คนเราต่างก็มีกิจวัตรประจำวัน หรือกิจกรรมที่ชอบทำแตกต่างกันไป บางคนชอบนอนดึก บางคนเป็นนักดื่ม บางคนเป็นสายกิน แต่จะมีใครรู้บ้างว่า กิจวัตรประจำวัน หรือพฤติกรรมบางอย่างที่คุณทำนั้น หากทำบ่อยๆ เข้า อาจส่งผลกระทบต่อสมอง ทำให้สมองบกพร่องได้ และหากใครอยากให้ร่างกายแข็งแรง สมองทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ก็ควรหลีกเลี่ยง พฤติกรรมทำลายสมอง เหล่านี้โดยด่วน
พฤติกรรมทำลายสมอง ที่ควรเลี่ยง
1. นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
การนอนน้อย หรืออดนอน นอกจากจะทำให้คุณรู้สึกอ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง อารมณ์แปรปรวนง่ายแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสมอง ทำให้คุณไม่มีสมาธิ คิดอะไรไม่ออกด้วย ยิ่งถ้าคุณนอนไม่พอติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็จะยิ่งส่งผลต่อสมองได้ในระยะยาว โดยเฉพาะสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำ และอาจนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อม เช่น โรคอัลไซเมอร์ ได้ด้วย ฉะนั้น หากคุณอยากให้สมองแข็งแรง ก็ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ก่อนนอนควรงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดคาเฟอีน พักสายตาจากหน้าจอมือถือ หรือคอมพิวเตอร์ แล้วหันมาทำกิจกรรมผ่อนคลาย ช่วยให้หลับง่ายขึ้น เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลงเบาๆ แทน
2. อยู่คนเดียวมากเกินไป
มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม จึงควรหาเวลาพบปะสังสรรค์กับเพื่อนหรือคนรู้จักบ้าง ไม่ใช่แค่ติดต่อกันผ่านโซเชียลมีเดีย ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า การใช้เวลาอยู่กับคนในครอบครัว เพื่อน หรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในโลกจริงจะช่วยให้คุณมีความสุขมากขึ้น ช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมถอยได้ด้วย ฉะนั้น หากคุณรู้สึกเหงา แทนที่จะนั่งส่องโซเชียลมีเดีย หรือเล่นมือถือ ลองเปลี่ยนไปโทรหาเพื่อน แล้วชวนกันไปทำกิจกรรมที่ชอบ หรือกิจกรรมใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำดู นอกจากจะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ของคุณกับเพื่อนแล้ว ยังช่วยพัฒนาสมองได้ด้วย
3. ชอบกินเค็ม
ผลการวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร JAMA Neurology ระบุว่า เกลือคือหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้ความดันโลหิตสูง ยิ่งเรากินโซเดียม กินเกลือ หรือกินเค็มมากๆ ก็ยิ่งทำให้เสี่ยงเกิดภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะสูญเสียความสามารถทางสมอง รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง จนสมองเสียหายร้ายแรงได้
4. ใส่หูฟังแล้วเปิดเพลงเสียงดัง
การใส่หูฟังแล้วเปิดเสียงให้สุดเพียงแค่ 30 นาที สามารถทำให้เราสูญเสียการได้ยินถาวรได้ ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ผู้ที่มีปัญหาในการได้ยินมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมเพิ่มมากขึ้น 30-40% ฉะนั้น หากใครอยากปกป้องหูและสมอง ก็ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมทำลายสมอง อย่างการใส่หูฟังแล้วฟังเพลงเสียงดัง ควรเปิดเสียงไม่เกิน 60% ของระดับเสียงสูงสุด และอย่าใส่หูฟังติดต่อกันนานเกินครั้งละ 2 ชั่วโมง ถ้าหากใครต้องทำงานในสถานที่ที่มีเสียงดังตลอดเวลา เช่น ไซต์ก่อสร้าง ก็ควรใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเสียงดัง เช่น ที่อุดหู ที่ครอบหู
5. เอาแต่นั่งๆ นอนๆ
เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า การออกกำลังกายเป็นประจำช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ผลการศึกษาวิจัยหลายชิ้นเผยว่า การออกกำลังกายหรือการขยับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การวิ่ง การออกกำลังกายแบบแอโรบิค การยกน้ำหนัก หรือแม้แต่การทำสวน ล้วนแต่มีส่วนช่วยให้สมองของเราแข็งแรงขึ้นได้ เนื่องจาก
- ช่วยเสริมสร้างการทำงานของสมองส่วนที่เรียกว่า “ฮิปโปแคมปัส (hippocampus)” ซึ่งเกี่ยวข้องกับความจำและการเรียนรู้
- ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของสมอง (neuroplasticity) จึงทำให้เราเรียนรู้และรับประสบการณ์ใหม่ๆ ได้อย่างเป็นปกติ
- ช่วยทำให้หลอดเลือดแข็งแรงขึ้น เลือดจึงไหลเวียนได้ดี ไม่เกิดลิ่มเลือดอุดตันที่นำไปสู่ภาวะสมองเสื่อม
- ช่วยพัฒนาทักษะบริหารจัดการตัวเอง หรือ Executive Function ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานของสมองส่วนหน้า ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับความคิด การกระทำ และความรู้สึก เพื่อให้เราบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้
ฉะนั้น ใครที่เอาแต่นั่งๆ นอนๆ ไม่ค่อยชอบขยับร่างกาย ก็ควรหันมาออกกำลังกายบ้าง อย่างน้อยวันละ 15 นาทีก็ยังดี เพื่อให้สมองและสุขภาพโดยรวมแข็งแรง โรคภัยไม่มาเยือน
6. กินเยอะเกิน
งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Neurology ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2012 ซึ่งศึกษากลุ่มตัวอย่างอายุเฉลี่ย 50 ปี จำนวน 6,000 คน เป็นเวลายาวนานถึง 10 ปี พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีน้ำหนักเกิน มีภาวะความบกพร่องของทักษะด้านความคิดมากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่น้ำหนักตัวปกติถึง 22% ฉะนั้น หากคุณไม่อยากให้สมองมีปัญหา หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค เช่น โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง ก็ควรกินอาหารแต่พอดี โดยเน้นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ งดอาหารฟาสต์ฟู้ด จั๊งค์ฟู้ด
7. สูบบุหรี่
เมื่ออายุเรามากขึ้น เปลือกสมองหรือผิวสมอง (cerebral cortex) ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับกระบวนการคิด เช่น ความจำ การใช้ภาษา ความรู้ความเข้าใจ ก็จะบางลงเรื่อยๆ ทำให้ทักษะด้านดังกล่าวของเราค่อยๆ แย่ลงไปตามอายุ ยิ่งถ้าคุณสูบบุหรี่ นิโคตินในบุหรี่ก็จะยิ่งทำให้เปลือกสมองบางลงเร็วกว่าเดิม ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ด้วย ดังนั้น หากคุณสูบบุหรี่อยู่ก็ควรเลิกสูบบุหรี่โดยเร็วที่สุด เพราะนอกจากจะดีต่อสมองแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะความดันโลหิตสูง และโรคอื่นๆ ได้อีกมากมาย
8. ชอบอยู่ในที่มืดๆ
หากคุณเอาแต่หมกตัวอยู่ในห้อง ไม่ค่อยออกไปรับแสงแดด อาจทำให้คุณมีอาการซึมเศร้า และทำให้ประสิทธิภาพของสมองแย่ลง คุณจึงควรออกไปรับแสงแดดบ้าง แต่แนะนำให้รับแดดยามเช้า หลีกเลี่ยงแดดช่วงเที่ยงหรือบ่าย และต้องทาครีมกันแดดทุกครั้งก่อนออกจากบ้านด้วย
9. ดื่มแอลกอฮอล์หนักเกินไป
ผลการวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร British Medical Journal ชี้ว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สัปดาห์ละ 15-20 แก้ว เป็นประจำ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายต่อสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำ และความสามารถในการประเมินพื้นที่ (spatial navigation) ถึง 3 เท่า รู้อย่างนี้แล้ว ใครที่เป็นสายดื่ม ก็ควรลด ละ เลิก ให้เร็วที่สุด เพื่อให้สมองได้เยียวยาตัวเอง และกลับมาเป็นปกติ
10. เป็นคนติดหวาน
ไม่ใช่แค่อาหารรสเค็มจัดเท่านั้นที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เพราะผลการศึกษาวิจัยหลายชิ้นเผยว่า น้ำตาลหรืออาหารรสหวานจัด ก็ส่งผลเสียต่อโครงสร้างและการทำงานของสมอง และทำให้ความสามารถด้านความจำและการเรียนรู้เสียหายในระยะยาวได้เช่นกัน เพราะเมื่อร่างกายได้รับปริมาณน้ำตาลมากเกินไป น้ำตาลจะไปขัดขวางการดูดซึมโปรตีนและสารอาหารต่างๆ ทำให้สมองได้รับสารอาหารที่จำเป็นไม่เพียงพอ จึงไม่เจริญเติบโตและทำงานผิดปกติ
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]