backup og meta

แบ่งปัน

หรือ คัดลอกลิงก์

ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ (Thyroid Disorder)

ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ (Thyroid Disorder)

คำจำกัดความ

ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์คืออะไร

ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ (thyroid disorder) เป็นอาการที่ส่งผลต่อต่อมไทรอยด์ ต่อมที่มีรูปร่างคล้ายผีเสื้อ และอยู่ด้านหน้าของคอ ต่อมไทรอยด์มีบทบาทสำคัญในการควบคุมระบบเผาผลาญหลายระบบทั่วทั้งร่างกาย ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์แต่ละชนิด ล้วนส่งผลต่อโครงสร้าง หรือการทำงานของต่อมไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์อยู่ใต้ลูกกระเดือกโอบอยู่รอบๆ หลอดลม เนื้อเยื่อบางๆ ที่กลางต่อมเรียกว่าคอคอด (isthmus) เชื่อมกลีบของต่อมไทรอยด์ในแต่ละด้าน ต่อมไทรอยด์ใช้ไอโอดีนเพื่อสร้างฮอร์โมนที่สำคัญ ฮอร์โมนไทรอกซิน (Thyroxine หรือ T4) เป็นฮอร์โมนหลักที่ผลิตโดยต่อมนี้ หลังจากร่างกายลำเลียงฮอร์โมนไทรอกซินผ่านกระแสเลือดไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ฮอร์โมนไทรอกซินส่วนเล็กๆ ที่ออกมาจากต่อมไทรอยด์ จะเปลี่ยนเป็นฮอร์โมนไทรไอโอโดไทโรนีน (triiodothyronine หรือ T3) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์มากที่สุด

การทำงานของต่อมไทรอยด์ถูกควบคุมโดยการตอบสนองของกลไกที่เกี่ยวข้องกับสมอง เมื่อระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ ต่อมไฮโพทาลามัส (hypothalamus) ในสมอง จะผลิตฮอร์โมนที่เรียกว่าฮอร์โมนสำหรับปล่อยไทโรโทรปิน (thyrotropin releasing hormone หรือ TRH) ที่ทำให้ต่อมใต้สมอง (ตั้งอยู่ที่ส่วนฐานของสมอง) ปล่อยฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (thyroid stimulating hormone หรือ TSH) ฮอร์โมนดังกล่าวจะกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ปล่อยฮอร์โมนไทรอกซินเพิ่มขึ้น

เนื่องจากต่อมไทรอยด์ถูกควบคุมโดยต่อมใต้สมอง และต่อมไฮโพทาลามัส ความผิดปกติของเนื้อเยื่อเหล่านี้ อาจส่งผลต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ และทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติได้เช่นกัน

ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ประเภทต่างๆ ได้แก่

  • ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism)
  • ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism)
  • โรคคอพอก
  • ก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์
  • มะเร็งต่อมไทรอยด์

ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน

ปรึกษาแพทย์เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของความผิดปกติของต่อมไทรอยด์

ภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ได้แก่

  • เหนื่อยล้า
  • ไม่ค่อยมีสมาธิ หรือรู้สึกสมองมึนงง
  • ผิวแห้ง
  • ท้องผูก
  • รู้สึกหนาว
  • บวมน้ำ
  • ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ
  • ซึมเศร้า
  • ประจำเดือนมามาก หรือนานเกินไปในผู้หญิง

ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ได้แก่

  • ตัวสั่น
  • วิตกกังวล
  • หัวใจเต้นแรง
  • เหนื่อยล้า
  • ทนความร้อนไม่ได้
  • ขับถ่ายเพิ่มขึ้น
  • เหงื่อออกมากขึ้น
  • มีปัญหาในการตั้งสมาธิ
  • น้ำหนักลดอย่างไม่ได้ตั้งใจ

ก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์

ก้อนเนื้อดังกล่าวเป็นก้อนเนื้อนูนหรือผิดปกติภายในต่อมไทรอยด์ ก้อนเนื้อดังกล่าวอาจมีเพียงก้อนเดียวหรือหลายก้อน รวมถึงอาจมีขนาดต่างกัน หากก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ผิดปกติ อาจทำให้เกิดอาการโรคที่สัมพันธ์กับการกดทับโครงสร้างอวัยวะบริเวณใกล้เคียง

อาจมีอาการหรือสัญญาณอื่นที่ไม่ได้กล่าวถึง หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับสัญญาณเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อไหร่ที่ฉันควรจะไปโรงพยาบาล

หากคุณมีอาการหรือสัญญาณใดๆ ตามที่กล่าวไปข้างต้นหรือมีคำถาม ควรปรึกษาแพทย์ ร่างกายแต่ละคนตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดคือปรึกษาแพทย์ว่า อะไรเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสถานการณ์ของคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของความผิดปกติของต่อมไทรอยด์

ภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์

ภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ อาจเป็นผลมาจากการที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ไม่เพียงพอ อาการดังกล่าวอาจเกิดจากปัญหาที่ต่อมไทรอยด์ ต่อมใต้สมอง หรือต่อมไฮโพทาลามัสก็ได้

ส่วนภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ใช้อธิบายถึงการที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป ซึ่งเป็นอาการที่หายากกว่าภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ สาเหตุทั่วไปที่อาจทำให้เกิดภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ได้แก่

  • โรคคอพอกตาโปน (Graves’ disease)
  • คอพอกเป็นพิษชนิดมีหลายก้อนเนื้อ (Toxic multinodular goiter)
  • ก้อนเนื้อในต่อมไทรอยด์ที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป (หรือที่เรียกว่าก้อนเนื้อชนิด “ร้อน’)
  • ได้รับไอโอดีนมากเกินไป

โรคคอพอก

โรคคอพอกเป็นโรคที่ไม่ได้จำเพาะโดยตรง โรคคอพอกอาจสัมพันธ์กับภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน หรือการทำงานที่ผิดปกติของต่อมไทรอยด์

ก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์

ก้อนเนื้อเป็นก้อนเนื้อทั่วไป หรือก้อนเนื้อผิดปกติภายในต่อมไทรอยด์ ก้อนเนื้อดังกล่าวอาจเกิดจากเนื้องอกชนิดถุงน้ำ (benign cysts) เนื้องอกที่ไม่ร้ายแรง หรือที่พบได้น้อยคือเกิดจากมะเร็งต่อมไทรอยด์

มะเร็งต่อมไทรอยด์

มะเร็งต่อมไทรอยด์เป็นโรคที่พบได้ทั่วไปในผู้หญิง มากกว่าผู้ชายหรือเด็ก ประมาณ 2 ใน 3 ของกรณีที่เกิดขึ้นในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 55 ปี มะเร็งต่อมไทรอยด์มีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับประเภทของเซลล์ภายในต่อมไทรอยด์ ซึ่งกลายเป็นเซลล์มะเร็ง กรณีส่วนมากของมะเร็งต่อมไทรอยด์จะมีอัตราการรอดชีวิตสูง โดยเฉพาะเมื่อตรวจพบตั้งแต่ในระยะแรก

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของความผิดปกติของต่อมไทรอยด์

โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยความผิดปกติของต่อมไทรอยด์

นอกเหนือจากการซักประวัติอย่างละเอียด และการตรวจร่างกาย แพทย์จะใช้การตรวจพิเศษเพื่อวินิจฉัยความผิดปกติของต่อมไทรอยด์

การตรวจเลือดมักจะทำเพื่อวัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์ และฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ แพทย์อาจจะตรวจเลือดเพื่อระบุแอนติบอดีที่ต้านเนื้อเยื่อในต่อมไทรอยด์ เช่น การวัดความเข้มข้นของแอนติบอดีต้านไทโรโกลบุลิน (anti-thyroglobulin) แอนติบอดีไทโรเพรอกซิเดส (anti-thyroperoxidase) หรือแอนติบอดีกระตุ้นตัวรับฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (TSH receptor stimulating antibodies)

การตรวจด้วยเทคนิคการสร้างภาพ (Imaging test) มักจะใช้เมื่อเห็นก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์ หรือต่อมไทรอยด์มีขนาดใหญ่ผิดปกติ การอัลตราซาวนด์อาจช่วยให้เห็นลักษณะของเนื้อเยื่อภายในต่อม และมักจะทำให้เห็นถุงน้ำ หรือการเกาะของหินปูน แต่การตรวจด้วยอัลตราซาวด์ไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างก้อนเนื้อที่ไม่รุนแรงกับก้อนเนื้อที่รุนแรงได้

การตรวจต่อมไทรอยด์โดยใช้ไอโอดีนกัมมันตรังสี มักจะใช้เพื่อประเมินการทำงานของก้อนเนื้อในต่อมไทรอยด์ ต่อมไทรอยด์เป็นอวัยวะเดียวที่ดูดซึมไอโอดีน ดังนั้น เมื่อร่างกายได้รับไอโอดีนกัมมันตรังสี ต่อมไทรอยด์จะดูดซึมสารนั้นไว้ การตรวจด้วยเทคนิคการสร้างภาพจะแสดงให้เห็นถึงการดูดซึมไอโอดีนกัมมันตรังสีของเนื้อเยื่อต่อมไทรอยด์ที่เป็นปกติ บริเวณหรือก้อนเนื้อที่ผลิตฮอร์โมนมากเกินไป (hyperfunctioning) จะแสดงให้เห็นถึงการรับไอโอดีนเพิ่มขึ้น ก้อนเนื้อเหล่านี้จะถูกเรียกว่าก้อนเนื้อหรือบริเวณ “ร้อน’ ในทางตรงข้าม ก้อนเนื้อ “เย็น’ จะเป็นบริเวณที่รับไอโอดีนได้ลดลง ก้อนเนื้อ “เย็น’ ไม่ได้ผลิตฮอร์โมนส่วนเกิน และบางครั้งก็แสดงถึงอาการของโรคมะเร็ง

การเจาะดูดชิ้นเนื้อด้วยเข็มขนาดเล็ก และการตัดชิ้นเนื้อ (biopsy) เป็นวิธีที่ผ่าเอาตัวอย่างของเซลล์หรือเนื้อเยื่อของต่อมไทรอยด์ เพื่อตรวจและวินิจฉัยโดยนักพยาธิวิทยา ซึ่งเป็นแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝนด้านการวินิจฉัยอาการ โดยใช้ตัวอย่างของเนื้อเยื่อ การเจาะดูดชิ้นเนื้อด้วยเข็มขนาดเล็กจะใช้เข็มยาวบางเพื่อดูดตัวอย่างเซลล์จากต่อมไทรอยด์ วิธีดังกล่าวอาจทำในโรงพยาบาล บางครั้งใช้วิธีอัลตราซาวด์เพื่อเป็นแนวทางในการเจาะดูดชิ้นเนื้อ การตัดชิ้นเนื้อเป็นการผ่าตัด เพื่อดูตัวอย่างของเนื้อเยื่อ

การรักษาความผิดปกติของต่อมไทรอยด์

ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์อาจรักษาได้ด้วยยา หรือในบางกรณีจะใช้การผ่าตัด การรักษาขึ้นอยู่กับชนิดของโรคที่ต่อมไทรอยด์

ยาเพื่อรักษาต่อมไทรอยด์

อาจใช้ยาเพื่อแทนที่ฮอร์โมนไทรอยด์ที่พร่องไป ในภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ โดยจะมีการให้ฮอร์โมนไทรอยด์สังเคราะห์ในรูปของยาเม็ดสำหรับรับประทาน เมื่อมีอาการของภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน อาจใช้ยาเพื่อลดการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ หรือป้องกันไม่ให้ต่อมไทรอยด์ปล่อยฮอร์โมน อาจใช้ยาชนิดอื่นเพื่อช่วยจัดการอาการของภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน เช่น ยาที่เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ หากยาไม่สามารถควบคุมภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินได้ อาจใช้การผ่าตัดด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (radioactive ablation) การผ่าตัดอาจรวมถึงการให้ขนาดยาไอโอดีกัมมันตรังสี ที่จะทำลายเนื้อเยื่อต่อมไทรอยด์เฉพาะจุด

การผ่าตัดต่อมไทรอยด์

การผ่าตัดเพื่อผ่าคอพอกที่มีขนาดใหญ่ หรือก้อนเนื้อในต่อมไทรอยด์ที่ทำงานมากเกินไปออก การผ่าตัดเป็นเรื่องจำเป็นหากผู้ป่วยมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ หากต่อมไทรอยด์ถูกผ่าออกหมด ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนไทรอยด์สังเคราะห์ตลอดชีวิต การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ยังใช้ในผู้ป่วยโรคคอพอกตาโปน (การตัดต่อมไทรอยด์ออกเกือบหมด) และเป็นการรักษาที่เป็นทางเลือกก่อนใช้ไอโอดีนกัมมันตรังสี และยารักษาไทรอยด์ ปัจจุบันไม่ค่อยได้ใช้วิธีผ่าตัดกันแล้ว

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองต่อไปนี้ อาจช่วยให้คุณจัดการกับโรคนี้ได้

  • รับประทานอาหารที่ดีเพื่อเพิ่มพลังงาน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเผชิญกับความง่วงช่วงกลางวัน และความเหนื่อยล้าที่สัมพันธ์กับภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ รับประทานอาหารมื้อเล็กๆ ที่มีสารอาหารมากตลอดทั้งวัน จะช่วยเร่งการทำงานของร่างกาย
  • การออกกำลังกายดูจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่คุณอยากทำ เมื่อมีความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ที่ทำให้คุณเชื่องช้าลง แต่การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยเพิ่มพลัง ลดน้ำหนัก และลดความเครียด
  • ความเครียดอาจทำให้ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์แย่ลง แต่การใช้ขั้นตอนเพื่อจัดการกับความเครียดจะช่วยได้ อย่างเช่น โยคะ ทำสมาธิ หายใจลึกๆ หรือแค่ออกไปฟังดนตรีนอกบ้าน ก็อาจช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลได้แล้ว
  • นอนให้เพียงพอ เพื่อช่วยลดอาการเหนื่อยล้าระหว่างวัน ตั้งเวลาตื่นนอน รวมถึงทำตามแผนดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ทำให้อุณหภูมิห้องนอนเย็น หนาว หรือเหมือนในถ้ำตลอด และหลีกเลี่ยงคาเฟอีนหลังบ่ายสอง
  • ทำทุกอย่างเพื่อให้สุขภาพของคุณแข็งแรง รวมถึงการไปพบแพทย์เป็นประจำ และตรวจสุขภาพ เช่นเดียวกับการล้างมือก่อนและหลังรับประทานอาหาร เตรียมอาหาร รวมถึงดูแลผู้ป่วยรายอื่น

หากคุณมีคำถามเพิ่มเติม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Thyroid Disorders. https://www.medicinenet.com/thyroid_disorders/article.htm. Accessed November 7, 2017.

Understanding Thyroid Problems — the Basics. https://www.webmd.com/women/guide/understanding-thyroid-problems-basics#1. Accessed November 7, 2017.

5 Easy Lifestyle Changes For Living Better With Hypothyroidism. https://healthguides.healthgrades.com/tuning-up-an-underactive-thyroid/5-easy-lifestyle-changes-for-living-better-with-hypothyroidism. Accessed November 7, 2017.

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/08/2019

เขียนโดย จิดาภา ติยะสิริทานนท์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Chayawee Limthavornrak

avatar

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย จิดาภา ติยะสิริทานนท์ · แก้ไขล่าสุด 28/08/2019

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา