อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) เป็นโรคที่ทำให้สูญเสียความทรงจำ และส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานที่สำคัญของสมอง ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจลืมแม้กระทั่งคนสำคัญในชีวิต และเกิดความเปลี่ยนแปลงด้านบุคลิกภาพอย่างรวดเร็ว
คำจำกัดความ
อัลไซเมอร์ คืออะไร
อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) เป็นโรคที่ทำให้สูญเสียความทรงจำ และส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานที่สำคัญของสมอง ในระยะแรก ผู้ป่วยอัลไซเมอร์อาจมีอาการมึนงงและมีปัญหาเกี่ยวการจดจำเพียงเล็กน้อย แต่เมื่ออาการรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยอาจลืมแม้กระทั่งคนสำคัญในชีวิตและเกิดความเปลี่ยนแปลงด้านบุคลิกภาพอย่างรวดเร็ว
อัลไซเมอร์เป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุดของโรคสมองเสื่อม โดยเป็นกลุ่มอาการผิดปกติทางสมองที่ทำให้เกิดการสูญเสียทักษะทางสมองและทักษะในการเข้าสังคม เกิดจากเซลล์สมองเสื่อมและตายไป ทำให้ประสิทธิภาพของความทรงจำและการทำงานของสมองลดลงเรื่อย ๆ
การใช้ยาและวิธีการรักษาอัลไซเมอร์อาจทำให้อาการดีขึ้นเพียงชั่วคราว โดยอาจช่วยยืดเวลาการทำงานของสมองและช่วยให้ผู้ป่วยสามารถช่วยตัวเองได้นานขึ้นเล็กน้อย แต่เนื่องจากอัลไซเมอร์ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุดจึงถือเป็นเรื่องสำคัญมาก
โรคอัลไซเมอร์พบบ่อยเพียงใด
อัลไซเมอร์เป็นโรคที่พบได้บ่อยมาก แต่ก็สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้
อาการ
อาการของอัลไซเมอร์
ในระยะแรก อาการของโรคที่สังเกตได้ชัดเจนได้แก่ มีอาการหลงลืมหรือสับสนบ่อยขึ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป โรคนี้จะค่อย ๆ ทำให้ความทรงจำหายไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะความทรงจำในปัจจุบัน อัตราการทรุดลงของอาการจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยความเปลี่ยนแปลงทางสมองที่สัมพันธ์กับอัลไซเมอร์จะทำให้เกิดปัญหาในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
ความทรงจำ
อาการหลงๆ ลืมๆ บางเวลาถือเป็นเรื่องปกติ แต่อัลไซเมอร์มักทำให้สูญเสียความทรงจำแบบเรื้อรังและอาการแย่ลงเรื่อย ๆ ซึ่งอาจส่งกระทบต่อความสามารถในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยผู้ป่วยอัลไซเมอร์อาจจะมีอาการดังต่อไปนี้
- พูดและถามซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยไม่รู้สึกตัวว่าได้ถามคำถามมาก่อนแล้ว
- ลืมการสนทนา การนัดหมาย หรือกิจกรรมต่าง ๆ และไม่สามารถระลึกได้เมื่อเวลาผ่านไป
- วางสิ่งของไว้ผิดที่เป็นประจำ ซึ่งมักวางไว้ในที่ที่ไม่ควรวาง
- หลงทางในสถานที่ที่คุ้นเคย
- ลืมชื่อสมาชิกในครอบครัวและวัตถุที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
- มีปัญหาในการหาคำที่เหมาะสมเพื่อระบุวัตถุ แสดงความคิด หรือมีส่วนร่วมในการสนทนา
การคิดและการให้เหตุผล
อัลไซเมอร์ทำให้มีปัญหาในการจดจ่อและการคิด โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น ตัวเลขต่าง ๆ การทำงานหลายอย่างพร้อมกันในเวลาเดียวกันกลายเป็นเรื่องยาก นอกจากนี้ ยังอาจมีปัญหาในการจัดการด้านการเงิน หรือชำระค่าใช้จ่ายไม่ตรงเวลา ปัญหาเหล่านี้อาจรุนแรงถึงขั้นไม่สามารถจดจำหรือจัดการกับตัวเลขต่าง ๆ ได้
การตัดสินและการตัดสินใจ
ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มักตอบสนองต่อปัญหาต่าง ๆ ที่พบเจอในชีวิตประจำวันได้ยากขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพในการรับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นลดลง เช่น เปิดเตาไฟไม่ได้ ไม่สามารถจัดการกับเหตุไม่คาดฝันขณะขับขี่ยานพาหนะได้
การวางแผนและการทำงานที่คุ้นเคย
กิจกรรมที่มีขั้นตอน เช่น การวางแผน การทำอาหาร การเล่นเกมที่ชื่นชอบ กลายเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ที่มีอาการรุนแรงขึ้น ท้ายที่สุดแล้ว ผู้ป่วยอาจลืมขั้นตอนของกิจกรรมง่าย ๆ ที่เคยทำในชีวิตประจำวัน เช่น การอาบน้ำแต่งตัว
การเปลี่ยนแปลงด้านบุคลิกภาพและพฤติกรรม
การเปลี่ยนแปลงของสมองที่เกิดขึ้นจากโรคอัลไซเมอร์สามารถส่งผลกระทบต่อวิธีการแสดงออกทางความคิดและความรู้สึกของผู้ป่วย โดยอาจมีอาการดังต่อไปนี้
- ซึมเศร้า
- ขาดความกระตือรือร้น
- แยกตัวจากสังคม
- อารมณ์แปรปรวน
- หวาดระแวงผู้อื่น
- หงุดหงิดและก้าวร้าว
- นิสัยการนอนเปลี่ยนไป
- เดินทางอย่างไร้จุดมุ่งหมาย
- สูญเสียการยับยั้งชั่งใจ
- มีอาการหลงผิด เช่น เชื่อว่าถูกขโมยของไป
โดยส่วนมาก ผู้ป่วยมักสูญเสียทักษะสำคัญในการดำเนินชีวิตในระยะท้าย ๆ ของโรค เช่น ความสามารถในการอ่าน การเต้น การร้องเพลง ความสนุกสนานกับเพลงเก่า การมีส่วนร่วมในงานประดิษฐ์หรืองานอดิเรก การเล่าเรื่อง การระลึกถึงอดีต
สาเหตุ
สาเหตุของอัลไซเมอร์
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า โดยส่วนใหญ่แล้ว อัลไซเมอร์เกิดจากปัจจัยร่วมระหว่างพันธุกรรม รูปแบบการใช้ชีวิต และสิ่งแวดล้อมซึ่งส่งผลต่อสมอง โดยมีโอกาสน้อยกว่าร้อยละ 5 ที่อัลไซเมอร์จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม
แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของอัลไซเมอร์ แต่โรคนี้ก็ส่งผลต่อสมองอย่างชัดเจน อัลไซเมอร์ทำให้เซลล์สมองเสียหายและตายลง เซลล์สมองน้อยลง และมีการสื่อสารระหว่างเซลล์สมองน้อยกว่าคนปกติ จนทำให้เกิดอาการที่กล่าวข้างต้น
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของอัลไซเมอร์
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ เช่น
- อายุ อายุที่มากขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงที่พบมากที่สุดของโรคอัลไซเมอร์ โดยผู้มีความเสี่ยงสูงสุด คือ ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ในบางกรณีซึ่งพบได้น้อย คือ ผู้ที่มีปัจจัยทางพันธุกรรมซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดโรคอัลไซเมอร์ อาจเริ่มมีอาการได้ในช่วงอายุ 30 ปี
- ประวัติครอบครัวและพันธุกรรม ความเสี่ยงในการเป็นอัลไซเมอร์อาจสูงขึ้นหากมีพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นอัลไซเมอร์ กลไกทางพันธุกรรมส่วนใหญ่ของโรคอัลไซเมอร์ในครอบครัวยังคงไม่สามารถอธิบายได้
- กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม ผู้ป่วยจำนวนมากในกลุ่มอาการนี้มีความเสี่ยงในการเกิดอัลไซเมอร์สูงกว่าคนปกติ และมีแนวโน้มเกิดอัลไซเมอร์ได้เร็วมากกว่าคนปกติ 10-20 ปี
- เพศ ผู้หญิงเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์มากกว่าผู้ชาย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้หญิงอายุยืนกว่าผู้ชาย
- ความบกพร่องทางการรับรู้ที่ไม่รุนแรง ผู้ที่มีภาวะนี้จะมีปัญหาเกี่ยวกับความทรงจำหรือมีความสามารถในการรับรู้ต่ำกว่ามาตรฐานในแต่ละช่วงวัย แต่อาจไม่รุนแรงถึงระดับที่สามารถวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อม
- อุบัติเหตุทางสมองในอดีต ผู้ที่เคยได้รับอุบัติเหตุทางสมองอย่างรุนแรงอาจยิ่งเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์
- รูปแบบการใช้ชีวิตและสุขภาพของหัวใจ ไม่มีปัจจัยเกี่ยวกับสุขภาพที่แสดงให้เห็นอย่างแน่ชัดว่าสามารถลดความเสี่ยงของอัลไซเมอร์ได้ อย่างไรก็ดี มีหลักฐานบางประการแสดงให้เห็นว่าปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจเหล่านี้ สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นอัลไซเมอร์ได้เช่นกัน
- การขาดการออกกำลังกาย
- โรคอ้วน
- การสูบบุหรี่หรือการสัมผัสควันบุหรี่
- ความดันโลหิตสูง
- ระดับคอเรสเตอรอลในเลือดสูง
- โรคเบาหวานประเภท 2 ที่ขาดการควบคุม
- การรับประทานผักและผลไม้ไม่เพียงพอ
- การเรียนรู้ตลอดชีวิตและการเข้าสังคม การศึกษาพบว่า การทำกิจกรรมที่กระตุ้นการทำงานของสมอง และการเข้าสังคม สามารถช่วยลดเสี่ยงในการเกิดอัลไซเมอร์ได้ นอกจากนี้ ในบางรายงานยังระบุว่า ผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษา มีความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์มากกว่า
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยอัลไซเมอร์
ปัจจุบันนี้ ไม่มีการทดสอบเฉพาะที่สามารถยืนยันการเกิดอัลไซเมอร์ได้ คุณหมอจะตัดสินว่าอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของโรคอัลไซเมอร์หรือไม่ โดยอาศัยข้อมูลที่ผู้ป่วยแจ้ง รวมทั้งผลการทดสอบต่าง ๆ ที่ช่วยในการวินิจฉัย
การวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างแม่นยำจะสามารถกระทำได้หลังจากผู้ป่วยเสียชีวิตเท่านั้น โดยใช้การตรวจสมองด้วยกล้องจุลทรรศน์ หากผู้ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ จะเห็นว่ามีคราบพลัคและแทงเกิลในสมองที่เป็นสาเหตุของโรค
เพื่อเป็นการแยกแยะโรคอัลไซเมอร์ออกจากจากโรคที่เกี่ยวกับการสูญเสียความทรงจำอื่น ๆ ในปัจจุบัน คุณหมอมักใช้การทดสอบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
การตรวจสุขภาพและประสาท
คุณหมอจะตรวจร่างกายและตรวจสุขภาพทางประสาทโดยรวม ผ่านการทดสอบดังต่อไปนี้
- ปฏิกิริยาตอบสนองฉับพลัน
- ความตึงตัวและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
- ความสามารถในการลุกจากเก้าอี้และเดิน
- ประสาทสัมผัสการมองเห็นและการได้ยิน
- การประสานงานของอวัยวะในรางกาย
- สมดุลของร่างกาย
การทดสอบในห้องปฏิบัติการ
การทดสอบเลือดอาจช่วยให้คุณหมอหาสาเหตุอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ของการสูญเสียความทรงจำและความสับสน เช่น ความผิดปกติเกี่ยวกับไทรอยด์ ภาวะขาดวิตามิน
สภาวะทางจิตและการทดสอบทางกายประสาท (Mental status and neuropsychological testing)
แพทย์อาจทดสอบสภาวะทางจิตแบบสั้น ๆ เพื่อประเมินความทรงจำและทักษะการคิดอื่น ๆ ทั้งยังอาจแนะนำการประเมินที่ครอบคลุมกระบวนการคิดและความทรงจำมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การทดสอบทางกายประสาทซึ่งใช้เวลามากกว่าอาจให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานของสมองเมื่อเปรียบเทียบกับผู้อื่นที่มีอายุและระดับการศึกษาใกล้เคียงกัน
การตรวจโดยใช้ภาพถ่ายสมอง
ในปัจจุบัน มีการใช้ภาพถ่ายสมองเป็นหลักเพื่อระบุความผิดปกติที่ไม่สัมพันธ์กับอัลไซเมอร์ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง อุบัติเหตุ เนื้องอก ซึ่งอาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการรับรู้ได้ ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ขณะนี้มีเทคโนโลยีที่ช่วยในการถ่ายภาพสมอง จึงช่วยให้คุณหมอสามารถตรวจพบความเปลี่ยนแปลงในสมองที่เกิดจากอัลไซเมอร์ได้ โดยนิยมใช้ในศูนย์การแพทย์ขนาดใหญ่หรือในการทดลองใช้ในการรักษา เทคโนโลยีการถ่ายภาพสมองดังกล่าว ได้แก่ การตรวจด้วยเอ็มอาร์ไอ (MRI) ซีทีสแกรน (CT scan) และเพ็ทสแกน (PET scan)
การรักษาอัลไซเมอร์
ยารักษาอัลไซเมอร์ในปัจจุบันสามารถช่วยบรรเทาอาการได้ในช่วงเวลาหนึ่ง โดยมียาสองชนิดหลักที่ใช้รักษาอาการต่าง ๆ เกียวกับการรับรู้ ได้แก่
- ยากลุ่มแอนติโคลีนเอสเทอเรส (Cholinesterase inhibitors) เช่น ยาโดนเพซิล (donepezil) ยาแกแลนตาไมน์ (galantamine) ยาไรวาสติกมีน (rivastigmine) ออกฤทธิ์โดยการกระตุ้นการสื่อสารระหว่างเซลล์ในระดับต่าง ๆ โดยการสร้างสารสื่อประสาทที่ถูกทำลายไป แต่อาจช่วยให้อาการดีขึ้นเล็กน้อย ยากลุ่มนี้ยังสามารถบรรเทาอาการทางจิตประสาท เช่น ภาวะกายใจไม่สงบหรือภาวะซึมเศร้า อาการข้างเคียงหลักของยาเหล่านี้ ได้แก่ ท้องร่วง คลื่นไส้ เบื่ออาหาร และนอนไม่หลับ ในผู้ที่มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการนำคลื่นไฟฟ้าของหัวใจอาจมีอาการรุนแรง ได้แก่ ภาวะหัวใจเต้นช้า และภาวะหัวใจขัด
- ยาเมแมนทีน (Memantine) ออกฤทธิ์ในการเชื่อมต่อการสื่อสารในเซลล์สมองและชะลอการดำเนินโรคในระดับปานกลางถึงรุนแรง ในบางครั้ง อาจใช้ยาประเภทนี้ร่วมกับยากลุ่มแอนติโคลีนเอสเทอเรส แต่อาจเกิดผลข้างเคียงได้แก่ ท้องผูก เวียนศีรษะ และปวดศีรษะ
ในบางครั้ง อาจมีการใช้ยาประเภทอื่น เช่น ยารักษาภาวะซึมเศร้าเพื่อช่วยควบคุมอาการทางพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอัลไซเมอร์ แต่ยาบางประเภทก็ควรใช้อย่างระมัดระวัง อย่างยานอนหลับบางประเภท เช่น ยาโซลพิเดม (zolpidem) ยาเอสโซพิโคลน (eszopiclone) เพราะอาจทำให้เกิดอาการมึนงงและความเสี่ยงในการหกล้ม
ยารักษาความกังวล (Anti-anxiety medications) ได้แก่ ยาโคลนาซีแพม (clonazepam) และยาลอราซีแพม (lorazepam) จะเพิ่มความเสี่ยงในการหกล้ม มึนงง และเวียนศีรษะ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาประเภทใหม่เสมอ
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อรับมืออัลไซเมอร์
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลรักษาตัวเองดังต่อไปนี้ อาจช่วยให้รับมือกับโรคอัลไซเมอร์ได้
สร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้ออำนวย
- เก็บลูกกุญแจ กระเป๋าสตางค์ โทรศัพท์มือถือ และของมีค่าอื่น ๆ ไว้ในที่เดียวกันเพื่อไม่ให้สูญหาย
- ปรึกษาแพทย์ว่าสามารถลดความถี่ในการใช้ยาเป็นวันละหนึ่งครั้งได้หรือไม่ รวมทั้งเปลี่ยนวิธีการชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นแบบการชำระอัตโนมัติหรือการฝากเงินอัตโนมัติ
- สร้างนิสัยการพกพาโทรศัพท์มือถือที่สามารถระบุตำแหน่งได้ เพื่อให้คนอื่นสามารถติดตามตำแหน่งได้ทางโทรศัพท์ ในกรณีที่เกิดหลงทางหรือสับสน นอกจากนี้ ควรบันทึกหมายเลขสำคัญไว้ในโทรศัพท์เพื่อให้สามารถใช้งานได้ทันทีเมื่อถึงเวลา
- จัดการนัดหมายประจำไว้ในวันเดียวกันในเวลาเดียวกันให้มากที่สุด
- ใช้ปฏิทินหรือกระดานไวท์บอร์ดในบ้านเพื่อติดตามกิจกรรมประจำวัน รวมทั้งสร้างนิสัยในการตัดรายการที่ทำแล้วออกไป เพื่อให้สามารถมั่นใจได้ว่าทำอะไรเสร็จแล้วบ้าง
- นำเฟอร์นิเจอร์ส่วนเกิน สิ่งของรกรุงรัง และพรมเช็ดเท้าออกไป
- ติดตั้งราวจับที่แข็งแรงบริเวณบันไดหรือในห้องน้ำ
- สวมใส่รองเท้าและรองเท้าแตะที่รู้สึกสบายและกระชับเท้าได้ดี
- ลดจำนวนกระจกเงาในบ้านลง เนื่องจากผู้ป่วยอัลไซเมอร์อาจพบว่าภาพในกระจกเงาสับสนหรือน่ากลัว
- เก็บรักษาภาพถ่ายหรือวัตถุที่มีความหมายอื่น ๆ ไว้รอบบ้าน
การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นส่วนสำคัญของการเสริมสร้างสุขภาพดีของทุกคน โดยเฉพาะผู้ป่วยอัลไซเมอร์ กิจกรรมที่แนะนำ คือการเดินเป็นประจำทุกวัน ซึ่งจะช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น และรักษาสุขภาพของข้อต่อ กล้ามเนื้อ และหัวใจได้
นอกจากนี้ การออกกำลังกายยังทำให้นอนหลับเต็มอิ่ม และช่วยป้องกันการท้องผูกด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ควรพกบัตรประจำตัวประชาชน หรือสวมใส่สายรัดข้อมือเพื่อสุขภาพ หากเดินโดยไม่มีผู้ติดตามไปด้วย
ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่เดินลำบากสามารถใช้งานจักรยานปั่นอยู่กับที่ หรือออกกำลังกายบนเก้าอี้ได้
โภชนาการ
ผู้ป่วยอัลไซเมอร์อาจลืมรับประทานอาหาร ไม่เตรียมอาหาร หรือไม่ได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างหลากหลาย และอาจลืมดื่มน้ำอย่างเพียงพอ ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและท้องผูกได้ จึงควรจัดเตรียมสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้เพื่อรักษาสมดุลทางโภชนาการแก่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์
- เครื่องดื่มเชคหรือสมูทตี้แคลอรี่สูงและมีประโยชน์ โดยสามารถเสริมด้วยผงโปรตีนที่หาซื้อได้ทั่วไป หรือใช้เครื่องผสมในเครื่องดื่มต่าง ๆ ตามชอบ
- น้ำ น้ำผลไม้ และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพอื่น ๆ พยายามให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ดื่มน้ำวันละหลาย ๆ แก้ว และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะอาจทำให้นอนไม่หลับและกระตุ้นให้ปัสสาวะบ่อย
[embed-health-tool-bmi]