® หากคุณไม่มีความสามารถในการควบคุมการใช้ยา ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง (alcoholism) ปัญหาทางจิตเวช ภาวะสมองเสื่อม (dementia) หรือสภาวะที่คล้ายกัน

คูมาดิน® สามารถทำให้คุณมีอาการเลือดออกง่ายขึ้น โดยเฉพาะหากคุณมีภาวะดังนี้

  • เคยมีปัญหาเกี่ยวกับอาการเลือดออก
  • ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจ
  • โรคไตหรือโรคตับ
  • โรคมะเร็ง
  • โรคที่ส่งผลกระทบกับหลอดเลือดในสมอง
  • เคยมีอาการเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้
  • การผ่าตัดหรือการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน หรือหากคุณรับการฉีดยาแบบใดๆ
  • หากคุณอายุ 65 ปีขึ้นไป
  • หากคุณมีอาการป่วยอย่างรุนแรงหรือร่างกายอ่อนแอ

คูมาดิน® สามารถทำให้เกิดความบกพร่องแต่กำเนิดได้ แต่การป้องกันลิ่มเลือดนั้นอาจสำคัญกว่าความเสี่ยงต่อเด็กทารก คุณอาจสามารถใช้ยานี้ในขณะตั้งครรภ์หากคุณมีลิ้นหัวใจเทียม ควรใช้การคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ขณะที่กำลังใช้ยานี้และอย่างน้อย 1 เดือนหลังจากการใช้ยาครั้งสุดท้าย โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบในทันทีหากคุณตั้งครรภ์

หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการเลือดออกหรือการบาดเจ็บ ควรระมัดระวังอย่างมากขณะที่กำลังโกนขนหรือแปรงฟัน แม้จะหยุดใช้ยานี้แล้ว แต่อาการเลือดออกง่ายอาจจะยังคงอยู่อีกหลายวัน

สุรา เกรปฟรุต น้ำแครนเบอร์รี่ น้ำลูกยอ และน้ำทับทิมอาจมีปฏิกิริยากับคูมาดิน® และทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ จึงควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มเหล่านี้ขณะใช้ยา

ไม่ควรเปลี่ยนแปลงอาหารที่รับประทานโดยไม่แจ้งให้แพทย์ทราบ อาหารที่มีวิตามินเคสูง เช่น ตับ ผักใบเขียว น้ำมันพืช อาจทำให้ยานี้มีประสิทธิภาพลดลงได้ หากอาหารเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในแผนการรับประทานอาหารของคุณ ควรรับประทานในปริมาณคงที่

โปรดสอบถามแพทย์ก่อนใช้ยาบรรเทาอาการปวด ข้ออักเสบ เป็นไข้ หรืออาการบวม เช่น ยาอะเซตามีโนเฟน ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) ยานาพรอกเซน (naproxen) ยาเซเลโคซิบ (celecoxib) ยาไดโคลเฟเนค (diclofenac) ยาอินโดเมทาซิน (indomethacin) ยาเมโลซิแคม (meloxicam) เพราะอาจส่งผลต่อการเกิดลิ่มเลือด และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการเลือดออกในกระเพาะอาหาร

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ เกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยานี้

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้คูมาดิน® (ยาวาร์ฟาริน)

ผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป มีดังต่อไปนี้

  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • ปวดท้องระดับเบา
  • ท้องอืด มีแก๊สในกระเพาะอาหาร
  • การรับรสชาติเปลี่ยนไป

ติดต่อแพทย์ทันทีหากมีอาการดังนี้ 

  • มีอาการปวด บวม รู้สึกร้อนหรือเย็น ผิวหนัง หรือสีผิวเปลี่ยนแปลง
  • ปวดขาหรือเท้ากะทันหันและรุนแรง มีแผลที่เท้า นิ้วมือหรือนิ้วเท้าเป็นสีม่วง
  • ปวดศีรษะ วิงเวียน หรืออ่อนแรงเฉียบพลัน
  • มีรอยช้ำหรือเลือดออกง่าย (เช่น กำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน) มีจุดสีม่วงหรือแดงใต้ผิวหนัง
  • เลือดไหลออกจากแผลหรือรอยที่ฉีดยาไม่หยุด
  • ผิวซีด รู้สึกหน้ามืดหรือหายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว รวบรวมสมาธิไม่ได้
  • ปัสสาวะสีคล้ำ ดีซ่าน (ดวงตาหรือผิวหนังเป็นสีเหลือง)
  • ปัสสาวะน้อยหรือไม่ปัสสาวะเลย
  • ชา หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ปวดท้อง ปวดหลัง หรือปวดบริเวณสีข้าง

รับการรักษาพยาบาลฉุกเฉินทันที หากคุณมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีสัญญาณของอาการแพ้ ได้แก่ ลมพิษ หายใจติดขัด บวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ
  • มีอาการเลือดออกผิดปกติ หรืออาการเลือดไหลไม่หยุด คุณอาจจะมีอาการเลือดออกภายในร่างกาย เช่น ภายในกระเพาะอาหาร ลำไส้
  • มีเลือดในปัสสาวะ ปัสสาวะสีดำหรือสีเลือด
  • ไอเป็นเลือดหรืออาเจียนคล้ายกากกาแฟ

ผลข้างเคียงที่กล่าวมาข้างต้น อาจไม่ได้เกิดกับทุกคน หรือบางคนอาจมีอาการอื่นนอกเหนือจากนี้ หากคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

คูมาดิน® อาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรด้วยว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง สมุนไพร เป็นต้น และเพื่อความปลอดภัย คุณไม่ควรเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาเองโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ยาที่อาจมีปฏิกิริยากับคูมาดิน® ได้แก่

  • ยาป้องกันลิ่มเลือดอื่นๆ
  • ยารักษาการติดเชื้อ เช่น ยารักษาวัณโรค
  • อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของวิตามินเค
  • ยาต้านซึมเศร้า (antidepressant) เช่น ซิตาโลแพรม (citalopram) ดูลอกซิทีน (duloxetine) ฟลูออกซิทีน (fluoxetine) ฟลูโวซามีน (fluvoxamine) พารอกซิทีน (paroxetine) เซอร์ทราลีน (sertraline) เวนลาฟาซีน (venlafaxine) ไวลาโซโดน (vilazodone)
  • ยารักษาอาการชัก เช่น คาร์บาเมเซพีน (carbamazepine) ฟีโนบาร์บิทัล (phenobarbital) ฟีนีโทอิน (phenytoin)
  • ผลิตภัณฑ์จากพืช เช่น โคเอ็นไซม์ คิว10 (coenzyme Q10) แครนเบอร์รี่ เอ็กไคนาเซีย (echinacea) กระเทียม สารสกัดจากแปะก๊วย (ginkgo biloba) โสม โกลเด้นซีล (goldenseal) สมุนไพรเซนต์จอห์น (St. John’s wort)

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

คูมาดิน® อาจมีปฏิกิริยากับอาหาร หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

คูมาดิน® อาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ

โรคที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้ ได้แก่

  • โรคเซลิแอค สปรู (Celiac sprue) ซึ่งเป็นความผิดปกติของลำไส้
  • โรคเบาหวาน
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Overactive thyroid)
  • ความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (connective tissue) เช่น กลุ่มอาการมาร์แฟน (Marfan Syndrome) กลุ่มอาการโจเกร็น (Sjögren syndrome) โรคหนังแข็ง (scleroderma) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis) หรือโรคลูปัส (lupus)
  • ภาวะขาดลิ่มเลือดทางพันธุกรรม (hereditary clotting deficiency) เนื่องจากยานี้อาจทำให้อาการแย่ลงในช่วงแรก
  • หากคุณกำลังใช้ท่อสวน (catheter)
  • หากคุณเคยมีอาการเกล็ดเลือดต่ำหลังจากใช้ยาเฮพาริน (heparin)

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยาของคูมาดิน® (ยาวาร์ฟาริน) สำหรับผู้ใหญ่

ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำอุดตัน (Venous Thromboembolism) รวมถึงภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน (deep venous thrombosis) และโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (PE)

ปรับขนาดยาเพื่อรักษาค่าไอเอ็นอาร์เป้าหมายที่ 2.5 (ช่วงไอเอนอาร์ 2.0-3.0) สำหรับระยะเวลาการรักษาทั้งหมด ระยะเวลาในการรักษานั้นขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ดังต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน และโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดทุติยภูมิหรือแบบรักษาได้ แนะนำให้รักษาด้วยยาวาร์ฟารินเป็นเวลา 3 เดือน
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน และโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดแบบไม่มีปัจจัยกระตุ้น (unprovoked) แนะนำให้รักษาด้วยคูมาดิน® เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน หลังจากรักษาไป 3 เดือน ควรประเมินความเสี่ยงและประโยชน์ของการรักษาในระยะยาวสำหรับผู้ป่วยอีกครั้ง
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน และโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดแบบไม่มีปัจจัยกระตุ้นสองระยะ แนะนำให้ทำการรักษาด้วยคูมาดิน® ในระยะยาว
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดในระยะยาว ควรทำการประเมินความเสี่ยงและประโยชน์ของการรักษาต่อสำหรับผู้ป่วยเป็นระยะ

ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation)

ปรับขนาดยาเพื่อรักษาค่าไอเอ็นอาร์เป้าหมายที่ 2.5 (ช่วงไอเอนอาร์ 2.0-3.0) สำหรับระยะเวลาการรักษาทั้งหมด ระยะเวลาในการรักษานั้นขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ดังต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วที่ไม่เกี่ยวข้องกับลิ้นหัวใจที่มีอาการเป็นประจำหรือกำเริบทันทีและมีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง แนะนำให้ต้านการแข็งตัวของเลือดโดยใช้ยาวาร์ฟารินในระยะยาว ซึ่งวัดได้จาก
    • เคยมีภาวะสมองขาดเลือด (ischemic stroke) หรือภาวะขาดเลือดชั่วคราว (transient ischemic attack) หรือภาวะลิ่มเลือดอุดตันทั่วร่างกาย (systemic embolism)
    • หรือมีปัจจัยดังต่อไปนี้อย่างน้อย 2 ประการ
      • อายุมากกว่า 75 ปี
      • ห้องล่างซ้ายบีบตัวลดลงระดับปานกลางหรือรุนแรง และ/หรือหัวใจล้มเหลว
      • เคยมีภาวะความดันโลหิตสูง
      • เป็นโรคเบาหวาน
  • สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วที่ไม่เกี่ยวข้องกับลิ้นหัวใจที่มีอาการเป็นประจำหรือกำเริบทันทีและมีความเสี่ยงสูงที่จะมีภาวะสมองขาดเลือด (มี 1 ปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้ อายุมากกว่า 75 ปี ห้องล่างซ้ายบีบตัวลดลงระดับปานกลางหรือรุนแรง และ/หรือหัวใจล้มเหลว เคยมีภาวะความดันโลหิตสูง หรือเป็นโรคเบาหวาน) แนะนำให้ต้านการแข็งตัวของเลือดโดยใช้ยาวาร์ฟารินในระยะยาว
  • สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพริ้วและลิ้นหัวใจไมตรัลตีบ (mitral stenosis) แนะนำให้ต้านการแข็งตัวของเลือดโดยใช้ยาวาร์ฟารินในระยะยาว
  • สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพริ้วและมีลิ้นหัวใจเทียม แนะนำให้ต้านการแข็งตัวของเลือดโดยใช้ยาวาร์ฟารินในระยะยาว อาจเพิ่มค่าไอเอ็นอาร์เป้าหมายและเพิ่มยาแอสไพรินโดยขึ้นอยู่กับชนิดและตำแหน่งของลิ้นหัวใจ และปัจจัยของผู้ป่วย

ลิ้นหัวใจแบบเทียมและแบบไบโอโพรสเทติก

  • สำหรับผู้ป่วยที่มีลิ้นหัวใจเทียมแบบโลหะสองแผ่น (bileaflet mechanical valve) หรือลิ้นหัวใจเทียมเอียง (tilting disk valves) แบบโลหะหนึ่งแผ่น (Medtronic Hall) (มินนีแอโพลิส [Minneapolis] หรือเอ็มเอ็น [MN]) อยู่ในตำแหน่งเอออร์ตา (aortic position) ผู้ที่อยู่ในจังหวะไซนัส (sinus rhythm) และไม่มีการขยายตัวของหัวใจห้องบนซ้าย แนะนำให้รักษาด้วยยาฟารินเพื่อให้ได้รับค่าไอเอ็นอาร์เป้าหมายที่ 2.5 (ช่วง 2.0-3.0)
  • สำหรับผู้ที่มีลิ้นหัวใจเทียมแบบเอียงและลิ้นหัวใจเทียมแบบโลหะสองแผ่นในตำแหน่งไมทรัล (mitral position) แนะนำให้รักษาด้วยยาฟารินเพื่อให้ได้รับค่าไอเอ็นอาร์เป้าหมายที่ 3.0 (ช่วง 2.5-3.5)
  • สำหรับผู้ป่วยที่มีลิ้นหัวใจแบบเคจบอล (caged ball) หรือเคดิสก์ (caged disk) แนะนำให้รักษาด้วยยาฟารินเพื่อให้ได้รับค่าไอเอ็นอาร์เป้าหมายที่ 3.0 (ช่วง 2.5-3.5)
  • สำหรับผู้ป่วยที่มีลิ้นหัวใจแบบเนื้อเยื่อในตำแหน่งไมทรัล แนะนำให้รักษาด้วยยาฟารินเพื่อให้ได้รับค่าไอเอ็นอาร์เป้าหมายที่ 2.5 (ช่วง 2.0-3.0) เป็นเวลา 3 เดือน หากมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมสำหรับภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือด (thromboembolism) (ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพริ้ว ภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือดครั้งก่อน หรือหัวใจห้องล่างซ้านบกพร่อง) แนะนำค่าไอเอ็นอาร์เป้าหมายที่ 2.5 (ช่วง 2.0-3.0)

หลังจากกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Post-Myocardial Infarction)

  • สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย (เช่น ผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจส่วนหน้าขนาดใหญ่ตาย (large anterior MI) ผู้ที่มีโรคหัวใจล้มเหลวอย่างรุนแรง ผู้ที่มีลิ่มเลือดในหัวใจที่มองเห็นได้จากการการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านช่องอก (transthoracic echocardiography) ผู้ที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพริ้ว และผู้ที่มีเคยมีภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือด แนะนำให้รักษาร่วมกันระหว่างยาวาร์ฟารินความแรงปานกลาง (ค่าไอเอ็นอาร์ช่วง 2.0-3.0) ร่วมกับยาแอสไพรินขนาดต่ำ (น้อยกว่า 100 มก./วัน) เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือนหลังจากเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย

ขนาดยาคูมาดิน (ยาวาร์ฟาริน) สำหรับเด็ก

ยังไม่มีการพิสูจน์ความความปลอดภัยและประสิทธิภาพของขนาดยานี้สำหรับผู้ป่วยเด็ก ยานี้อาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้ ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจกับความปลอดภัยของยาก่อนการใช้ยา สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อกับแพทย์หรือเภสัชกร

รูปแบบของยา

ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้

  • ยาเม็ดวาร์ฟารินโซเดียม 1 มก.
  • ยารูปแบบไลโอฟิไลซ์สำหรับฉีด วาร์ฟารินโซเดียม 2 มก. ในสารละลาย 1 มล.

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ในทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Coumadin®. https://www.drugs.com/coumadin.html. Accessed July 19, 2017

Coumadin®. http://www.webmd.com/drugs/2/drug-4069/coumadin-oral/details. Accessed July 19, 2017

COUMADIN. https://www.rxlist.com/coumadin-drug.htm. Accessed July 19, 2017

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ปวดฟันมาก ใช้ ยาแก้ปวดฟัน แบบไหนดี

โคเอนไซม์คิวเทน (CoQ10) เชื่อมโยงกับ สุขภาพหัวใจ อย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ

ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา