backup og meta

ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับน้ำมะพร้าว ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้

ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับน้ำมะพร้าว ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้

น้ำมะพร้าวนั้นเป็นหนึ่งในน้ำผลไม้ที่ได้รับความนิยมกันอย่างมากในประเทศไทย เพราะมีรสชาติหวาน อร่อย ดื่มแล้วสดชื่น แถมยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย แต่ก็ยังมีหลายๆ คนที่อาจจะมีความเข้าใจผิด หรือความเชื่อบางอย่างเกี่ยวกับการรับประทานน้ำมะพร้าว ที่อาจจะเคยได้ยินผู้ใหญ่เล่าขานบอกต่อกันมา วันนี้ Hello คุณหมอ จะมาช่วยแก้ไข ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับน้ำมะพร้าว ที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้กันค่ะ

ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับน้ำมะพร้าว ที่ควรรู้

ความเชื่อที่ 1 ห้ามดื่มน้ำมะพร้าวขณะมีประจำเดือน

สาวๆ หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำเตือนกันมาบ้างว่า ถ้ามีประจำเดือน ห้ามดื่มน้ำมะพร้าวเด็ดขาด เพราะแสลงกับคนที่มีประจำเดือน และจะทำให้ปวดท้อง จริงๆ แล้วการดื่มน้ำน้ำมะพร้าวขณะมีประจำเดือน นั้นก็ไม่แตกต่างจากการดื่มน้ำหวานอื่นๆ แต่อย่างใด เรายังสามารถดื่มน้ำมะพร้าวได้ตามปกติ แม้ว่าจะมีประจำเดือน โดยไม่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่อประจำเดือน หรือทำให้ปวดท้องอย่างที่เราเชื่อกัน

แต่อย่างไรก็ตาม บางคนอาจจะมีอาการแพ้น้ำมะพร้าวได้ หากคุณสังเกตพบว่าคุณมีอาการแพ้หลังจากดื่มน้ำมะพร้าว เช่น รู้สึกคัน มีผดผื่น หรือมีอาการบวม ควรหยุดรับประทานน้ำมะพร้าว และเข้ารับการตรวจโรคภูมิแพ้ก่อนจะดีกว่า

ความเชื่อที่ 2 หลังออกกำลังกาย ควรดื่มน้ำมะพร้าวจะดีที่สุด

บางคนเชื่อว่า การดื่มมะพร้าวหลังออกกำลังกาย จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ในการเติมน้ำและแร่ธาตุต่างๆ ที่ร่างกายสูญเสียไปทางเหงื่อให้กลับคืนมา ในความเป็นจริงนั้น การดื่มน้ำมะพร้าวหลังออกกำลังกาย ไม่ได้มีประโยชน์มากไปกว่าการดื่มน้ำเปล่าตามปกติสักเท่าไหร่

ยิ่งโดยเฉพาะหากคุณออกกำลังกายและสูญเสียเหงื่อมาก น้ำมะพร้าวที่ไม่ได้เติมน้ำตาล อาจจะมีแคลอรี่น้อยเกินกว่าที่จะทดแทนแร่ธาตุและพลังงานที่ขาดหายไป หากคุณออกกำลังกายและเสียเหงื่อมาก การดื่มสปอตดริ๊งค์ที่ให้มีน้ำตาลและให้พลังงานสูง อาจจะเหมาะสมกว่าการดื่มน้ำมะพร้าว

ความเชื่อที่ 3 ดื่มน้ำมะพร้าวตอนท้อง ลูกจะมีผิวขาว

ผู้เฒ่าผู้แก่บางคนอาจจะแนะนำให้คนท้องดื่มน้ำมะพร้าวมากๆ เพราะมีความเชื่อว่าจะทำให้ลูกที่คลอดออกมามีผิวขาว และยังช่วยล้างไขตามตัวเมื่อแรกเกิด แต่จริงๆ แล้วการดื่มน้ำมะพร้าวไม่ได้มีผลอะไรต่อสีผิวของลูก หรือปริมาณไขของทารกในครรภ์เลยแม้แต่น้อย ลูกของคุณจะมีผิวขาวหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ของพ่อและแม่เด็กต่างหาก

ความเชื่อที่ 4 ดื่มน้ำมะพร้าวตอนท้อง จะทำให้แท้งลูก

เนื่องจากในน้ำมะพร้าวนั้นจะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่ด้วย ซึ่งอาจส่งผลต่อการหดตัวของมดลูกได้ ทำให้หลายคนเกิดความกังวลว่า หากดื่มน้ำมะพร้าวขณะตั้งครรภ์ อาจทำให้แท้งบุตรได้ ในความจริงนั้นได้มีการพิสูจน์ออกมาแล้วว่า แม้ว่าในน้ำมะพร้าวนั้นอาจจะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่จริง แต่ก็มีในปริมาณที่น้อยมาก และแทบจะไม่ส่งผลต่อการตั้งครรภ์ หรือการหดตัวของมดลูกเลย ดังนั้นการดื่มน้ำมะพร้าวขณะตั้งครรภ์จึงไม่ทำให้แท้งบุตรแต่อย่างใด

ความเชื่อที่ 5 ดื่มน้ำมะพร้าวช่วยเร่งระบบการเผาผลาญได้

บางคนอาจจะเคยได้ยินมาว่า การดื่มน้ำมะพร้าวจะช่วยเร่งการทำงานของระบบการเผาผลาญได้ และช่วยให้เรากำจัดแคลอรี่ส่วนเกินได้เร็วขึ้น จริงๆ แล้วในขณะที่ร่างกายของเราขาดน้ำ ระบบการเผาผลาญนั้นจะถูกชะลอตัวลง และเมื่อเราดื่มน้ำอะไรก็ตามลงไป ก็จะช่วยเร่งการทำงานของระบบการเผาผลาญนั้นขึ้นมาได้ชั่วคราว โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นน้ำมะพร้าวเท่านั้น

หลังจากที่ทุกคนได้รู้จักกับความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับน้ำมะพร้าวแล้ว ก็อย่าลืมว่าการดื่มน้ำมะพร้าวนั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพจริงๆ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่มีแคลอรี่ต่ำ แต่มีรสหวานสดชื่น นับได้ว่าเป็นเครื่องดื่มทางเลือกสำหรับผู้ที่รักสุขภาพกันเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าควรบริโภคน้ำมะพร้าวในปริมาณที่พอเหมาะ และรับประทานอาหารที่หลากหลาย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนกันด้วยนะคะ

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Coconut Water – Is It What Its Cracked Up to Be https://www.eatright.org/food/nutrition/healthy-eating/coconut-water-is-it-what-its-cracked-up-to-be

มะพร้าว สรรพคุณและประโยชน์ของมะพร้าว น้ำมะพร้าว 81 ข้อ ! https://medthai.com/%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7/

The Truth About Coconut Water https://www.webmd.com/food-recipes/features/truth-about-coconut-water#1

เวอร์ชันปัจจุบัน

08/02/2021

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Billy Tran


บทความที่เกี่ยวข้อง

น้ำตาลมะพร้าว ดีต่อสุขภาพไหม แตกต่างจากน้ำตาลชนิดอื่นอย่างไร

กะทิ ประโยชน์ต่อร่างกาย และผลข้างเคียง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 08/02/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา