หลายคนอาจพอทราบกันมาบ้างแล้วว่า ดีเอ็นเอในเซลล์ของเรานั้นส่งผลให้เราแต่ละคนแตกต่างกัน และสามารถบอกได้ด้วยว่าเราใกล้ชิดกับมนุษย์คนใดมากแค่ไหน แต่ไม่ใช่แค่กับมนุษย์ด้วยกันเองเท่านั้น เพราะความจริงแล้ว มนุษย์กับชิมแปนซีก็มีดีเอ็นเอใกล้เคียงกันมากถึงเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว แล้วหากเป็นเช่นนั้น ทำไม?…มนุษย์กับชิมแปนซี ถึงมีลักษณะทางกายภาพและพฤติกรรมแตกต่างกันมากขนาดนี้ เราลองไปหาคำตอบในบทความจาก Hello คุณหมอ กันเลย
มนุษย์กับชิมแปนซี… ความเหมือนที่แตกต่าง
ลิงชิมแปนซีและมนุษย์ ต่างก็จัดเป็นสัตว์ตระกูลไพรเมต (primate family) ซึ่งเป็นกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่มีพัฒนาการทางสติปัญญาและความสามารถสูงสุด มีดวงตามองตรงไปข้างหน้า (forward facing eyes) มีมือและเท้าสำหรับจับหรือยึดเกาะ
แต่มนุษย์นั้นแตกต่างจากสัตว์ในกลุ่มไพรเมตอื่นๆ ตรงที่มีความสามารถทางสติปัญญาและสมองใหญ่กว่าอย่างเห็นได้ชัด นั่นคือ ใหญ่กว่าถึงประมาณ 3 เท่า นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการเปรียบเทียบดีเอ็นเอของ มุนษย์ ชิมแปนซี และโบโนโบหรือชิมแปนซีแคระ และพบว่า ดีเอ็นเอของมนุษย์กับชิมแปนซีนั้นมีความคล้ายคลึงกันถึง 98.8 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
ที่ดีเอ็นเอของมนุษย์กับชิมแปนซีคล้ายกันมากถึงเพียงนี้ เป็นเพราะมนุษย์กับชิมแปนซีมีสปีชีส์ใกล้กันมาก ทั้งมนุษย์ ชิมแปนซี และโบโนโบต่างก็มาจากบรรพบุรุษเดียวกันที่มีชีวิตอยู่ในโลกเมื่อ 6-7 ล้านปีก่อน จากนั้น มนุษย์และชิมแปนซีก็ค่อยๆวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ รวมถึงดีเอ็นอีที่ส่งต่อกันมารุ่นต่อรุ่นก็เกิดการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเอนี่เองที่ทำให้มนุษย์กับชิมแปนซีมีลักษณะรูปร่างและพฤติกรรมแตกต่างกันเช่นปัจจุบัน
แม้ดีเอ็นเอจะคล้ายคลึงกันถึง 98.8 เปอร์เซ็นต์ แต่เซลล์ของมนุษย์แต่ละคนก็มีดีเอ็นเอเป็นองค์ประกอบมากถึงประมาณ 3,000 ล้านคู่เบส แค่จำนวน 1.2 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมด ก็มีความแตกต่างกันถึงประมาณ 35 ล้านอย่างแล้ว และต่อให้เป็นสายดีเอ็นเอสองสายที่เหมือนกัน ก็อาจทำงานแตกต่างกันได้เช่นกัน
ยีนเหมือนกัน แต่พฤติกรรมก็แตกต่างกันได้
แม้มนุษย์กับชิมแปนซีจะมียีนเหมือนกันจำนวนมาก แต่ยีนของทั้งสองสายพันธุ์ก็มักทำงานแตกต่างกัน การแสดงออกของยีน (Gene Expression) สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดไม่ต่างจากการเปลี่ยนช่องทีวีหรือระดับเสียงเพลงในโทรศัพท์มือถือ จึงไม่แปลกที่ยีนเดียวกันอาจแสดงออกในมนุษย์สูง แต่แสดงออกในชิมแปนซีต่ำ
ยีนตัวเดียวกันจะแสดงออกในสมองส่วนเดียวกัน ทั้งในมนุษย์ ชิมแปนซี และกอริลล่า แต่จำนวนของยีนจะแตกต่างกันไป ความแตกต่างนานัปการนี้ส่งผลต่อพัฒนาการของสมอง และการทำงานของสมอง ทั้งยังทำให้สมองของมนุษย์มีขนาดใหญ่กว่าและฉลาดกว่าไพรเมตอื่นๆ
ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์กับชิมแปนซี
นอกจากดีเอ็นเอจะใกล้เคียงกันมากแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันของชิมแปนซีก็คล้ายคลึงกับของมนุษย์มากเช่นกัน โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในมนุษย์ส่วนใหญ่ เช่น โรคเอดส์ ไวรัสตับอักเสบ สามารถส่งผลกระทบต่อชิมแปนซีได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์และชิมแปนซียังมีความแตกต่างอยู่บ้าง เพราะชิมแปนซีกลับไม่ติดเชื้อไข้มาลาเรีย อย่างพลาสโมเดียม ฟัลซิพารัม (Plasmodium Falciparum) ซึ่งมียุงเป็นพาหะ และสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้เมื่อโดนยุงกัด เนื่องจากความแตกต่างเพียงเล็กน้อยในดีเอ็นเอ ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงของมนุษย์สามารถติดเชื้อนี้ได้ แต่เซลล์เม็ดเลือดแดงของชิมแปนซีกลับทนต่อเชื้อนี้
วิถีชีวิตและพฤติกรรมของมนุษย์กับชิมแปนซี
ความแตกต่างของดีเอ็นเอและยีนส่งผลให้มนุษย์กับชิมแปนซีแตกต่างกันในหลายๆด้าน ทั้งทางด้านพัฒนาการ รูปร่างลักษณะ และพฤติกรรม ยกตัวอย่างเรื่องความแข็งแรง แม้ระบบกล้ามเนื้อของมนุษย์และชิมแปนซีจะคล้ายกันมาก แต่ชิมแปนซีกลับแข็งแรงกว่ามนุษย์สองถึงสามเท่าเลยทีเดียว ต่อให้เราออกกำลังกายเพื่อฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อวันละ 12 ชั่วโมง ก็ยังไม่สามารถแข็งแกร่งได้เท่าชิมแปนซี
เฮิร์บ เทอร์เรซ (Herb Terrace) นักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาด้านพัฒนาการทางพฤติกรรมและสติปัญญาของสัตว์ตระกูลไพรเมตเผยว่า แม้ชิมแปนซีจะเชี่ยวชาญในการอ่านภาษากาย แต่ก็ไม่สามารถเข้าใจจิตใจของอีกฝ่ายได้ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์สุข เศร้า เสียใจ โกรธ เป็นต้น หากไม่มีการแสดงภาษากายออกมา แตกต่างจากมนุษย์เราที่สามารถประเมินและสังเกตอารมณ์ของอีกฝ่ายได้ดีกว่า แม้อีกฝ่ายจะไม่แสดงออกทางกายก็ตาม
แม้ดีเอ็นเอและยีนจะทำให้มนุษย์กับญาติ ที่ใกล้ชิดกับเราที่สุดอย่างชิมแปนซี แตกต่างกันทั้งทางลักษณะทางกายภาพและพฤติกรรม แต่เราก็อยู่ในโลกใบเดียวกัน และในเมื่อมนุษย์ได้ชื่อว่า มีมันสมองมากกว่าและฉลาดกว่าชิมแปนซีหรือสัตว์โลกชนิดอื่นๆเราก็ควรใช้ความรู้ ความสามารถ ที่มีในการพัฒนาเทคโนโลยีและสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่ช่วยพัฒนาสภาพแวดล้อมให้ยังคงสมบูรณ์ เพื่อให้เราและญาติหน้าขนอย่างชิมแปนซี สามารถดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ได้อีกนานแสนนาน
[embed-health-tool-bmi]