โรคเบาหวานกับการนอนหลับ อาจมีความเกี่ยวของกัน เนื่องจาก โรคเบาหวานอาจส่งผลกระทบต่อการนอน ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือผู้อยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคเบาหวานมีปัญหานอนไม่หลับ นอนไม่เพียงพอ หรือนอนหลับมากเกินไป รวมทั้งยังอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนอนหลับผิดปกติชนิดต่าง ๆ ได้อีกด้วย
โรคเบาหวานกับการนอนหลับ เกี่ยวข้องกันอย่างไร
หากระดับน้ำตาลกูลโคสมากขึ้น อาจรู้สึกกระหายน้ำและต้องตื่นมาดื่มน้ำกลางดึก นอกจานี้ก เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง อาจส่งผลให้ไตทำงานหนักจนทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้นในตอนกลางคืน ซึ่งการไปเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ อาจทำให้นอนหลับไม่สนิท ปวดศีรษะ และอ่อนเพลีย ในทางตรงกันข้าม การไม่รับประทานอาหารเป็นเวลาหลายชั่วโมงหรือการใช้ยารักษาโรคเบาหวานที่ผิดวิธี อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำในเวลากลางคืน ซึ่งอาจทำให้ฝันร้าย เหงื่อออก รู้สึกหงุดหงิดหรือสับสนเมื่อตื่นนอน
จากการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Sleep Research พ.ศ. 2564 ศึกษาเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างการรบกวนการนอนหลับกับโรคเบาหวาน เพื่อตรวจสอบว่าเบาหวานสามารถการรบกวนการนอนหลับ ทำให้นอนหลับยาก นอนไม่หลับ หรือนอนหลับมากเกินไปได้หรือไม่ พบว่า โรคเบาหวานกับการนอนหลับนั้นเกี่ยวข้องกันอย่างชัดเจน และการนอนหลับไม่เพียงพออาจเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน และอาจเป็นปัจจัยที่สามารถควบคุมได้
ภาวะนอนหลับผิดปกติกับโรคเบาหวาน
ภาวะนอนหลับผิดปกติเหล่านี้ อาจส่งผลกระทบกับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานได้มากกว่าคนปกติ
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นหนึ่งในอาการนอนหลับผิดปกติที่พบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน ร่างกายจะหยุดหายใจและเริ่มหายใจใหม่ซ้ำ ๆ ตลอดคืน ซึ่งภาวะหยุดหายใจขณะหลับพบมากในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เพราะมักมีน้ำหนักเกิน จึงส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ หากพบว่าตัวเองรู้สึกเหนื่อยล้าระหว่างวัน และนอนกรนตอนกลางคืน อาจเป็นสัญญาณของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ดังนั้นจึงควรรักษาสุขภาพ โดยเริ่มต้นจากการลดน้ำหนัก ให้น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ
กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข
กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless leg syndrome หรือ RLS) คือ อาการขากระตุกเป็นพัก ๆ ที่มักเกิดขึ้นตลอดทั้งคืนจนทำให้นอนไม่หลับ กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุขเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก แต่ปัญหาสุขภาพบางประการ เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ปัญหาโรคไต ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ ก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของกลุ่มอาการนี้เช่นกัน
หากมีความเสี่ยงในการเกิดกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข ควรปรึกษาคุณหมอ และหากสูบบุหรี่ ก็ควรเลิกบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่อาจกระตุ้นการเกิดกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุขได้
โรคนอนไม่หลับ
หากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือเครียดมาก ความเสี่ยงในการเกิดโรคนอนไม่หลับก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น การบรรเทาความเครียด เช่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ฟังเพลง อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคนอนไม่หลับได้ แต่ถ้านอนไม่หลับติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรปรึกษาคุณหมอ
วิธีที่อาจช่วยให้นอนหลับ
หากอยากนอนหลับพักผ่อนได้ดีขึ้น อาจลองใช้วิธีเหล่านี้
- หลีกเลี่ยงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การดูโทรทัศน์หรือเล่นโทรศัพท์มือถือก่อนนอน อาจรบกวนการนอนหลับ จึงควรเปลี่ยนไปทำกิจกรรมผ่อนคลายอื่น ๆ เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ และปิดอุปกรณ์มือถือขณะนอนหลับ เพื่อช่วยให้หลับสนิทยิ่งขึ้น
- กำจัดสิ่งรบกวน หากได้รับแจ้งเตือนข้อความกลางดึกบ่อย ๆ จนนอนไม่หลับหรือหลับ ๆ ตื่น ๆ ควรปิดโทรศัพท์ก่อนนอน หรือปิดโหมดการใช้งาน ลดการรบกวนจากเสียงโทรศัพท์หรือการแจ้งเตือนจากเสียงข้อความต่าง ๆ โดยใช้นาฬิกาปลุกแทนการตั้งปลุกในโทรศัพท์มือถือ
- เข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลา ควรเข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดียวกันทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นวันธรรมดาหรือวันหยุด เพื่อให้ร่างกายนอนหลับตรงเวลา และตื่นนอนด้วยตัวเองโดยไม่ต้องใช้นาฬิกาปลุก
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตื่นกลางดึก ควรงดดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหลังจาก 14.00 น. และงดการออกกำลังกายในตอนกลางคืน เพราะอาจกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ทำให้ตื่นตัว จนกระทบต่อการนอนหลับ
[embed-health-tool-bmi]