ไมเกรน อาการ อาจสังเกตได้จากอาการปวดศีรษะข้างเดียว ที่อาจรู้สึกเหมือนมีอะไรเต้นตุบ ๆ อยู่ด้านในศีรษะ และอาจมีอาการปวดรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนรบกวนการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นจึงควรศึกษาวิธีรักษาและการป้องกันอาการไมเกรน หรือเข้าพบคุณหมอหากสังเกตว่าไมเกรนมีอาการรุนแรงมากผิดปกติเพื่อหาวิธีการรักษาอย่างเหมาะสม
[embed-health-tool-bmi]
ไมเกรน คืออะไร
ไมเกรน คือ อาการปวดศีรษะด้านใดด้านหนึ่งหรืออาจเป็นทั้ง 2 ด้าน ในระดับปานกลางไปจนถึงรุนแรง และอาจมีอาการนานกว่า 1 ชั่วโมง ซึ่งรบกวนการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน สาเหตุของไมเกรนยังไม่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากความไม่สมดุลของสารเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารเคมีในสมองที่มีบทบาทในการควบคุมการทำงานของสมองและระบบประสาท และช่วยควบคุมความรู้สึกเจ็บปวด หากระดับเซโรโทนินเพิ่มมากเกินไปอาจทำให้หลอดเลือดหดตัว และส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงสมองได้น้อยลง และเมื่อระดับเซโรโทนินต่ำลงก็อาจทำให้หลอดเลือดขยายและกดทับบริเวณปลายประสาท นำไปสู่อาการไมเกรน
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ทำให้ไมเกรน มีอาการกำเริบ ดังนี้
- ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง โดยเฉพาะในช่วงก่อนเป็นประจำเดือน ระหว่างเป็นประจำเดือน วัยหมดประจำเดือน และตั้งครรภ์
- ความเครียดและการนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ
- สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- การออกกำลังกายหนักเกินไป
- ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยาขยายหลอดเลือด
ไมเกรน อาการ มีอะไรบ้าง
ไมเกรน อาการอาจแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้
1. ระยะก่อนเป็นไมเกรน (Prodrome)
- รู้สึกอยากอาหารมากขึ้น
- กระหายน้ำ
- ปัสสาวะบ่อย
- เหนื่อยล้า
- อารมณ์เปลี่ยนแปลง
- สมาธิสั้น
- ท้องอืด ท้องผูก หรือท้องเสีย
2. ระยะอาการเตือน (Aura)
- การมองเห็นเปลี่ยนแปลง เช่น ตาไวต่อแสง มองเห็นเป็นภาพซ้อน เห็นจุดสีดำ และอาจสูญเสียการมองเห็นชั่วคราว
- พูดไม่ชัด
- รู้สึกชาที่ใบหน้า
- แขนและขาอ่อนแรง
- ประสาทสัมผัสด้านการรับกลิ่นและการรับรสชาติเปลี่ยนแปลง
3. ระยะปวดศีรษะ (Headache)
- ปวดศีรษะตุบ ๆ ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง
- ไวต่อแสง เสียง และกลิ่น
- คลื่นไส้ อาเจียน
4. ระยะหลังจากปวดศีรษะ (Postdrome)
- อ่อนเพลีย
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- มีความอยากอาหารเพิ่มขึ้นหรือเบื่ออาหาร
- รู้สึกปวดศีรษะหากหันศีรษะกะทันหัน
หากมีอาการปวดศีรษะกะทันหัน มีไข้ สายตาพร่ามัว รู้สึกมึนงง และร่างกายอ่อนแรง ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง
ไมเกรน อาการ รักษาได้อย่างไร
ไมเกรน อาการอาจรักษาได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
ยาบรรเทาอาการปวดไมเกรน
- ยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดไมเกรนเล็กน้อย เพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะ
- ยากลุ่มทริปแทน (Triptans) เช่น ซูมาทริปแทน (Sumatriptan) ริซาทริปแทน (Rizatriptan) ใช้เพื่อรักษาอาการปวดไมเกรน โดยต้องได้รับการอนุญาตจากคุณหมอและไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจวาย
- ยาไดไฮโดรเออร์โกตามีน (Dihydroergotamine) เป็นยาบรรเทาอาการปวดไมเกรนในรูปแบบสเปรย์พ่นจมูก ซึ่งอาจมีประสิทธิภาพในการรักษาดีที่สุดเมื่อใช้หลังจากมีอาการไมเกรนได้ไม่นาน และไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคไต และโรคตับ
- ยาลาสมิดิตัน (Lasmiditan) คือ ยารูปแบบรับประทานที่ช่วยลดอาการปวดศีรษะ แต่อาจส่งผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ หากรับประทานยานี้ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ
- ยายูโบรจีแพนท์ (Ubrogepant) เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการไมเกรนเฉียบพลัน ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดไมเกรนและอาการอื่น ๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน แต่อาจส่งผลข้างเคียง ได้แก่ ปากแห้ง รู้สึกง่วงนอน
- ยาโอปิออยด์ (Opioids) ใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดไมเกรนในระดับปานกลางถึงรุนแรง โดยคุณหมออาจอนุญาตให้ใช้ต่อเมื่อผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาอาการปวดไมเกรนด้วยวิธีอื่น ๆ เนื่องจากยานี้อาจทำให้เกิดการเสพติด
- ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้ เช่น คลอร์โปรมาซีน (Chlorpromazine) เมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) โปรคลอเปอราซีน (Prochlorperazine) ใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้และอาเจียนจากอาการปวดไมเกรน มักใช้ควบคู่กับยาแก้ปวด
ยาป้องกันอาการไมเกรน
- ยาลดความดันโลหิต เช่น โพรพราโนลอล (Propranolol) เมโทโพรลอล ทาร์เทรต (Metoprolol tartrate) ที่อาจช่วยป้องกันอาการปวดไมเกรนและลดอาการไมเกรนอื่น ๆ ในระยะอาการเตือน
- ยากล่อมประสาท อาจช่วยป้องกันอาการไมเกรน แต่อาจส่งผลให้ง่วงนอน ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานพาหนะ หรือทำงานใกล้กับเครื่องจักร เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
- ยากันชัก เช่น วาลโปรเอท (Valproate) โทพิราเมท (Topiramate) เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการไมเกรนไม่บ่อยนัก แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการวิงเวียนศีรษะ น้ำหนักเพิ่มหรือลงกะทันหัน คลื่นไส้ อาเจียน และไม่แนะนำให้ใช้ในสตรีตั้งครรภ์หรือกำลังวางแผนตั้งครรภ์
การป้องกันไมเกรน
การป้องกันไมเกรน อาจทำได้ดังนี้
- ลดความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง เดินเล่น
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง
- ดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้ว/วัน
- ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วัน/สัปดาห์
- หลีกเลี่ยงการอดอาหาร
- เลิกสูบบุหรี่ และลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- ตรวจสุขภาพประจำปี