backup og meta

มีรสโลหะในปาก อีกหนึ่งสัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพ ที่คุณไม่ควรละเลย

มีรสโลหะในปาก อีกหนึ่งสัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพ ที่คุณไม่ควรละเลย

เคยไหม? แปรงฟันก็แล้ว บ้วนปากก็แล้ว ยังรู้สึก มีรสโลหะในปาก อยู่ตลอดเวลา ปัญหานี้ นอกจากจะทำให้คุณรำคาญแล้ว ยังทำให้สูญเสียความมั่นใจได้ด้วย การมีรสโลหะในปากนี้ จัดเป็นโรคเกี่ยวกับการรับรส (Taste disorder) ประเภทหนึ่ง ที่มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า การรู้รสผิดธรรมดา (Parageusia) หรือการรับรสเปลี่ยนแปลงไปไม่ตรงกับความเป็นจริง (Dysgeusia) ส่วนใหญ่แล้ว ภาวะนี้จะไม่ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรง แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ควรหาสาเหตุให้พบ จะได้รับมือได้อย่างถูกวิธี ว่าแต่สาเหตุของภาวะมีรสโลหะในปาก จะมีอะไรบ้าง แล้วเราจะรับมือกับภาวะนี้ได้อย่างไร Hello คุณหมอ นำบทความนี้มาให้คำตอบแล้ว

[embed-health-tool-bmi]

สาเหตุที่อาจทำให้คุณ มีรสโลหะในปาก

ปัญหาสุขภาพช่องปาก

หากคุณมีปัญหาสุขภาพในช่องปาก เช่น โรคเหงือกอักเสบ (Gingivitis) โรคปริทันต์อักเสบ (Periodontitis) ฟันติดเชื้อ ก็อาจทำให้เกิดกลิ่นปาก รวมถึงรสชาติแย่ในปากได้ เช่น รสชาติโลหะ ดังนั้น คุณจึงควรดูแลสุขภาพช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ ด้วยการแปรงฟันและลิ้นอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ โรคเหงือกและฟันที่เป็นสาเหตุทำให้มีรสโลหะในปากจะได้ไม่ถามหา

และหากคุณพบว่าสุขภาพช่องปากผิดปกติ ก็ควรรีบเข้าพบทันตแพทย์ทันที แพทย์จะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที เพราะปัญหาสุขภาพปากและฟันบางอย่าง เช่น การติดเชื้อที่ฟัน หากปล่อยไว้ อาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้

การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไซนัสอักเสบ อาจทำให้รสชาติในปากของคุณเปลี่ยนแปลงไปได้ และหากรสชาติโลหะในปากที่เกิดขึ้นมาจากการติดเชื้อที่เรายกตัวอย่างไปนี้ ก็อาจทำให้คุณมีอาการน้ำมูกไหล เจ็บคอ ไอ ได้ด้วย

หากทางเดินหายใจติดเชื้อ คุณควรพักผ่อนให้มาก ๆ ดื่มน้ำให้เยอะ ๆ และอาจกินยาแก้ปวดด้วยก็ได้ เมื่ออาการติดเชื้อเริ่มดีขึ้นแล้ว รสโลหะในปากของคุณก็จะหายไป แต่หากดูแลตัวเองด้วยวิธีการดังกล่าวแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้นหรือกลับแย่ลง โปรดเข้าพบคุณหมอทันที

การใช้ยาบางชนิด

การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาโรคหัวใจ ยารักษาเกาต์ ยาต้านซึมเศร้า (เช่น ลิเทียม) อาจทำให้มีรสโลหะในปากได้ หากคุณใช้ยาชนิดใดอยู่แล้วพบว่า มีรสชาติโลหะในปาก แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ และห้ามหยุดยาเองเด็ดขาด

การบริโภควิตามินและอาหารเสริม

วิตามินและอาหารเสริมบางชนิด เช่น วิตามินเตรียมตั้งครรภ์ อาหารเสริมธาตุเหล็ก อาหารเสริมแคลเซียม รวมถึงวิตามินรวมที่มีสังกะสี ทองแดง หรือโครเมียม หรือแม้แต่ยาอมแก้ไอหรือแก้เจ็บคอที่มีสังกะสีเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้เกิดรสโลหะในปากได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว หากคุณหยุดบริโภควิตามินและอาหารเสริมดังกล่าว ก็จะช่วยให้รสโลหะในปากหายไปได้

อาการอาหารไม่ย่อย

อาการแสบร้อนกลางอก กรดไหลย้อน อาหารไม่ย่อย หรือท้องอืดท้องเฟ้อ ก็สามารถทำให้เกิดรสชาติโลหะในปากได้เช่นกัน แต่คุณก็สามารถบรรเทาอาการเหล่านี้ได้ด้วยการกินอาหารแต่พอดี กินอาหารเย็นให้เร็วขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารมื้อดึก ใช้ยาลดกรด เป็นต้น วิธีเหล่านี้นอกจากจะช่วยให้ปัญหาเกี่ยวกับการย่อยอาหารดีขึ้นแล้ว ยังช่วยลดการเกิดรสโลหะในปากได้ด้วย

แต่หากลองวิธีดังกล่าวแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น หรือคุณรู้สึกเจ็บปวดรุนแรง ควรรีบพบคุณหมอทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงกว่า

การรักษามะเร็ง

ภาวะมีรสโลหะในปาก เป็นผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยในผู้ที่กำลังรักษามะเร็งด้วยวิธีเคมีบำบัด และรังสีบำบัด หรือการฉายรังสี แต่หากคุณพบว่า อาการรุนแรงผิดปกติ ควรแจ้งให้คุณหมอทราบทันที

การตั้งครรภ์

ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์บางท่านอาจประสบปัญหาการรับรสเปลี่ยนแปลงไป เช่น ทำให้เกิดรสชาติโลหะในปาก ปัญหานี้สามารถพบได้ทั่วไปในคุณแม่ตั้งครรภ์ แต่หากคุณรู้สึกว่า คุณมีรสโลหะในปากรุนแรง จนส่งผลให้ไม่อยากอาหาร หรือมีอาการอื่น ๆ ควรรีบปรึกษาคุณหมอทันที เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ด้วย

การสัมผัสสารเคมี

หากคุณสูดดม หรือสัมผัสกับสารปรอท หรือสารตะกั่วมากเกินไป หรือได้รับติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ก็อาจทำให้เกิดรสโลหะในปากได้เช่นกัน

วิธีบรรเทา รสชาติโลหะในปาก ด้วยตัวเอง

เมื่อมีรสโลหะในปาก ย่อมทำให้คุณรู้สึกรำคาญ และอาจส่งผลกระทบต่อการรับประทานอาหาร คือ ทำให้รู้สึกว่าอาหารไม่อร่อย จนในที่สุดกินอาหารได้น้อยลง และขาดสารอาหารได้ เราเลยมีวิธีบรรเทารสชาติโลหะในปากที่คุณสามารถทำเองได้มาฝาก ดังนี้

  • รับประทานหรือจิบน้ำผลไม้ที่ทำจากผลไม้รสเปรี้ยว หรือผลไม้ตระกูลส้ม เช่น ส้ม มะนาว เลมอน
  • อมลูกอมรสมะนาว หรือรสเลมอนก่อนรับประทานอาหาร
  • ไม่ใช้เครื่องครัว หรือเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เช่น จาน ชาม ช้อน ส้อมที่ทำจากโลหะ
  • ดื่มชาสมุนไพร
  • รับประทานโยเกิร์ต
  • ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อให้ร่างกายชุ่มชื้นอยู่เสมอ
  • แปรงฟันและลิ้นก่อนรับประทานอาหาร
  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ น้ำผสมเบกกิ้งโซดา หรือน้ำยาบ้วนปากที่ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ก่อนรับประทานอาหาร

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

โดยปกติแล้ว รสชาติโลหะในปาก จะดีขึ้น หรือหายไปเมื่อคุณรักษาอาการที่เป็นต้นเหตุแล้ว แต่หากภาวะมีรสโลหะในปากที่เกิดขึ้นยังไม่ดีขึ้น หรือแย่ลง คุณควรรีบพบคุณหมอทันที เพราะการรับรสที่ผิดเพี้ยนนี้ หากปล่อยไว้นานวัน อาจส่งผลให้คุณรับประทานอาหารน้อยลงหรือมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา หรือทำให้ปัญหาสุขภาพที่มีอยู่แย่ลงได้ โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคหัวใจ

ยิ่งหากคุณรู้สึกว่ามีรสโลหะในปากร่วมกับมีอาการเหนื่อยล้าด้วย ยิ่งต้องรีบไปพบคุณหมอทันที เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ อาจเป็นเพราะคุณมีปัญหาสุขภาพร้ายแรง เช่น ไตวาย โรคในระบบประสาทส่วนกลาง (เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก หรือ Bell’s Palsy)

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Metallic Taste in the Mouth: Symptoms & Signs. https://www.medicinenet.com/metallic_taste_in_the_mouth/symptoms.htm. Accessed August 30, 2020

Metallic Taste in Your Mouth: Common Causes. https://www.webmd.com/oral-health/metallic-taste-mouth#1. Accessed August 30, 2020

What Causes a Metallic Taste in My Mouth?. https://www.healthline.com/health/metallic-taste-in-mouth#see-a-healthcare-professional. Accessed August 30, 2020

8 Possible Causes for That Metallic Taste in Your Mouth. https://health.clevelandclinic.org/8-possible-causes-for-that-metallic-taste-in-your-mouth/. Accessed August 30, 2020

Metallic taste. https://www.nhs.uk/conditions/metallic-taste/. Accessed August 30, 2020

What causes a metallic taste and fatigue?. https://www.medicalnewstoday.com/articles/metallic-taste-in-mouth-and-fatigue. Accessed August 30, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/10/2024

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

สูญเสียประสาทรับรสและดมกลิ่น อาจเป็นสัญญาณเตือนของ โรคโควิด-19

ต่อมรับรสเปลี่ยน สาเหตุเหล่านี้อาจกำลังทำให้การรับรสอาหารเปลี่ยนไป


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 01/10/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา