ตะคริว (Muscle Cramps) อาการที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะช่วงวัยผู้สูงอายุ อาการตะคริวเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งวัน แต่มักจะพบมากในเวลากลางคืน หรือเกิดตะคริวขณะนอนหลับ ความจริงแล้ว ตะคริวเกิดจาก สาเหตุอะไร วิธีป้องกันการเกิดตะคริว ทำได้อย่างไร
[embed-health-tool-ovulation]
ตะคริวเกิดจาก สาเหตุอะไร
ตะคริว โรคของกล้ามเนื้อหรือเส้นประสาทส่วนปลาย เป็นภาวะที่กล้ามเนื้อเกิดการเกร็งตัว หดเกร็งจนเป็นก้อนแข็ง ทำให้มีอาการปวดและเป็นก้อนแข็งของกล้ามเนื้อ เกิดได้ทั้งกล้ามเนื้อมัดเดียวหรือหลายมัด เกิดได้กับทุกส่วนของร่างกาย แต่ตะคริวมักจะพบมากที่กล้ามเนื้อน่อง ต้นขา และฝ่าเท้า อาการของตะคริวมักจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แต่เป็นอยู่เพียงชั่วขณะ ซึ่งอาการ ตะคริวเกิดจากสาเหตุ ดังนี้
- การขาดน้ำ ร่างกายได้รับน้ำไม่เพียงพอ
- ภาวะเกลือแร่ไม่สมดุล เช่น การรับประทานอาหารที่ปรุงรส หรือมีโซเดียมในปริมาณที่มากเกินพอดี
- ภาวะเกลือแร่ในเลือดต่ำ เช่น โซเดียม โพแตสเซียม แคลเซียม แมกเนเซียม
- การตั้งครรภ์ และร่างกายได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ
- การใช้ยาขับปัสาวะ ยาขยายหลอดลม อาจส่งผลต่อการเกิดตะคริวได้
ตะคริวเกิดจาก การออกกำลังกายหนักหรือไม่
การออกกำลังกายที่ไม่เหมาะสม การใช้กล้ามเนื้อมากเกินไป หรือการออกกำลังกายที่ใช้แรงมาก ติดต่อกันนาน ๆ อาจทำให้เกิดตะคริวได้ เช่น วิ่งทางไกล ว่ายน้ำ และเล่นกีฬา ซึ่งส่งผลต่อกล้ามเนื้อ ดังนี้
- กล้ามเนื้ออ่อนล้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- กล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บ
- กล้ามเนื้อตึง เพราะขาดการยืดหยุ่น
- กล้ามเนื้อขาดเลือด อาจเกิดได้จากการออกกำลังกายอย่างหนัก โดยไม่ได้อบอุ่นร่างกาย (Warm Up)
ปัญหาของกล้ามเนื้อดังกล่าว ส่งผลให้ร่างกายเกิดตะคริวได้ ผู้ที่ออกกำลังกายจึงควรยืดกล้ามเนื้อ (Muscle Stretching) และอบอุ่นร่างกาย (Warm Up) ก่อนออกกำลังกาย เมื่อออกกำลังกายเสร็จแล้วควรผ่อนคลายร่างกาย (Cooldown หรือ Warm Down) จะช่วยป้องกันการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ลดโอกาสการเกิดตะคริวได้ นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งในวันที่อากาศร้อนจัด ดื่มน้ำให้ร่างกายสดชื่นอยู่เสมอ อาจจิบเบา ๆ ในช่วงพักระหว่างออกกำลังกาย
วิธีป้องกันการเกิดตะคริว
การป้องกันการเกิดตะคริวสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการดูแลสุขภาพร่างกาย และเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม ดังนี้
- ดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว
- เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม สำหรับผลไม้ที่มีแร่ธาตุ เช่น กล้วยหอม กล้วยไข่ มะเขือเทศ ส้ม แคนตาลูป รวมถึงผักต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งกล้วยน้ำว้าห่าม มีแคลเซียม แมกนีเซียม และโพแทสเซียมสูง ช่วยชดเชยโพแทสเซียมแก่ร่างกาย มีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของระบบประสาทและการหดตัวของกล้ามเนื้อ กล้วยยังเพิ่มกากใยที่ช่วยในการขับถ่าย ป้องกันภาวะขาดเกลือแร่จนเป็นสาเหตุของตะคริวได้
วิธีดูแลตัวเองเมื่อเกิดตะคริว
หากเกิดอาการตะคริวขณะออกกำลังกาย ควรค่อย ๆ หยุดออกกำลังกายก่อน พักกล้ามเนื้อ และยืดเหยียดกล้ามเนื้อที่เกร็งค้าง หากเกิดอาการตะคริวที่น่องขาให้ผู้อื่นช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้น ดังนี้
- จัดท่าให้ข้อเข่าเหยียด
- กระดกข้อเท้าขึ้นเต็มที่ ค้างไว้สักระยะ
- ทำซ้ำ 5 ถึง 10 ครั้ง อาการเกร็งของกล้ามเนื้อลดลงได้
อาการตะคริวเกิดจาก หลายสาเหตุ แต่สามารถป้องกันได้ เพียงดูแลสุขภาพอยู่เสมอ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายเป็นประจำให้ร่างกายแข็งแรง