ข้อมูลพื้นฐาน
การตรวจโกรทฮอร์โมน คืออะไร
การตรวจโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone Test) เป็นการตรวจวัดปริมาณโกรทฮอร์โมน (GH) ในเลือดของมนุษย์ โกรทฮอร์โมนถูกสร้างขึ้นจากต่อมใต้สมอง ซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ทั้งยังมีบทบาทสำคัญต่อระบบเผาผลาญของร่างกายด้วย การออกกำลังกาย การนอน ความตึงเครียดทางอารมณ์ และอาหาร สามารถทำให้ปริมาณโกรทฮอร์โมนในเลือดเปลี่ยนแปลงได้ในระหว่างวัน
โกรทฮอร์โมนปริมาณมากเกินไปในวัยเด็กจะทำให้เด็กเจริญเติบโตมากกว่าปกติ (Gigantism) ในขณะที่โกรทฮอร์โมนปริมาณน้อยเกินไปในวัยเด็กจะทำให้เด็กเจริญเติบโตน้อยกว่าปกติ (Dwarfism) แต่ภาวะทั้งสองประการนี้สามารถรักษาได้หากตรวจพบแต่เนิ่นๆ
ในผู้ใหญ่นั้น โกรทฮอร์โมนในปริมาณมากเกินไปเกิดจากมีเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็งบริเวณต่อมใต้สมอง ซึ่งส่งผลให้กระดูกใบหน้า ขากรรไกร มือ และเท้า มีขนาดใหญ่กว่าปกติ (Acromegaly)
โกรทฮอร์โมนทำให้เกิดการปลดปล่อยสารอื่นๆ ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและระบบเผาผลาญของร่างกาย หนึ่งในสารเหล่านี้ คือ ตัวกระตุ้นการเจริญเติบโตที่มีโครงสร้างคล้ายอินซูลิน (Insulin-like growth factor 1 หรือ IGF-1) เมื่อระดับโกรทฮอร์โมนมีค่าสูงมาก ระดับ IGF-1 ก็จะสูงมากด้วยเช่นกัน โดยอาจมีการตรวจหา IGF-1 ร่วมด้วยเพื่อยืนยันระดับโกรทฮอร์โมนที่สูงขึ้น
ความจำเป็นในการ ตรวจโกรทฮอร์โมน
การตรวจโกรทฮอร์โมนมักทำในเด็กที่มีสิ่งบ่งชี้และอาการของภาวะขาดโกรทฮอร์โมน (growth hormone deficiency (GHD) เช่น
- อัตราการเจริญเติบโตที่ช้าลงในวัยเด็กตอนต้น
- ความสูงน้อยกว่าเด็กคนอื่นในวัยเดียวกัน
- เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ช้ากว่าปกติ
- การเจริญเติบโตของกระดูกช้า โดยสามารถะระบุได้จากการเอ็กซเรย์
การตรวจโกรทฮอร์โมนอาจจำเป็นสำหรับผู้ใหญ่เมื่อมีสิ่งบ่งชี้และอาการของภาวะขาดโกรทฮอร์โมน ภาวะต่อมใต้สมองทำงานต่ำ เช่น
- ความหนาแน่นของกระดูกลดลง
- อ่อนเพลีย
- การเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันที่เป็นอันตราย เช่น คอเลสเตอรอลสูง
- ความอึดในการออกกำลังกายน้อยลง
ข้อควรรู้ก่อนตรวจ
ข้อควรรู้ก่อนเข้ารับก่อน ตรวจโกรทฮอร์โมน
เนื่องจากโกรทฮอร์โมนถูกปล่อยจากต่อมใต้สมองในปริมาณมาก การวัดระดับโกรทฮอร์โมนโดยการเก็บตัวอย่างแบบการสุ่มมักไม่มีประโยชน์มากนัก เพราะอาจมีการทับซ้อนกันระหว่างผลการตรวจที่ผิดปกติและการแปรผันประจำวันตามปกติ โดยปกติแล้ว ระดับโกรทฮอร์โมนมักจะสูงขึ้นในช่วงเช้า ช่วงออกกำลังกาย หรือช่วงที่เครียด
ปัจจัยที่มีผลต่อการตรวจโกรทฮอร์โมน ได้แก่
- ยาที่สามารถเพิ่มโกรทฮอร์โมน เช่น ยาแอมเฟตามีน (amphetamines) ยาอาร์จีนีน (arginine) ยาโดพามีน (dopamine) ยาเอสโตรเจน (estrogens) ยากลูคากอน (glucagon) ยาฮิสตามีน (histamine) อินซูลิน (insulin) ยาเลโวโดพา (levodopa) ยาเมทิลโดพา (methyldopa) กรดไนโคตินิค (nicotinic acid)
- ยาที่สามารถลดโกรทฮอร์โมน เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroids) ฟีโนไทอาซีน (phenothiazines)
ส่วนใหญ่ คนที่มีความสูงน้อยมักไม่ได้เกิดจากภาวะพร่องโกรทฮอร์โมน (GH deficiencies) แต่สัมพันธ์กับลักษณะสืบสายพันธุ์ของครอบครัว โรค ภาวะต่างๆ และอาการผิดปกติทางพันธุกรรมอื่นๆ
ขั้นตอนการตรวจ
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจโกรทฮอร์โมน
การตรวจโกรทฮอร์โมนมีอยู่หลายรูปแบบ การเตรียมตัวและขั้นตอนในการตรวจนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของการตรวจ คุณจึงควรสอบถามข้อมูลจากแพทย์ เพื่อจะได้เตรียมตัวได้อย่างถูกต้อง แต่โดยทั่วไปแล้ว ก่อนเข้ารับการตรวจโกรทฮอร์โมน แพทย์อาจให้คุณปฏิบัติดังต่อไปนี้
- งดอาหารก่อนตรวจ (ระยะเวลาขึ้นอยู่กับแพทย์กำหนด)
- หยุดกินอาหารเสริมวิตามินบี 7 หรือไบโอติน อย่างน้อย 12 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ
- หยุดกินยาตามแพทย์สั่งบางชนิดเป็นเวลา 2-3 วันก่อนเข้ารับการตรวจ เพราะยาอาจทำให้ผลการตรวจออกมาไม่ตรงได้
ขั้นตอนการตรวจโกรทฮอร์โมน
เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ทำการเจาะเลือดจะดำเนินการต่อไปนี้
- รัดยางรอบต้นแขนเพื่อหยุดการไหลเวียนของเลือด หลอดเลือดด้านล่างยางรัดจะขยายตัวขึ้น ทำให้เจาะหลอดเลือดได้ง่ายขึ้น
- ทำความสำอาดบริเวณที่เจาะเลือดด้วยแอลกอฮอล์
- เจาะเข็มเข้าไปในหลอดเลือด อาจจำเป็นต้องเจาะมากกว่าหนึ่งครั้ง
- ติดหลอดบรรจุเลือดเข้ากับเข็มเจาะเลือด
- นำยางรัดออกจากแขนเมื่อเก็บเลือดเพียงพอแล้ว
- วางผ้าก๊อซหรือก้อนสำลีไว้บนบริเวณที่เจาะเลือดในขณะที่ดึงเข็มออก
- กดบริเวณที่เจาะเลือดแล้วปิดด้วยผ้าพันแผล
หากแพทย์พบว่าระดับโกรทฮอร์โมนของคุณอาจผิดปกติ แพทย์อาจแนะนำให้มีการตรวจเพิ่มเติม เช่น
- การตรวจตัวกระตุ้นการเจริญเติบโตที่มีโครงสร้างคล้ายอินซูลิน (Insulin-like growth factor 1 test)
- การทดสอบการหยุดยั้งโกรทฮอร์โมน (Growth hormone suppression test)
- การทดสอบด้วยการกระตุ้นโกรทฮอร์โมน (Growth hormone stimulation test)
หลังการตรวจโกรทฮอร์โมน
การรัดยางที่ต้นแขนอาจแน่นมาก จนคุณอาจรู้สึกเจ็บแขนได้บ้าง แต่คุณอาจไม่รู้สึกใดๆ จากเข็มเจาะ หรือคุณอาจรู้สึกได้ถึงการเจาะหรือการบิดอย่างรวดเร็ว
หากคุณมีคำถามใดๆ เกี่ยวกับการตรวจโกรทฮอร์โมน โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจคำแนะนำสำหรับคุณได้ดีขึ้น
ผลการตรวจ
ผลการตรวจโกรทฮอร์โมน
ค่าปกติ
ค่าปกติที่ระบุไว้ ณ ที่นี้ ซึ่งเรียกว่า ค่าอ้างอิง (reference range) เป็นเพียงแนวทางเท่านั้น ค่าเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปตามห้องปฏิบัติการ และห้องปฏิบัติการของคุณอาจมีค่าปกติที่แตกต่างออกไป รายงานจากห้องปฏิบัติการควรมีช่วงค่าที่ห้องปฏิบัติการของคุณใช้
นอกจากนี้ แพทย์จะประเมินผลการตรวจของคุณโดยยึดตามสุขภาพของคุณและปัจจัยอื่นๆ นั่นหมายความว่า ค่าที่อยู่นอกเหนือจากค่าปกติที่ระบุไว้ ณ ที่นี้ อาจยังคงเป็นค่าปกติสำหรับคุณและห้องปฏิบัติการของคุณ
ค่าปกติของโกรทฮอร์โมน
- ผู้ชาย : น้อยกว่า 5 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร (ng/mL) (น้อยกว่า226 พิโกโมลต่อลิตร [pmol/L])
- ผู้หญิง : น้อยกว่า 10 ng/mL (น้อยกว่า 452 pmol/L)
- เด็ก : น้อยกว่า 20 ng/mL (น้อยกว่า 904 pmol/L)
ค่าโกรทฮอร์โมนสูง
ค่าโกรทฮอร์โมนสูงสามารถบ่งบอกถึงสภาพร่างยักษ์ (gigantism) หรือสภาพโตเกินไม่สมส่วน (acromegaly) ได้ภาวะเหล่านี้เกิดจากก้อนเนื้อที่ไม่ใช่มะเร็งในต่อมใต้สมอง (adenoma) ซึ่งทำให้ระดับของตัวกระตุ้นการเจริญเติบโตที่มีโครงสร้างคล้ายอินซูลิน (Insulin-like growth factor 1) มีค่าสูงเช่นกัน
ระดับโกรทฮอร์โมนสูงอาจเกิดจากโรคเบาหวาน โรคไต หรือความอดอยาก แต่ภาวะเหล่านี้ไม่ทำให้ระดับตัวกระตุ้นการเจริญเติบโตที่มีโครงสร้างคล้ายอินซูลินสูงขึ้น
ค่าต่ำ
โกรทฮอร์โมนในระดับต่ำอาจแสดงถึง
- ภาวะขาดโกรทฮอร์โมน หมายถึงภาวะต่อมใต้สมองทำงานต่ำ (ต่อมใต้สมองทำงานได้น้อย)
ค่าปกติสำหรับการตรวจโกรทฮอร์โมน อาจมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับห้องปฏิบัติการและโรงพยาบาล หากมีคำถามใดๆ เกี่ยวกับผลการตรวจ โปรดปรึกษาแพทย์
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]