กล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดไมแอสทีเนีย กราวิส (Myasthenia Gravis) หรือที่มักเรียกสั้น ๆ ว่า โรคเอ็มจี (MG) เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองประเภทหนึ่ง
คำจำกัดความ
กล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี คืออะไร
โรค กล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดไมแอสทีเนีย กราวิส (Myasthenia Gravis) หรือที่มักเรียกสั้น ๆ ว่า โรคเอ็มจี (MG) เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง (autoimmune disease) ประเภทหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อร่วมประสาท (neuromuscular disorder)
โรค กล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี ทำให้กล้ามเนื้อในดวงตา ใบหน้า ลำคอ แขน และขาอ่อนแอและอ่อนแรงลง อาการอ่อนแอที่มากที่สุด มักเกิดขึ้นในช่วง 3 ปีแรก แล้วหลังจากนั้นจะอาการของโรค กล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี จะพัฒนาไปอย่างช้า ๆ
กล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี พบได้บ่อยแค่ไหน
ทุกคนสามารถเป็น กล้ามเนื้ออ่อนแรง เอ็มจีได้ อย่างไรก็ดี โรคนี้พบได้มากที่สุดในผู้หญิงก่อนช่วงอายุ 40 ปีและในผู้ชายหลังช่วงอายุ 50 ปี คุณสามารถลดโอกาสในการเกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจีได้ ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงของคุณโปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
อาการ
อาการของกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี
กล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจีส่งผลให้เกิดอาการที่หลากหลาย ได้แก่
- หายใจลำบาก เนื่องจากผนังกล้ามเนื้อหน้าอกอ่อนแรง
- เคี้ยวหรือกลืนลำบาก ส่งผลให้เกิดการขย้อน สำลัก หรือน้ำลายไหลบ่อย
- ขึ้นบันได ยกสิ่งของ หรือลุกจากท่านั่งได้ลำบาก
- พูดลำบาก
- ศีรษะทรุดต่ำ
- อัมพาตที่ใบหน้า หรือมีอาการอ่อนแรงที่กล้ามเนื้อใบหน้า
- อ่อนเพลีย
- เสียงแหบหรือเสียงเปลี่ยน
- การมองภาพซ้อน
- เพ่งมองสิ่งต่าง ๆ ได้ลำบาก
- หนังตาตก
สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการนอกเหนือจากที่ระบุไว้ข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ โปรดปรึกษาคุณหมอ
ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด
คุณควรไปพบคุณหมอ เมื่อมีอาการหายใจลำบากหรือมีอาการต่าง ๆ แย่ลง
ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ
สาเหตุ
สาเหตุของ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เอ็มจี
ในปัจจุบันนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ของโรค กล้ามเนื้ออ่อนแรง เอ็มจี อย่างไรก็ดี นักวิจัยสันนิษฐานว่า มีความสัมพันธ์กับโรคแพ้ภูมิตนเอง และการทำงานของต่อมไทมัส (ต่อมในระบบน้ำเหลือง มีหน้าที่ผลิตโปรเจนิเตอร์เซลล์ที่จะเจริญเติบโตไปเป็นทีเซลล์ ที่ร่างกายใช้เพื่อทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อหรือเซลล์มะเร็ง รวมถึงช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันเติบโตและทำงานได้อย่างเป็นปกติ)
นอกจากนี้ ปัจจัยทางพันธุกรรม ก็เป็นสาเหตุของกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจีได้เช่นกัน
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี
มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการสำหรับการเกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรง ได้แก่
- มีต่อมไทมัส
- มีโรคติดเชื้อ
- อยู่ในระหว่างการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด และความดันโลหิตสูง
- บิดาหรือมารดาเป็น กล้ามเนื้ออ่อนแรง
การไม่มีปัจจัยเสี่ยงไม่ได้หมายความว่า คุณจะไม่มีโอกาสเป็นโรคนี้ ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้เป็นข้อมูลอ้างอิงเท่านั้น คุณควรปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี
สำหรับการวิจิยฉัยโรค กล้ามเนื้ออ่อนแรง แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ด้วยการตรวจปฏิกิริยาตอบกลับของร่างกายโดยอัตโนมัติ (Reflex) และความอ่อนแอของกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ ยังอาจตรวจด้วยวิธีการตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ การทดสอบแรงดึง การตรวจเลือด และการตรวจเอกซเรย์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (CT scan) ได้อีกด้วย
การรักษากล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี
ยังไม่มีการรักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจีโดยเฉพาะ การรักษาในปัจจุบันเป็นการรักษาตามอาการ ที่อาจช่วยบรรเทาอาการได้บ้าง หรือช่วยให้คุณมีช่วงเวลาที่ไม่มีอาการใดๆ (ระยะโรคทุเลา)
ยาที่แพทย์สั่ง ได้แก่ ยานีโอสติกมีนไพริโดสติกมีน (neostigmine pyridostigmine) ยาเพรดนิโซน (prednisone) ยาอะเซทิไทโอพรีน (azathioprine) ยาไซโคลสปอรีน (cyclosporine) ยาไมโคฟีโนเลตโมเฟทิล (mycophenolate mofetil)
หากปัญหา กล้ามเนื้ออ่อนแรง ส่งผลให้เกิดภาวะหายใจลำบาก คุณอาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งคุณอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
วิธีการรักษาอื่น ได้แก่
- การทำความสะอาดเลือด ส่วนที่ใสของเลือด (พลาสมา) ที่มีแอนติบอดี้จะถูกสกัดออกไป และจะถูกแทนที่ด้วยพลาสมาที่ได้รับบริจาคมา ที่ไม่มีแอนติบอดี้หรือของเหลวอื่น ๆ
- การใช้อิมมิวโนโกลบูลินเข้าเส้นเลือด เป็นการให้แอนติบอดี้ที่มีประโยชน์ในปริมาณมากผ่านทางกระแสเลือดโดยตรง
หากมีเนื้องอกที่เกิดจากภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี คุณหมอจะทำการผ่าตัดเพื่อนำต่อมไทมัสออก หากคุณมีอาการเกี่ยวกับดวงตา แพทย์อาจแนะนำให้ใช้เลนส์ปริซึม เพื่อช่วยให้การมองเห็นดีขึ้น หรืออาจมีการแนะนำการผ่าตัด เพื่อรักษากล้ามเนื้อดวงตาอีกด้วย
นอกจากนี้ การทำกายภาพบำบัด สามารถช่วยคงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจ
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่ช่วยรับมือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองดังต่อไปนี้ จะช่วยให้คุณรับมือกับกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจีได้
- เข้ารับการตรวจซ้ำอย่างตรงเวลา เพื่อเฝ้าระวังการลุกลามของโรคและอาการทางร่างกาย
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ
- พยายามหาสมดุลระหว่างการพักผ่อนและการออกกำลังกาย เพื่อป้องกันกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- เข้ารับกายภาพบำบัด เพื่อรักษา กล้ามเนื้ออ่อนแรง ให้ดีขึ้น
- สำหรับภาวะมองเห็นภาพซ้อนและมองเห็นไม่ชัดเจน คุณควรไปพบจักษุแพทย์และห้ามขับรถหรือใช้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่
- หากมีอาการกลืนลำบาก ให้ลองรับประทานอาหารนิ่ม ๆ เช่น ข้าวต้ม ซุป หรืออาหารที่มีความเข้มข้นแตกต่างกัน แล้วเลือกประเภทอาหารที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณ
- พยายามอย่าเครียด
- ห้ามสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงฝุ่นละออง
หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
[embed-health-tool-bmi]