ด้วยการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งของวงการวิทยาศาสตร์ ทำให้ ณ ปัจจุบันเราจึงได้ทราบข้อมูลมากมายจากการทดลอง การศึกษา หรือข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ช่วยนำมาคลายข้อสงสัยภายในใจให้เราได้เป็นอย่างดี ซึ่งบทความของ Hello คุณหมอวันนี้ ก็ได้มีอีกหนึ่งข่าวสารใหม่เกี่ยวกับ การว่ายน้ำของอสุจิ ที่ถูกเข้าใจแบบผิด ๆ มาเป็นเวลานาน มาอัพเดตใหม่ ให้ทุกคนได้ทราบ และทำความเข้าใหม่กันอย่างทั่วถึงมาฝากค่ะ
ความเชื่อเกี่ยวกับ การว่ายน้ำของอสุจิ เป็นอย่างไร
ตลอดหลายปีที่ผ่านมาตั้งแต่ในช่วง ค.ศ.1677 ได้มีนักวิทยาศาสตร์ชาวดัตช์ท่านหนึ่ง ชื่อว่า อันโทนี ฟาน เลเวนฮูก (Antonie Van Leeuwenhoek) ที่เป็นผู้ทดสอบคนแรกโดยการใช้กล้องจุลทรรศน์ที่เขาได้ประดิษฐ์ขึ้นมาส่องไปยังอสุจิของตนแล้วพบว่า อสุจินั้นนอกจากจะมีหน้าตาที่คล้ายคลึงกับลูกอ๊อดแล้ว ยังมีการเคลื่อนตัว หรือการแหวกว่ายสะบัดหางไปมาคล้ายกันกับงู และปลาไหลอีกด้วย
จากการค้นคว้าล่าสุด มีการค้นพบครั้งใหม่เกี่ยวกับ การว่ายน้ำของอสุจิ
เมื่อไม่นานมานี้ด้วยความก้าวไกลทางเทคโนโลยีของทางวิทยาศาสตร์ Dr. Hermes Gadelha จากมหาวิทยาลัยบริสทอล Dr. Gabriel Corkidi และ Dr. Alberto Darszon จากมหาวิทยาลัยเสรีแห่งชาติในประเทศเม็กซิโก จึงได้ทำการร่วมมือกันเพื่อค้นคว้าถึงข้อเท็จจริงนี้ โดยการนำกล้องจุลทรรศน์ 3 มิติ ที่มีการตรวจจับด้วยความเร็วสูงทำให้เราออกมาพบบางอย่างเกี่ยวกับการว่ายน้ำของอสุจิใหม่ว่า..
เนื่องจากการหมุนตัวของอสุจิค่อนข้างมีความเร็วสูง เมื่อใช้กล้องจุลทรรศน์ 2 มิติ ส่องจึงทำให้เหมือนกับว่าหางของมันสะบัดไปทางด้านซ้าย และด้านขวาคล้ายงู ซึ่งบางครั้งการเคลื่อนตัวเช่นนี้อาจทำให้อัตราหรือสมมาตรของการเคลื่อนที่ไม่เท่ากัน ทำให้อสุจิแทนที่จะเคลื่อนตัวไปด้านหน้ากลับว่ายวนเป็นวงกลมไม่สามารถเคลื่อนที่ไปไหนได้แทน
แต่เมื่อถูกเจาะลึกยิ่งขึ้นด้วยกล้อง 3 มิติ จะเห็นได้ว่า จังหวะการเคลื่อนไหวที่แท้จริงของอสุจิมีความคล้ายกับตัวนากเสียมากกว่า โดยเป็นการแหวกว่ายด้วยการใช้เทคนิคหมุนตัวควงสว่าน ร่วมกับการสะบัดหาง ซึ่งจะทำให้สมมาตรมีความเท่ากัน และเคลื่อนที่ไปด้านหน้าได้อย่างง่ายดายขึ้น นับว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ออกมาเผยให้ผู้คนได้ทราบ และทำความเข้าใจเสียใหม่ในรอบหลายร้อยปีที่ผ่านมา
การว่ายน้ำของอสุจิและความเชื่อมโยงกับผู้ที่มีภาวะมีบุตรยาก
นอกจากนี้ผลลัพธ์ดังกล่าวที่นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นหาเพื่อพิสูจน์ความจริงแล้ว ยังสามารถเป็นตัวบ่งชี้ในการทดลองที่เชื่อมโยงกับผู้ที่ตกอยู่ในภาวะมีบุตรยากได้อีกด้วย ซึ่งทีมวิจัยได้ทำการตั้งข้อสงสัยเอาไว้ว่าผู้ที่มีลูกยากอาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเคลื่อนตัวของอสุจิมีความผิดปกติร่วม แต่ถึงอย่างไรทีมวิจัยยังคงจำเป็นต้องใช้เวลาพอสมควรในการทดสอบหาคำตอบถึงประเด็นนี้ เพื่อที่จะนำไปแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดแก่ผู้ที่มีบุตรยากในอนาคต
[embed-health-tool-bmi]