ข้อบ่งใช้
ยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนตใช้สำหรับ
ยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต (Sodium polystyrene sulfonate) ใช้เพื่อรักษาภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง ระดับโพแทสเซียมภายในเลือดที่มากเกินไปในบางครั้งอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการเต้นของหัวใจ ยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนตทำงานโดยช่วยร่างกายกำจัดโพแทสเซียมส่วนเกินออกไป
วิธีการใช้ยา โซเดียมพอลิสไตรีนซัลโฟเนต
รับประทานยานี้หรือสวนเข้าทางทวารหนักตามที่แพทย์กำหนด
หากคุณใช้ยาชนิดรับประทานยา โดยปกติคือ วันละ 1-4 ครั้งตามที่แพทย์กำหนด สำหรับวิธีการเตรียมยาน้ำแขวนตะกอน ควรตวงยาผงในขนาดที่กำหนดและผสมกับน้ำหรือน้ำเชื่อมตามขนาดที่กำหนด คนให้เข้ากันแล้วดื่มลงไปทั้งหมด ควรนั่งตั้งตัวตรง (นั่ง ยืน หรือเดิน) และอย่าล้มตัวลงนอนเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงหลังจากรับประทานยา โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
ยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต อาจจะไปลดการดูดซึมยาอื่นได้ ควรใช้ยาอื่นตามที่แพทย์กำหนด โดยปกติคือ อย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนหรือหลังจากใช้ยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต โปรดสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรหากคุณมีข้อสงสัยใดๆ
สำหรับวิธีการสวนยาเข้าทางทวารหนักโดยใช้น้ำยาสวนทวารหนัก (enema) ควรใช้ยาในขนาดที่กำหนด โดยปกติคือทุกๆ 6 ชั่วโมงเท่าที่จำเป็นหรือตามที่แพทย์กำหนด โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรสำหรับวิธีการเตรียมและผสมยาให้กลายเป็นยาแขวนตะกอนและวิธีการใช้น้ำยาสวนทวารหนัก ควรทำตามคำแนะนำวิธีใช้น้ำยาสวนล้างทวารหนักก่อนและหลังจากใช้ยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต น้ำยาสวนล้างทวารหนักหลังจากการให้ยาสวนทวารแต่ละครั้งควรจะเป็นชนิดที่ไม่มีส่วนผสมของโซเดียม
ผสมยาแขวนตะกอนให้ดีและใช้ยาทันทีหลังจากผสมยา อย่าเก็บส่วนผสมไว้นานเกิน 24 ชั่วโมง
อย่าให้ยาถูกความร้อนเนื่องจากอาจทำให้ยาทำงานได้ไม่ดีดังเดิม
ขนาดยาและระยะเวลาการรักษาขึ้นอยู่กับภาวะสุขภาพและการตอบสนองต่อการรักษา ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด อย่าใช้ยานี้ในขนาดที่มากกว่าหรือใช้ยานานกว่าที่กำหนดเพราะอาจทำให้ระดับโพแทสเซียมในร่างกายของคุณลดต่ำเกินไป
ควรไปตามนัดของห้องแล็บและของแพทย์ทุกครั้งเพื่อตรวจวัดระดับของโพแทสเซียมในเลือด
การเก็บรักษายา โซเดียมพอลิสไตรีนซัลโฟเนต
ยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต ควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงแสงหรือความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเกิดความเสียหาย ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนตบางยี่ห้อ อาจจะต้องเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบฉลากยาหรือสอบถามเภสัชกรเสมอ เพื่อความปลอดภัยโปรดเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไม่ควรทิ้งยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนตลงในชักโครก หรือเทลงในท่อระบายน้ำ เว้นแต่ได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้องเมื่อยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน โปรดสอบถามเภสัชกรเพิ่มเติม เกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาที่ถูกต้อง
ข้อควรระวังและคำเตือน
ข้อควรรู้ก่อนใช้ยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต
ก่อนใช้ยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากคุณแพ้ยานี้ หรือหากคุณเป็นโรคภูมิแพ้อื่นๆ ยานี้อาจมีส่วนประกอบไม่ออกฤทธิ์ที่ทำให้เกิดอาการแพ้หรือปัญหาอื่น โปรดปรึกษาเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
ยานี้มีส่วนผสมของเกลือ (โซเดียม) ในปริมาณมาก อย่าใช้สารทดแทนเกลือที่มีส่วนผสมของโพแทสเซียมโดยไม่ปรึกษากับแพทย์ก่อน หากคุณมีสภาวะเหล่านี้ ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์ในการจำกัดปริมาณของโซเดียมภายในอาหาร ปัญหาเกี่ยวกับไต หัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตสูง มีอาการบวมที่มือ ข้อเท้า หรือเท้า
ก่อนใช้ยานี้ แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของคุณ โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารหรือลำไส้ เช่น โรคลำไส้อักเสบ (inflammatory bowel disease) โรคลำไส้อุดตัน (bowel obstruction) อาการท้องผูกเรื้อรัง หรืออุจจาระแข็ง (fecal impaction) ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
ก่อนการผ่าตัด แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทั้งหมดที่คุณใช้ (ทั้งยาตามใบสั่งยา ยาที่หาซื้อเอง และสมุนไพรต่างๆ)
ผู้สูงอายุอาจจะมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะมีอาการท้องผูกอย่างรุนแรง
ห้ามให้ทารกแรกเกิดรับประทานยานี้ โดยเฉพาะทารกคลอดก่อนกำหนด และทารกแรกเกิดที่มีการทำงานของลำไส้ช้านั้นห้ามใช้ยานี้ ควรระมัดระวังการใช้ยานี้สวนทวารหนักกับทารกแรกเกิดและเด็ก เนื่องจากพวกเขามีปฏิกิริยาไวต่อผลข้างเคียงของยานี้มากกว่า โดยเฉพาะอาการท้องผูกอย่างรุนแรงและปัญหาเกี่ยวกับลำไส้
โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณกำลังตั้งครรภ์ก่อนที่จะใช้ยานี้
ยานี้ไม่สามารถผ่านเข้าสู่น้ำนมแม่และไม่น่าจะเป็นอันตรายต่อทารก โปรดปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตร
ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อหาประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยา
ยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนตจัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์ หมวด C โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)
การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้
- A= ไม่มีความเสี่ยง
- B= ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
- C= อาจจะมีความเสี่ยง
- D= มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
- X= ห้ามใช้
- N= ไม่ทราบแน่ชัด
ผลข้างเคียง
ผลข้างเคียงของการใช้ยา โซเดียมพอลิสไตรีนซัลโฟเนต
อาจเกิดอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องผูก อาการท้องร่วงนั้นจะพบได้น้อยกว่า หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือรุนแรงขึ้นโปรดแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรในทันที
เพื่อป้องกันอาการท้องผูก ควรรับประทานอาหารที่มีใยอาหารที่เพียงพอ ดื่มน้ำให้มาก และออกกำลังกาย นอกเสียจากแพทย์จะสั่งให้ทำแบบอื่น อาการท้องผูกอย่างรุนแรงนั้นอาจจะเป็นอันตรายอย่างมากได้ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อช่วยเลือกยาระบายชนิดที่ไม่มีส่วนประกอบของสารซอร์บิทอล (sorbitol)
โปรดจำไว้ว่าการที่แพทย์ให้คุณใช้ยาตัวนี้เนื่องจากคำนวณแล้วว่ายามีประโยชน์มากกว่าเป็นโทษ และคนที่ใช้ยานี้ส่วนใหญ่ไม่พบผลข้างเคียงที่ร้ายแรงใดๆ
ควรแจ้งให้แพทย์ทราบในทันทีหากเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงดังต่อไปนี้ กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือกล้ามเนื้อกระตุก หัวใจเต้นเร็วหรือผิดปกติ มีความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจหรืออารมณ์ (เช่นหงุดหงิด สับสน คิดช้า) มีอาการบวมที่มือ ข้อเท้า หรือเท้า
ยานี้อาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ที่รุนแรง (ในบางครั้งอาจถึงแก่ชีวิต) เช่น มีเลือดออกหรืออุดตัน ควรรับการรักษาในทันทีหากมีผลข้างเคียงที่รุนแรงมากดังต่อไปนี้เกิดขึ้น เช่น ท้องผูกอย่างรุนแรง ท้องอืด ท้องบวม หรือปวดท้อง อุจจาระสีดำหรือสีเลือด อาเจียนคล้ายกากกาแฟ
ควรรับการรักษาในทันทีหากเกิดผลข้างเคียงที่หายากแต่รุนแรงมากดังต่อไปนี้ ไม่สามารถเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อได้ (อัมพาต) อาการชัก
การแพ้ยาที่รุนแรงต่อยานี้ ค่อนข้างเกิดขึ้นได้ยาก แต่จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาการของการแพ้รุนแรงมีดังนี้ ผดผื่น คันหรือบวม (โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ลิ้น และลำคอ) วิงเวียนขั้นรุนแรง หายใจติดขัด
ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้อาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร
ปฏิกิริยาของยา
ปฏิกิริยากับยาอื่น
ยาที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้ ได้แก่ ยาลดกรดหรือยาระบายที่มีส่วนผสมของอะลูมิเนียม แคลเซียม หรือแมกนีเซียม เช่น อะลูมิเนียม คาร์บอเนต (aluminum carbonate) อะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ (aluminum hydroxide) แคลเซียม คาร์บอเนต (calcium carbonate) แมกนีเซียม ไฮดรอกไซด์ (magnesium hydroxide)
อย่าใช้ยาระบายใดๆ ที่มีส่วนผสมของซอร์บิทอล พร้อมกับยานี้เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาเกี่ยวกับลำไส้
ยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนตอาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรจะบอกแพทย์หรือเภสัชกรของคุณว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง (ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่างๆ) เพื่อความปลอดภัย โปรดอย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาใดๆ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์
ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์
ยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนตอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น
ยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนตอาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ
ขนาดยา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม
ขนาดยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนตสำหรับผู้ใหญ่
ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง
ยารับประทาน
15 กรัม รับประทานวันละครั้ง
ขนาดยาสูงสุด 15 กรัม รับประทานวันละ 4 ครั้ง
คำแนะนำ
- ขนาดยา 15 กรัมนั้นเทียบเท่ากับประมาณ 4 ช้อนชา
- ยานี้ควรให้เป็นยาแขวนตะกอนในน้ำหรือน้ำเชื่อม (ไม่ใช่น้ำผลไม้)
การสวนยาเข้าทางทวารหนัก
30 กรัม สวนยาเข้าทางทวารหนักทุกๆ 6 ชั่วโมง
ขนาดยาสูงสุด 50 กรัม สวนยาเข้าทางทวารหนักทุกๆ 6 ชั่วโมง
คำแนะนำ
- ควรให้ยานี้โดยใช้ยาอิมัลชัน (emulsion) ในกระสายยาที่เป็นน้ำ (aqueous vehicle) ปริมาณ 100 มล.
- ควรเขย่ายาสารละลายนี้เบาๆ ระหว่างการให้ยา
- ควรให้น้ำยาสวนทวารหนักค้างไว้นานที่สุดเท่าที่เป็นไปได้แล้วควรตามด้วยน้ำยาสวนล้างทวารหนัก
การใช้งาน เพื่อรักษาภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง
การปรับขนาดยา
ความเข้มข้นของการรักษาและระยะเวลาการรักษาควรขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและความต้านทานของภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง
คำแนะนำอื่นๆ
คำแนะนำการให้ยา
- ควรเขย่ายาให้ดีก่อนใช้ยาแขวนตะกอนและคอยเขย่ายาเบาๆ ระหว่างการให้ยาหากให้ยาโดยการสวนเข้าทางทวารหนัก
- ยานี้อาจให้พร้อมกับน้ำเปล่าหรือน้ำเชื่อม แต่ควรหลีกเลี่ยงน้ำผลไม้
- ควรให้ยานี้ผ่านทางท่อพลาสติกเข้าสู่กระเพาะอาหาร
- ควรให้น้ำยาสวนทวารหนักค้างไว้นานที่สุดเท่าที่เป็นไปได้แล้วควรตามด้วยน้ำยาสวนล้างทวารหนักหลังจากให้ยา
การเก็บรักษา
- เมื่อเตรียมยาแล้วควรใช้ภายใน 24 ชั่วโมง
- เก็บยาไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด เก็บให้พ้นจากแสงและความร้อน
- หากคุณเปลี่ยนภาชนะสำหรับเก็บยาผง ควรเก็บยาไว้ในตู้เย็นและใช้ภายใน 14 วันหลังจากเปิดยา
เทคนิคการคืนรูปยาหรือการเตรียมยา
- ยาสำหรับรับประทานควรแขวนตะกอนไว้ในน้ำปริมาณ 3 ถึง 4 มล. ต่อเรซิน 1 กรัม
- น้ำยาสวนทวารหนักควรแขวนตะกอนในกระสายยาอุณภูมิร่างกายปริมาณ 100 มล. ก่อนให้ยา
ทั่วไป
- ยาในรูปแบบน้ำยาสวนทวารหนักแสดงให้เห็นถึงผลที่น้อยกว่าเทียบกับยาแขวนตะกอนสำหรับรับประทาน
- หากสวนยาเข้าทางทวารหนัก อาจต้องใช้สารสะลายสวนล้างทวารหนักมากถึง 2 ควอท
- ยาทุกๆ 15 กรัมนั้นมีโซเดียมในปริมาณ 60 มิลลิอิควิวาเลนท์
- ประสิทธิภาพของการแลกเปลี่ยนไอออนนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 33% แต่ก็มีความแปรปรวนได้สูง
การเฝ้าระวัง
- ควรตรวจวัดระดับโพแทสเซียมอย่างน้อยทุกๆ 24 ชั่วโมง
- ควรวัดระดับแคลเซียม แมกนีเซียม และโซเดียมเป็นระยะๆ
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย
- โปรดแจ้งให้ผู้ป่วยติดต่อผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพหากมีอาการท้องผูก ท้องร่วง อุจจาระเป็นเลือด สับสน อ่อนแรง หรือมีกระบวนการความคิดช้าลง
- ควรเตือนให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดกรดหรือยาระบายพร้อมกับยานี้ (เช่นซอร์บิทอลหรือแมกนีเซียม ไฮดรอกไซด์)
- ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำให้ปรึกษากับผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพหากตั้งครรภ์ มีแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร
ขนาดยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนตสำหรับเด็ก
ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง
การคำนวณขนาดยานั้นขึ้นอยู่กับโพแทสเซียม 1 มิลลิอิควิวาเลนท์ ต่อเรซิน 1 กรัม
คำแนะนำ
- ขนาดยา 15 กรัมนั้นเทียบเท่ากับประมาณ 4 ช้อนชา
- ยานี้ควรให้เป็นยาแขวนตะกอนในน้ำหรือน้ำเชื่อม (ไม่ใช่น้ำผลไม้)
- ควรหลีกเลี่ยงการให้ยาสำหรับรับประทานกับทารกแรกเกิด
การใช้งาน เพื่อรักษาภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง
ข้อควรระวัง
ยังไม่มีการพิสูจน์ความความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยานี้กับผู้ป่วยเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 เดือน (ยาสำหรับรับประทาน) ยังไม่มีการพิสูจน์ประสิทธิภาพของยานี้กับผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 18 ปี
รูปแบบของยา
ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้
- ยาผงสำหรับรับประทานและยาผงสวนทวารหนัก
- น้ำยาสวนทวารหนัก (Rectal enema)
- ยาแขวนตะกอนสำหรับรับประทาน
- ยาแขวนตะกอนสำหรับรับประทานและสำหรับสวนทวารหนัก
กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด
หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที
กรณีลืมใช้ยา
หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ในทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]